กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอกรอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ PDP 2015 ให้ กพช. 15 ธ.ค.นี้เห็นชอบ กางแผนกำหนดให้คงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ไว้ปลายแผน ลดผลิตไฟจากก๊าซฯ เหลือ 30% เพิ่มถ่านหินจาก 20% เป็น 30%
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันที่ 15 ธ.ค.นี้ กระทรวงพลังงานจะเสนอกรอบการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 หรือ PDP 2015 เพื่อให้อนุมัติก่อนที่จะนำไปจัดทำรายละเอียดต่างๆ โดยแผนดังกล่าวจะมุ่งเน้นการกระจายเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในระยะยาวที่ปัจจุบันพึ่งก๊าซธรรมชาติสูงถึง 67% และคำนึงถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตที่จะไม่กระทบต่อการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจ
สำหรับกรอบของแผนดังกล่าวที่สำคัญจะกำหนดการใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงในสัดส่วนที่ลดลงเมื่อสิ้นสุดแผนจาก 67% เหลือ 30% และหันไปเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสะอาดจากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 20% เป็น 30% ขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะกำหนดไว้ปลายแผนจำนวน 2,000 เมกะวัตต์หรือประมาณ 2 โรงหรือคิดเป็นสัดส่วน 5% ของเชื้อเพลิงทั้งหมดเพื่อให้มีการเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยี การศึกษาที่ตั้งโรงไฟฟ้า ความปลอดภัย กฎกติกาต่างๆ รวมถึงการทำความเข้าใจกับประชาชน
ส่วนการจัดหาไฟฟ้าจากต่างประเทศ คำนึงถึงศักยภาพที่สามารถจัดหาได้และมีราคาที่เหมาะสม โดยกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศในสัดส่วน 15% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในระบบ โดยให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงในการจัดหา ให้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้าที่จะมารองรับ ด้านสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วน 20% เพิ่มขึ้นจาก PDP เดิม 18% แม้ว่าในปัจจุบันต้นทุนต่อหน่วยในการผลิตไฟฟ้ายังคงมีราคาสูงแต่มีแนวโน้มราคาลดลงในอนาคต
นอกจากนี้ ในแผนจะต้องปรับให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน โดยแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีจะช่วยชะลอการสร้างโรงไฟฟ้า และลดการนำเข้าน้ำมันดิบลงได้ ซึ่งแผนอนุรักษ์ฯ จะนำสัดส่วนการใช้พลังงานในปี 2556 มากำหนดเป็นสัดส่วนของเป้าหมายการลดใช้พลังงานในปี 2579 นอกจากนี้ต้องปรับให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยมีเป้าหมายสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าในปี 2579 เป็น 20% หรือคิดเป็นกำลังการผลิตประมาณ 17,549 เมกะวัตต์
“กำลังสำรองของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ศึกษาไว้ที่เหมาะสมของประเทศไทยจะยังกำหนดไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 15% เช่นเดียวกับแผนฉบับเดิม โดยจะพิจารณาถึงเงื่อนไขความสามารถของระบบส่งไฟฟ้าในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดรายพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตาม ด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า ใช้ค่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2556-2559 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเฉลี่ยจีดีพีจะมีการเติบโตอยู่ที่ 3.94%” แหล่งข่าวกล่าว