พัทลุง - ตั้งกล้องวงจรปิด 11 จุด บ้านไฟลุกไหม้ปริศนาเมืองพัทลุง เฝ้าดูผ่านมอนิเตอร์ ผ่านไปกว่า 14 ชั่วโมง ยังไม่มีเหตุไฟลุกติดเอง ขณะภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เร่งเก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ทางฟิสิกส์ เบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุป
วันนี้ (30 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุงว่า ที่บ้านลุงล้อม ศักดิ์หวาน บ้านที่เกิดไฟลุกไหม้ปริศนา ทางเจ้าหน้าที่นักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ยังคงเร่งเก็บข้อมูล ติดตามดูภาพจากกล้องวงจรปิดที่ทำการติดตั้งไว้เมื่อวานนี้ จำนวน 11 จุด โดยการเฝ้าดูมอนิเตอร์ เฝ้าสังเกตการณ์เพื่อดูตามจุดต่างๆ ที่ติดตั้งกล้องไว้ว่า จะเกิดไฟลุกไหม้เวลาใด แต่จากการติดตั้ง และเฝ้าสังเกตการผ่านไป 14 ชั่วโมง จนถึงขณะนี้ยังไม่มีไฟลุกไหม้แต่อย่างใด
นอกจากนี้ คณะภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ยังเก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ชั้นดินเพื่อหาส่วนผสมของดินบริเวณรอบบ้านเพื่อนำมาทำผลวิเคราะห์ทางฟิสิกส์ ซึ่งในช่วงบ่ายของวันนี้ คณะอาจารย์ที่ลงพื้นที่จะได้ประชุมหารือร่วมกันถึงแนวทางการศึกษาหาข้อสรุป
ขณะที่บรรยากาศที่บ้านลุงล้อม ทางญาติยังเดินทางมาให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง และยังเชื่อว่าไฟไหม้ที่เกิดขึ้นยังเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเช่นเดิม และจนถึงขณะนี้ไฟยังไม่มีการลุกไหม้แต่อย่างใด รวมตลอดเวลา 1 เดือน กับ 10 วัน ไฟได้ลุกไหม้แล้วจำนวน 221 ครั้ง
ส่วนในเวลา 10.00 น.วันนี้ สำนักทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จังหวัดพัทลุง ได้นำเจ้าหน้าที่กรมมลพิษจากส่วนกลางลงพื้นที่เก็บวัดค่ามลพิษทางอากาศเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อีกครั้ง
ส่วนทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ส่งนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอมเทค) ภายใต้สำนักงานงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นักวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) และนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ลงพื้นที่เพื่อตรวจหาสาเหตุเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา
โดยนักวิจัยได้นำเครื่องวัดอุณหภูมิ และเครื่องตรวจวัดแก๊สระดับภาคสนามเพื่อดูองค์ประกอบทางฟิสิกส์ ตลอดจนคุณสมบัติของสะสารของวัสดุแต่ละชนิด รวมทั้งได้เก็บตัวอย่างวัสดุที่เกิดการเผาไหม้ ทั้งพลาสติก ผ้า ดิน และวัสดุอื่นๆ มาวิเคราะห์ทดสอบ โดยขณะนี้กำลังวิเคราะห์อย่างละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากในเบื้องต้น พบสารเคมีหลายชนิดคือ มีเทน ไฮโดรเจน และก๊าซไข่เน่า แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสาเหตุของการติดไฟหรือไม่ โดยยืนยันการทำงานยึดหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์