IEA หนุนไทยเร่งสำรวจปิโตรเลียมเพื่อความมั่นคงระยะยาว แต่จะเป็นระบบสัมปทานหรือ PSC อยู่ที่แต่ละประเทศจะพิจารณาความเหมาะสม ชี้บางประเทศก็ออกแบบให้เป็นระบบกลางๆ นำทั้งสองส่วนมารวมกันก็มี พร้อมหนุนไทยปรับโครงสร้างราคาพลังงานช่วงจังหวะตลาดโลกขาลง
นางมาเรีย ฟาน เดอ โฟเว่น (Ms. Maria van der Hoeven) ผู้อำนวยการทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) เปิดเผยหลังการเข้าหารือด้านพลังงานกับ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงานเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ว่า ไทยควรจะมีการเปิดสำรวจแหล่งปิโตรเลียมเพื่อความมั่นคงของประเทศในช่วงนี้เพื่อความมั่นคงในระยะยาว เพราะอีก 7-8 ปีนั้นจะเร็วกว่าที่คิดมากแต่จะใช้ระบบใดนั้นก็อยู่ที่แต่ละประเทศจะพิจารณาตามความเหมาะสม
“ไม่ว่าจะเป็นระบบสัมปทาน หรือระบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSC ก็เป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดูแลผลประโยชน์และยังมีทางเลือกกลางๆ คือใช้ระบบทั้งสองมาผสมผสานกันก็มี ขึ้นอยู่แต่ละประเทศจะพิจารณาถึงความเหมาะสม ซึ่งไทยเองก็จะต้องดูในสิ่งที่ดีสุด” นางมาเรียกล่าว
สำหรับทิศทางราคาน้ำมันช่วงที่ผ่านมามีการปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมาจากปริมาณ (ซัปพลาย) น้ำมันดิบตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นสูงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปริมาณการผลิตน้ำมันจากหินดินดาน หรือ Shale Oil ซึ่งปกติกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโลก หรือโอเปกจะเป็นคนคุมเกมด้วยการลดการผลิตแต่โอเปกเห็นว่ามีผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Shale Oil อยู่จึงไม่ลดผลิต ดังนั้นจึงมีผลทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินซึ่งทาง IEA กำลังติดตามใกล้ชิดซึ่งเชื่อว่าจุดหนึ่งจะเกิดความสมดุล
อย่างไรก็ตาม ไทยจะได้ประโยชน์จากระดับราคาน้ำมันที่ถูกลงในขณะนี้ รวมถึงราคาก๊าซธรรมชาติที่ผูกติดกับราคาน้ำมันที่จะทยอยลดลงให้เห็นด้วยเช่นกัน ซึ่งราคาพลังงานในช่วงขาลงนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะปรับโครงสร้างราคาพลังงานลดการอุดหนุนลงได้
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เมื่อเดือน ก.ย. 57 กระทรวงพลังงานโดยนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ได้ร่วมลงนามกับ IEA เพื่อความร่วมมือ 2 เรื่อง ได้แก่ การฝึกซ้อมแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งกระทรวงพลังงานจะจัดขึ้นในวันที่ 18 มี.ค.นี้ โดยทาง IEA พร้อมจะส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์และจะหนุนให้ไทยเป็นต้นแบบในภูมิภาคอาเซียน และจะมีการสนับสนุนจัดตั้งศูนย์ข้อมูลพลังงานไทย