กาฬสินธุ์ - ประมงอำเภอกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ยืนยันสายพันธุ์ปลาหมอยักษ์เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างประมงกมลาไสยกับโปโลฟาร์มตั้งแต่ปี 2550 ถือเป็นของดีจังหวัดกาฬสินธุ์ ไม่ใช่สายพันธุ์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพรกล่าวอ้าง เผยปลาหมอยักษ์เป็นสายพันธุ์ที่นิ่ง และได้รับมาตรฐาน Safty Level แล้ว
นางเสาวลักษณ์ ลาภบุญเรือง ประมงอำเภอกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าฟาร์มโปโลของนางนิตยา กัณฑิศักดิ์ เกษตรกรพื้นที่บ้านโปโล อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมวิจัยและทดลองผสมพันธุ์ปลาหมอข้ามสายพันธุ์จริง โดยสำนักงานประมงอำเภอกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เข้าไปให้ความรู้และให้การส่งเสริมพัฒนาสายพันธุ์ปลาหมอมาตั้งแต่ปี 2550
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาฟาร์มได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐมาด้วยดี ทั้งด้านการเป็นวิทยากรเสริม เป็นแหล่งเรียนรู้ทำการประมง ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด
ด้วยศักยภาพที่เป็นฟาร์มเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ จำหน่ายปลาเนื้อและพันธุ์ปลาด้วย ทำให้เกิดกระบวนการคิดค้นและวิจัยเพื่อหาวิธีเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร กระทั่งมีการนำพันธุ์ปลาหมอมาพัฒนาพันธุกรรมปลาหมอจนเป็นสายพันธุ์ที่นิ่งและตั้งชื่อว่า “สายพันธุ์โปโลฟาร์มกาฬสินธุ์เจ๊นิด” ซึ่งได้ตั้งชื่อตามพื้นที่กำเนิดของสายพันธุ์ปลาชนิดนี้ และให้เป็นเกียรติแก่ผู้ที่เสียสละตนเองศึกษาค้นคว้าวิจัยจนพบสายพันธุ์ปลาหมอยักษ์มีขนาด 800 กรัม-1 กิโลกรัม และใช้เวลาเลี้ยงดูเพียงแค่ 120 วันหรือ 4 เดือน
“เจ้าของฟาร์มโปโลน่ายกย่องมาก เพราะความรู้เพียงแค่ ม.6 แต่มีความรู้ความสามารถ ศึกษาค้นคว้าได้ขนาดนี้ ที่พิเศษสุดคือสายพันธุ์ปลาหมอยักษ์ของโปโลฟาร์มนี้เป็นสายพันธุ์ที่นิ่ง และยังได้รับมาตรฐาน Safty Level ซึ่งเป็นมาตรฐานอาหารปลอดภัยของกรมประมงด้วย ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนบ้านโปโล” ประมงอำเภอกมลาไสยกล่าว และว่า
ขณะเดียวกัน โปโลฟาร์มเป็นพื้นที่บ่มเพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากว่า 100 ราย ถือเป็นแหล่งประมงขนาดใหญ่และมีรายได้หมุนเวียนในกลุ่มเกษตรกรจำนวนมาก ที่สำคัญ “ปลาหมอสายพันธุ์โปโลฟาร์มกาฬสินธุ์เจ๊นิด” เป็นที่รู้จักในตลาดว่ามีคุณสมบัติเด่นคือ ตัวใหญ่ หัวเล็ก ขึ้นสันต่างจากสายพันธุ์อื่น โดยออกจำหน่ายในตลาดทั้งที่เป็นปลาเนื้อและลูกปลาอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2552
อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้วเคยแนะนำให้โปโลฟาร์มไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์ไว้ แต่ฟาร์มอยากให้เป็นวิทยาทานแก่สถาบันการศึกษาและนักศึกษาที่ยังหวังให้พัฒนาต่อยอดไปอีก กระทั่งมาเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะต่อไปเกษตรกรคงไม่กล้าพัฒนาสายพันธุ์ร่วมกับภาครัฐ เกรงว่าจะถูกขโมยความคิดไปเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้