ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ตำรวจภูธรภาค 9 จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อการ “ปฏิรูป” ระบบข้าราชการตำรวจ แนะยึดหลักปฏิรูปแล้วประชาชนได้อะไร ควรปฏิรูปคนมากกว่าปฏิรูปด้านโครงสร้าง
วันนี้ (24 เม.ย.) ห้องประชุม กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 ได้จัดให้มีการสัมมารับฟังความคิดเห็นการปฏิรูปตำรวจ ของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ จาก 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง จำนวน 250 นาย โดยมี พล.ต.ต.เอกภพ ประสิทธิวัฒนชัย รอง ผบช.ภ.9 เป็นประธานในการเปิดสัมมนา โดยมีวิทยากรประกอบด้วยตัวแทนของ กต.ตร.ในท้องถิ่น ตัวแทนตำรวจชั้นประทวน และตัวแทนสื่อมวลชน
โดย พล.ต.ต. เอกภพ ได้ กล่าวในตอนหนึ่งในการเปิดการสัมมนาว่า อยากจะให้ตำรวจระดับปฏิบัติการ ช่วยกันคิดถึงการปฏิรูปที่ต้องการ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะ ขณะนี้ ได้มีการวางโครงสร้างใหม่ของตามแนวคิดการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งหลายประเด็นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยขณะนี้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงใน สชต. ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อโต้แย้งในหลายประเด็น ดังนั้นถึงแม้ว่าการปฏิรูปตำรวจอาจจะมีการนำเสนอเป็นรูปเป็นร่างแล้วก็จริง แต่ สชต. ต้องการที่จะ รวมรวมความคิดเห็นของ ตำรวจทุกระดับ เพื่อเป็นข้อมูลในการปฏิรูปตำรวจในครั้งนี้
ซึ่งนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล วิทยากรที่เป็นตัวแทนสื่อมวลชน ได้นำเสนอเพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า โครงสร้างใหม่ของตำรวจที่สำคัญคือ การยกเลิก สชต. หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อจัดตั้งขึ้นใหม่ในชื่อ สภากิจการตำรวจแห่งชาติ จะมีการยกเลิก ก.ตร. หรือ คณะกรรมการตำรวจรวมทั้งจะให้ตำรวจที่ เป็นตำรวจ หน่วยอื่นๆ เช่น ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ ตำรวจท่องเที่ยว และอื่นๆ ที่ไม่มีภารกิจโดยตรงกับ สชต. ไปสังกัด กับหน่วยนั้นๆ
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีการจะแยกงานสอบสวน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของตำรวจไปให้กับ หน่วยงานอื่น และอาจจะให้มีการแยกย่อยตำรวจออกจาก สชต. เพื่อความชัดเจน เช่น ให้ตำรวจท้องถิ่น หรือ ตำรวจภูธร ขึ้นกับจังหวัด หรือเทศบาล ซึ่งหลักๆ ที่กล่าวว่า ในการปฏิรูปครั้งนี้มีผลกระทบกับตำรวจ และประชาชนโดยตรง เพราะผู้ที่เสนอโครงสร้างดังกล่าวอาจจะไม่เข้าใจงานของตำรวจภูธร และไม่เข้าใจไม่ได้ถามความต้องการของประชาชน รวมทั้งไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดกับตำรวจ
นายไชยยงค์ ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อไปว่า ในการปฏิรูปตำรวจนั้น ขอให้มีการยึดหลัก 2 ข้อใหญ่ๆ คือ หลังการปฏิรูปประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร และตำรวจชั้นประทวน ซึ่งเป็นตำรวจส่วนใหญ่เป็นผู้ผู้ปฏิบัติโดยตรงได้อะไร เพราะในการปฏิรูปโครงสร้างของตำรวจที่ผ่านมาหลายครั้ง ประชาชน และ ตำรวจระดับปฏิบัติงาน ไม่เคยได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปแม้แต่ครั้งเดียว
ซึ่งในการที่ ตำรวจชั้นประทวน จะทำการระดมความคิดเห็น เพื่อนำเสนอต่อ สชต. ครั้งนี้ ตำรวจจะต้องไม่มองเพียงหน่วยงานของตนเองเป็นหลัก แต่ให้มองถึงบริบท ของหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมการปกครอง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการแก้ปัญหาความ ฟอนเฟะของสังคม ว่าได้ทำหน้าที่ในการแก้ปัญหาต้นเหตุต่างๆ ของสังคม ที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาสังคม เช่น การระบาดของยาเสพติด สาเหตุของความรุนแรง คุณภาพชีวิตของประชาชนตกต่ำ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาสังคม ในขณะงานของตำรวจนั้น เป็นเรื่องของปลายเหตุ คือการรักษาความสงบ การบังคับใช้กฎหมาย การจับกุม สืบสวนสอบสวน ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น เพราะหากหน่วยงานอื่นๆ ที่เป็นหน่วยงานในภูมิภาคไม่ได้รับการปฏิรูป การปฏิรูปตำรวจเพียงหน่วยงานเดียว ไม่น่าจะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นลดน้อยลง
และที่สำคัญ ในการปฏิรูป สชต ที่ผ่านๆ มา มีแต่การ ปฏิรูปโครงสร้างเป็นด้านหลัก แต่ไม่มีการปฏิรูปคน เพราะปัญหาของตำรวจไม่ได้อยู่ที่องค์กรเพียงอย่างเดียวแต่อยู่ที่คน หรือตัวข้าราชการตำรวจเอง ที่ยังยึดติดอยู่กับวัฒนาธรรมเดิมๆ เช่น การใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์ ลูกน้องมีหน้าที่หาเงินเลี้ยงนาย และตำรวจทำงานหนัก เป็นงานครอบจักรวาล แต่รายได้ต่ำกว่าหลายๆ อาชีพ จึงทำให้ตำรวจเป็นอาชีพข้าราชการที่ต้นทุนต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับข้าราชการกระทรวงอื่นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้ตำรวจเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง และไม่นำองค์กรเข้าไปรับใช้การเมือง จนทำให้ภาพพจน์ของตำรวจตกต่ำอย่างที่เป็น