xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ-กมธ.กฎหมายฯ พร้อมรับฟังความเห็นปฏิรูป สตช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูป โดยเฉพาะการแยกพนักงานสอบสวนออกจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 282 (8) ว่า กรรมาธิการยกร่างฯ ร่างบทบัญญัติดังกล่าวไปตามรายงานที่กรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอ แต่เมื่อมีข้อท้วงติงไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว กรรมาธิการยกร่างฯ ก็พร้อมรับฟังเหตุผลจากทุกฝ่ายอีกครั้ง เพราะยังมีเวลารับฟังและสามารถปรับแก้ได้ ส่วนผลการศึกษาแนวทางปฏิรูปตำรวจของ สตช.ที่อยากให้ปรับเปลี่ยนเป็นส่วนราชการเทียบเท่ากระทรวงนั้น มองว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลว่าจะเห็นเป็นอย่างไรในอนาคต กรรมาธิการยกร่างฯ คงไม่สามารถกำหนดรายละเอียดมากขนาดนั้นในรัฐธรรมนูญได้

ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า กรรมาธิการฯ พร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น โครงสร้างการปฏิรูปตำรวจที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญภาค 3 มาตรา 282 (8) ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนแยกขาดออกจาก สตช.นั้น เกิดจากการตัดสินใจของกรรมาธิการยกร่างฯ เนื่องจากกรรมาธิการกฎหมายฯ ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปไป 2 ส่วน คือ ตามผลการศึกษาของอนุกรรมาธิการที่เห็นว่าต้องแยกพนักงานสอบสวนออกจาก สตช.อย่างเด็ดขาด และตามความเห็นของกรรมาธิการกฎหมายฯ เอง ที่เห็นว่าพนักงานสอบสวนควรมีอิสระในการทำงาน แต่ต้องไม่แยกออกจาก สตช. ซึ่งตนในฐานะประธานกรรมาธิการกฎหมายฯ ก็จะทำการอภิปรายประเด็นนี้ในที่ประชุม สปช.เมื่อเข้าสู่การพิจารณารัฐธรรมนูญภาค 3 การปฏิรูป ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 24 เมษายนนี้

นายเสรี กล่าวว่า ส่วนแนวทางปฏิรูปที่ สตช.ได้ศึกษาแล้ว เห็นว่าควรปรับเปลี่ยนเป็นส่วนราชการเทียบเท่ากระทรวง ก็ยังมีความเป็นไปได้ กรรมาธิการกฎหมายฯ พร้อมนำมาพิจารณา โดยจะทำการหารือในประเด็นตำรวจอีกครั้ง ในการประชุม สปช.วันที่ 28 เมษายน เพื่อรับฟังความเห็นจากสมาชิก สปช.ทุกคน แล้วนำไปพิจารณาร่วมกัน ก่อนจะสรุปเป็นแนวทางว่าจะแปรญัตติรูปแบบการปฏิรูปตำรวจด้วยหรือไม่ เพราะยังเหลือเวลาอีก 30 วัน ที่จะเสนอคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ตนยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่เบื้องต้นเห็นด้วยกับความเห็นของตำรวจที่ออกมา ว่า จะทำให้มีปัญหาความยุ่งยากมาก หากแยกพนักงานสอบสวนออกมา ทั้งนี้ ยืนยันว่า กรรมาธิการกฎหมายฯ จะเสนอแนวทางปฏิรูปตำรวจโดยคำนึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

ทางด้านนายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ กล่าวว่า เห็นด้วยว่าพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องคงอยู่กับ สตช. เพราะหากถูกแยกออกไป ปัญหาในการปฏิบัติงานจะมีมาก แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องให้พนักงานสอบสวนมีอิสระในการทำหน้าที่ ข้อเสนอปฏิรูปที่ออกยังจำเป็นต้องฟังเสียงส่วนใหญ่จากทั้ง สปช. สนช. และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงยุติธรรม มหาดไทย หรือ สตช.เอง ซึ่งคาดว่าแนวทางปฎิรูปจะชัดเจนภายใน 3 เดือน หลังการอภิปรายร่างแรกรัฐธรรมนูญลแล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าปัญหาทั้งหมดนี้เกิดจากความบกพร่องของ สตช.เอง ที่ไม่มีการปฏิรูปตัวเอง แม้ตนจะเคยทำการเรียกร้องเมื่อมาทำหน้าที่ สปช.ตั้งแต่ช่วงแรกแล้ว การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่อย่างไม่เป็นธรรมยังคงอยู่ มีการร้องเรียนไม่ต่างจากเดิม เมื่อ สปช.มาเสนอให้มีการปฏิรูป ตำรวจก็ออกมาแสดงความไม่พอใจกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น