xs
xsm
sm
md
lg

15 มีนาคม : วันสิทธิผู้บริโภคสากล…สังคมไทยเอาไงดี? / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม  กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (ภาคประชาชน)


วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี กลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคทั่วโลกที่ใช้ชื่อว่า “สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumer International, CI)” ได้จัดให้มี “วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day, WCRD)” ได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1985 ซึ่งเป็นปีที่องค์การสหประชาชาติได้ออกประกาศคำแนะนำสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค (UNGCP) หลังจากได้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่ม CI มาร่วม 10 ปี

ว่าไปแล้วทุกความก้าวหน้าของสังคมมนุษยชาติต่างได้มาด้วยความพยายามที่ยากลำบากของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนน้อยที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาทั้งสิ้น สำหรับการที่เลือกเอาวันที่ 15 มีนาคม ก็เพราะว่าเป็นวันที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ได้กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง “สิทธิผู้บริโภค” ในสภาคองเกรส เมื่อปี 1962 หรือ 53 ปีมาแล้ว ความใน 2-3 ประโยคแรกในสุนทรพจน์ดังกล่าวยังคงเป็นความจริงมาถึงวันนี้ก็คือ “ผู้บริโภคโดยนิยามแล้วหมายถึงพวกเราทุกคน ผู้บริโภคเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจที่ทั้งส่งผล และได้รับผลกระทบจากเกือบทุกการตัดสินใจทั้งของภาครัฐ และเอกชน แม้ว่า 2 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมาจากผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคก็เป็นเพียงกลุ่มสำคัญกลุ่มเดียวที่ไม่มีการจัดตั้งอย่างมีประสิทธิผล ดังนั้น ความเห็นของพวกเขาจึงมักไม่ได้มีการรับฟัง”  

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ภาคธนาคาร และอื่นๆ ต่างก็มีองค์กรของตนเองไว้ต่อรองกับรัฐบาล แต่ผู้บริโภคกลับไม่มี

ปัจจุบัน สหพันธ์ผู้บริโภคสากล ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศอังกฤษ มีสมาชิก 250 องค์กรจาก 120 ประเทศทั่วโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เป็นสมาชิกเพียงหนึ่งเดียวจากประเทศไทย

CI คือกลุ่มสหพันธ์ผู้บริโภคในระดับโลกที่ทำงานรณรงค์ร่วมกับสมาชิกทั่วโลก เพื่อเป็นเพียงปากเสียงเดียวที่เป็นอิสระ และเป็นสะท้อนถึงถึงอำนาจเพื่อผู้บริโภคในระดับโลก “เรากำลังสร้างการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคสากลให้มีพลังเพื่อช่วยปกป้องและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภคทั่วทุกหนทุกแห่ง”

ก่อนที่จะแนะนำ CI ต่อไป ผมขอกลับมาที่ปัญหาของผู้บริโภคในบ้านเราสักนิดนะครับ

ย้อนไปถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาตรา 57 ว่าด้วยสิทธิของผู้บริโภคโดยให้มีองค์กรอิสระขึ้นมาทำหน้าที่ ในตอนนั้นภาคประชาชนก็เข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย แต่ยังไม่ทันที่กฎหมายจะออกก็มีการรัฐประหารในปี 2549

พอมาถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 61 ก็มีการบัญญัติในลักษณะเดิมอีก “โดยให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ” ภาคประชาชนก็เสนอกฎหมายอีก ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว (ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ผ่านความเห็นของวุฒิสภาด้วย แต่มีการแก้ไขเกี่ยวกับเงินสนับสนุนเล็กน้อยจึงต้องมีขั้นตอนการพิจารณาเพิ่มเติม

