xs
xsm
sm
md
lg

ประมงพื้นบ้านกระบี่ไม่เอาโรงไฟฟ้า หวั่นกระทบอาชีพ กฟผ.ดิ้นสร้างให้เสร็จปี 62

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กระบี่ - ชาวประมงพื้นบ้านแหลมหิน จ.กระบี่ ค้านโครงการก่อสร้างโรงฟ้าถ่านหิน หวั่นเกิดผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมง แม้ทาง กฟผ.จะออกมาระบุว่า จะเปิดประมูลในเดือนเมษายนนี้ และสร้างให้เสร็จปล่อยจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ภายในปี 2562 ก็ตาม

หลังจากที่ นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ที่ จ.กระบี่ ว่า คาดว่าจะมีการเปิดประมูลในเดือน เม.ย.2558 นี้ โดยเทคโนโลยีที่จะระบุในเงื่อนไข จะเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย และดีที่สุดเท่าที่มีการพัฒนาอยู่ในขณะนี้ คือ เครื่องผลิตไอน้ำแรงดันเหนือวิกฤตที่มีประสิทธิภาพสูงในการเผาไหม้ หรือ Ultra Supercritical Pressure Steam สามารถควบคุมก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ และซัลเฟอร์ออกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน โดยภายในปี 2558 นี้ น่าจะรู้ผลผู้ชนะการประมูล และมีการลงนามในสัญญาการก่อสร้างได้

สำหรับเรื่องของการขออนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) นั้น อยู่ในระหว่างการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งจะดำเนินการคู่ขนานกันไปกับการดำเนินการในส่วนของการก่อสร้าง โดยโรงไฟฟ้ากระบี่ มีกำหนดที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ประมาณปลายปี 2562 นี้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางจนิรา คลองรั้ว ชาวบ้านแหลมหิน อาชีพทำประมงพื้นบ้าน ม.1 ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ กล่าวว่า สิ่งที่ชาวบ้านแหลมหิน เป็นกังวลก็คือ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.ที่จะสร้างขึ้นในพื้นที่โรงไฟฟ้ากระบี่ ต.คลองขนาน อ.เหนือคลอง โดยการขนถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงด้วยเรือขนาดใหญ่ ขนาดบรรทุก 10,000 ตันครอส/วัน วันละ 2 เที่ยว ผ่านพื้นที่ที่ทำการประมงของชาวบ้านแหลมหิน ซึ่งเชื่อว่าเรือใหญ่ขนาดนั้น เมื่อแล่นผ่านบริเวณที่ชาวบ้านทำประมงก็จะส่งผลกระทบต่ออาชีพการทำประมงอย่างแน่นอน และที่สำคัญบริเวณที่จะใช้เป็นท่าเรือขนถ่ายถ่านหินอยู่ในแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน

นางจนิรา กล่าวด้วยว่า นอกจากการขนถ่านหินทางทะเลจะกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมงแล้ว ก็ยังจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน และเชื่อว่าเมื่อสัตว์ทะเลกินผงถ่านหินที่ตกลงไปในทะเล ก็จะทำให้เป็นพิษด้วย และเมื่อถึงตอนนั้นปู ปลา กุ้ง หอย ก็จะขายไม่ได้ พวกตนก็จะไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ และไม่เชื่อว่าถ่านหินจะสะอาดเหมือนอย่างที่ กฟผ.กำลังประกาศโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งพลังงานทางเลือกอื่นมีอีกมาก และมีความมั่นคงกว่าซื้อถ่านหินมาจากต่างประเทศแต่ กฟผ.ไม่เคยกล่าวถึง เช่น พลังงานลม แสงแดด และน้ำมันปาล์ม ซึ่งพวกตนพร้อมที่จะต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อรักษาแหล่งทำมาหากิน และสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ลูกหลานต่อไป

นางจนิรา กล่าวอีกว่า หลังจากที่เสร็จสิ้นจากภารกิจการออกทำประมงชายฝั่งทะเล ก็ใช้เวลาว่างรับจ้างเย็บอวน มีทั้งอวนดักปลา อวนกุ้ง และอวนปลาหมึก ซึ่งราคาค่าเย็บก็จะแตกต่างกันตามขนาดความยาวของอวน ราคาหัวละตั้งแต่ 100-350 บาท โดยในแต่ละวันสามารถเย็บอวนได้ประมาณ 2 หัว หรือประมาณ 140 วา มีรายได้เฉลี่ย 500 บาทต่อวัน สำหรับงานรับจ้างเย็บอวนไม่ได้มีทุกวัน นานๆ ครั้งจึงจะมีคนมาว่าจ้างให้เย็บอวนให้ ถึงแม้ว่ารายได้จะไม่มากมายนัก แต่ก็ถือว่าเป็นรายได้เสริมมาจุนเจือครอบครัว หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจจากการออกทำประมงพื้นบ้านจับกุ้งจับปลามาขาย ซึ่งก็พอที่จะนำมาเลี้ยงชีพได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น