xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานดันแผน PDP หนุนพลังงานทดแทน เล็งใน 10 ปี ลดผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
นครศรีธรรมราช - สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เร่งผลักดันแผน PDP พัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พร้อมประกาศแผนนโยบายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน รับประชาคมอาเซียน ชี้อีก 20 ปีข้างหน้า ภาคใต้ใช้ไฟฟ้าแตะ 6,000 เมกะวัตต์ กำหนดยุทศาสตร์ชัดใน 10 ปี ลดการใช้ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

วันนี้ (29 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้จัดการสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อ มองทิศทางพลังงานไทยผ่านแผน PDP เพื่อเผยแพร่ความรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางพลังงานไทยตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงนโยบายการส่งเสริม และสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงศักยภาพของพลังงานทดแทนแต่ละประเภทที่เหมาะสมต่อประเทศไทย ภายใต้โครงการ “ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจพลังงานทดแทน และเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า” โดยการสัมมนาครั้งนี้เป็นการสัมมนาเชิงวิชาการตามแนวคิดลดวิกฤตพลังงาน มุ่งสู่การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน ในหัวข้อ มองทิศทางพลังงานไทยผ่านแผน PDP ซึ่งเป็นแผน PDP ฉบับล่าสุดในปี 2015

 
นายสุชาลี สุมามาลย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เป็นแผนปี พ.ศ.2558-2579 หรือแผน PDP 2015 ทั้งนี้ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนส่งตามนโยบายรัฐบาล และการเตรียมเข้าสู่ AEC ในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ไฟฟ้าของประเทศโดยรวม

นอกจากนั้น คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช.ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำแผน PDP 2015 โดยให้มีระยะเวลาของแผนสอดคล้องต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. พร้อมจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก ให้มีกรอบระยะเวลาของแผนระหว่างปี 2558-2579 เช่นเดียวกับแผน PDP 2015

ซึ่งการทำแผนได้ให้ความสำคัญด้านความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ สนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เน้นการกระจายเชื้อเพลิงเพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพิงเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่ง ในด้านเศรษฐกิจจะเป็นต้นทุนพลังงานที่เหมาะสม ประชาชน และธุรกิจยอมรับได้ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว รวมถึงการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน

รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวต่อว่า สำหรับการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าระยะยาวนั้น ได้มีการพิจารณาถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และนโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน และระบบราง ซึ่งจากการศึกษาความต้องการใช้ไฟฟ้ากรณีปกติในปี 2556-2579 โดยในพื้นที่ภาคใต้ ปีที่ผ่านมา มีการใช้กระแสไฟฟ้ากว่า 2,400 เมกะวัตต์ ปี 2558

คาดจะมีการใช้ประมาณ 2,500 เมกะวัตต์ ส่วนกรณีเกิดวิกฤติกระแสไฟฟ้าในภาคใต้เกิดการพีก หรือใช้งานสูงสุดที่ 2,365 เมกะวัตต์ ซึ่งภาคใต้ใช้ไฟฟ้าจากโรงงานผลิตไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ไฟฟ้าจากเขื่อนบางลาง และเขื่อนรัชประภา ซึ่งกำลังการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ต้องจ่ายไฟสำรองจากภาคกลางเข้ามาเสริม

“มีการประมาณการว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ภาคใต้จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่มากกว่า 6,000 เมกะวัตต์ ดังนั้น การสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมจึงมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ยังมีแผนพลังงานทางเลือกที่จะเข้ามาเสริมกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะชีวมวล และก๊าซชีวภาพ ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ซึ่งจะมีการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันด้านราคาด้วย”

“สำหรับแผน PDP 2015 ในช่วง 10 ปีแรกของแผน จะมีการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ไฟฟ้าจากถ่านหินสะอาด ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และจากก๊าซธรรมชาติ สำหรับในช่วง 10 ปีหลัง จะลดสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินลง แต่เพิ่มในส่วนของพลังงานหมุนเวียน และนิวเคลียร์ ทั้งนี้ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ใดจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน สำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสังคม พร้อมวิธีการป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน หากประชาชนรับได้ก็จะสามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้” รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวในที่สุด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น