เมื่อมีรัฐบาลใหม่ (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ก็นำร่างกฎหมายองค์การอิสระ (ตามมาตรา 61) มาพิจารณาใหม่ แต่ก็มีการรัฐประหารอีกล่าสุด ปี 2558 หรือ 18 ปีผ่านไป (นับจากปี 2540) ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ได้ผ่านความเห็นชอบแบบมีเงื่อนไขของสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวคือ ให้มีการปรับปรุงเล็กน้อยในเรื่องกรรมการสรรหากรรมการองค์การอิสระฯ

ย้อนไปเมื่อประมาณต้นปี 2555 ในระหว่างที่กำลังรอคอยการออกกฎหมาย (ที่เคลื่อนไหวมานาน 15 ปี) ภาคประชาชนก็ได้เตรียมความพร้อมทั้งการประสานเครือข่ายโดยการจัดประชุมสมัชชาเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ (ประมาณ 300 องค์กร) เพื่อคัดเลือกกรรมการผู้เชี่ยวชาญ 7 คน 7 ด้าน ซึ่งได้แก่ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านการเงินและธนาคาร ด้านบริการสาธารณะ (ซึ่งผมเองได้รับเลือก) ด้านบริการสุขภาพ ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม ด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และด้านสินค้าทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีกรรมการจากพื้นที่อีก 8 คน รวมทั้งสิ้น 15 คน

สำหรับหน้าที่ขององค์การอิสระฯ ในร่างกฎหมายก็พอจะสรุปได้ดังภาพข้างล่างนี้ครับ
 

 
ในขณะที่สหพันธ์ผู้บริโภคสากล ใช้เวลาเคลื่อนไหวนาน 10 ปี ก็ได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ แต่ภาคประชาชนไทยที่มีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมขบวนด้วย ได้ขับเคลื่อนมา 18 ปีแล้วยังไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นลูกผี หรือลูกคนเลย

ในช่วงพักการประชุมครั้งหนึ่ง คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ปรารภในวงอาหารว่า “หากคราวนี้สภานิติบัญญัติไม่ผ่านให้อีก ก็จะไม่ผลักดันอีกต่อไปแล้วนะ เรามามุ่งเน้นทำงานมูลนิธิของเราอย่างเดิมดีกว่า” ปรากฏว่ามีบางคนเห็นด้วยครับ

เหตุผลหนึ่งที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติไม่เห็นด้วย ก็เพราะเกรงว่าจะเกิดความซ้ำซ้อนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ 

แต่เจตนารมณ์ขององค์การอิสระฯ (ตามมาตรา 61) เป็นองค์การที่อิสระจากหน่วยงานของรัฐ และเป็นอิสระจากกลุ่มทุนที่เป็นผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และอื่นๆ ด้วย

นี่คือความแตกต่างที่ชัดเจน สำหรับ “ความเป็นอิสระ” ก็เป็นเพียงอิสระจากรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังคงต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องรายงานความเคลื่อนไหวต่อรัฐสภา และต้องผ่านความเห็นชอบของสมัชชาเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศทุกปีด้วย
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ก็ได้ออกมาให้ความเห็นในหลายประเด็นที่สำคัญในแทบทุกด้าน ล่าสุด ได้ให้ความเห็นเรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษคือ “เศษวินาทีคิดเป็นหนึ่งนาที” หรือที่มีคนเปรียบเทียบว่า ซื้อเนื้อหมู 1 กิโลกรัม 2 ขีด แต่ถูกคิดเงินในราคา 2 กิโลกรัมแต่ได้เนื้อหมูมาเพียงแค่ 1 กิโลกรัมกับ 2 ขีดเท่านั้น

มีผู้คำนวณว่า การคิดราคาที่ไม่ยุติธรรมนี้มีมูลค่ารวมกันปีละประมาณ 4 พันล้านบาท

หลังจากเรื่องนี้ได้ปรากฏเป็นข่าวออกไป บริษัทที่ให้บริการแทนที่จะนำไปปฏิบัติให้ตรงไปตรงมา แต่ปรากฏว่า บริษัทได้จัดโปรโมชันแบบใหม่มา 11 แบบ ในจำนวนนี้ 8 แบบ ยังคิดแบบปัดเศษเช่นเดิม แต่มีความซับซ้อนมากกว่าเดิม จนชาวบ้านธรรมดาตามไม่ทัน และขี้เกียจจะตอแย

เป็นเรื่องแปลกหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ซึ่งเป็นองค์การอิสระกลับวางเฉย ข่าวล่าสุด ประธานกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้ไปยื่นหนังสือให้สภาปฏิรูปแห่งชาติตรวจสอบเรื่องนี้ ความคืบหน้าจะเป็นอย่างไรก็ช่วยกันติดตามนะครับ

กลับมาที่วันสิทธิเพื่อผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม ครับ

เมื่อปีที่แล้ว ทาง CI ได้ยกประเด็นความไม่เป็นธรรมในการให้บริการโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคทั่วโลก ในขณะที่การให้บริการในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว

มาปีนี้ทาง CI ได้ยกประเด็น “อาหารปลอดภัย” ขึ้นมารณรงค์ทั่วโลก รวมทั้งในเวทีที่จะจัดในประเทศไทย ในวันที่ 15-16 มีนาคม ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค ถนนราชปรารภ เขตราชเทวี กทม.

ผมอยากจะนำเสนอที่มาของปัญหาว่า ทำไม CI จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ผมมาพบคำถามที่ท้าทายในปัญหารวมๆ ของผู้บริโภคที่ประธานาธิบดีเคนเนดี ได้ตั้งไว้เมื่อ 63 ปีก่อน แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญ

ทาง CI ได้นำเสนอสิ่งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (CI’s New Strategy)” ทาง CI ได้ตั้งคำถามชวนให้เราคิดว่า “ลองจินตนาการดูว่า ถ้าโลกนี้คือสถานที่ซึ่งปัจเจกชนแต่ละคนมีอำนาจ หรือมีพลังเท่ากับรัฐบาล และบรรษัท ในตลาดสินค้าผู้บริโภคมีอำนาจที่จะท้าทายต่อสินค้าที่ไม่ยุติธรรม ไม่ปลอดภัย และการกระทำใดๆ ที่ไม่มีจริยธรรมของบริษัท แล้วปัจเจกได้รับความสำเร็จ เราในฐานะผู้บริโภคแต่ละรายควรจะทำอย่างไร”

เพื่อให้ได้รับสิ่งดังกล่าวตามที่เราจินตนาการไว้ เราต้องคิดการใหญ่ (Think Big) และเราจำเป็นต้องกระทำร่วมกันทั่วโลก (Act Global) 

เพราะสินค้าทุกวันนี้ไม่มีพรมแดน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ และอุปทานภายในประเทศ ดังนั้น ในโลกที่ (1) มีความเป็นโลกาภิวัตน์มากขึ้น และ (2) มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เราจะต้องเพิ่มพลังของปัจเจก และการจูงใจให้ CI และสมาชิกทั่วโลกให้บรรลุความสำเร็จมากขึ้น

ผมได้พยายามฟังวิดีโอประชาสัมพันธ์ของ CI อยู่หลายรอบ ผมจับความได้ว่าจะใช้ 2 วิธีการใหญ่ คือ (1) สร้างความร่วมมือกันในระดับโลก และ (2) ต้องเข้าใจถึง “หัวใจของพลวัตใหม่” และใช้ประโยชน์ให้เต็มศักยภาพ ถ้าพูดกันให้ดูง่ายขึ้นก็คือ การสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือนั่นเอง ซึ่งเราสามารถเชื่อมกันจากปัจเจกเป็นกลุ่ม จากกลุ่มถึงกลุ่ม (ผมตัดภาพมาให้ดูด้วย)
 

 
CI ยังย้ำอีกว่า “เราไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้ตามลำพัง ความเข็งแกร่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือความลึก และความกว้างของสมาชิกของเรา พลังของพวกเขา ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ประสบการณ์และศักยภาพที่เหนือกว่าในการระดมพลผู้บริโภคของพวกเขาคือ กระดูกสันหลังของสิ่งที่เราสามารถส่งต่อถึงกัน” 

เราจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่สมาชิกของเรา รวมถึงผู้บริโภคที่พวกเขาให้บริการอยู่ โดยการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากโอกาสที่ก้าวหน้าของยุคข้อมูลข่าวสาร เราจะสร้างเวทีของการทำงานร่วมกันบนระบบออนไลน์เพื่อการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคในระดับโลกเวทีที่ว่านี้ ได้แก่ การสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ การปฏิบัติที่ดี การวิจัย และเอกสารประกอบการรณรงค์

วิสัยทัศน์เพื่ออนาคตของ CI ทั้งหลายทั้งปวงก็คือ การสนับสนุนพลัง และภูมิปัญญาการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคทั่วโลก วิสัยทัศน์ของCI คือ การปลดปล่อยพลังของผู้บริโภคในระดับนานาชาติ และสร้างสำนึกในกลุ่มผู้บริโภคถึงความเร่งด่วนอันเกี่ยวข้องต่อชีวิตประจำวันของทุกคน เราจึงต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้สิทธิของผู้บริโภคเป็นพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกที่ทรงพลังที่สุด

ในความเห็นของผมแล้ว ยุทธศาสตร์ใหม่ของ CI นั้นดีมาก และทันสมัย เท่าที่กลุ่มพลเมืองในยุคนี้จะพึงกระทำได้ ในยุคที่บรรษัทข้ามชาติมีความเข้มแข็งมาก

แต่ผมเห็นว่าประเด็นสำคัญมากๆ คือ การทำให้ผู้บริโภคเห็นพลังที่แท้จริงของตนเองในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีความก้าวหน้ามากๆ

ในเว็บไซต์ของ CI ได้แขวนวิดีโอคำบรรยายของ Gerd Leonhard หลังจากที่ผมได้ค้นคว้าเพิ่ม ผมชอบสไลด์ของเขาซึ่งผมนำมาเสนอในที่นี้ เขาบอกว่า เศรษฐกิจของโลกได้เคลื่อนจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ (Big Oil) มาสู่บริษัทด้านสารสนเทศขนาดใหญ่ (Big Data) แล้ว 
 

 
พูดอีกอย่างหนึ่ง “ข้อมูลคือน้ำมันชนิดใหม่”

ใช่ครับ ผมกำลังจะบอกว่า พลังของข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสารนั้นมีพลังมาก พลังที่ว่านี้คือพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลก เป็นพลังที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลและบริษัทผู้ผลิตสินค้าได้

นอกจากนี้ คุณ Gerd Leonhard ยังได้ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์อีกหลายประการ เช่น การแบ่งปันทำให้ความรู้เติบโตเพิ่มขึ้น ควรกระจายทุกสิ่งทุกอย่าง และให้ใช้แนวคิดที่ได้จากเชื้อไวรัส

ผมไม่แน่ใจว่า คุณ Leonhard หมายถึงอะไร แต่ในความเข้าใจของผมเองว่าหมายถึง 2 ประการ คือ (1) การปรับตัวเองเพื่อสร้างภูมิต้านทานซึ่งเป็นความหมายที่ตรงไปตรงมาในทางชีววิทยา แต่ในความหมายที่ (2) เป็นความหมายทางสังคม ที่เชื้อไวรัสจำนวนน้อยนิด แต่สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว และสามารถระบาด และส่งผลกระทบอย่างมหาศาลในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

การทำงานของกลุ่มผู้บริโภคจึงควรจะเอาอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งเงื่อนไขในยุคเทคโนโลยีก้าวหน้าได้เอื้อให้เราพร้อมทุกอย่างแล้ว

คุณ Leonhard ได้ยกเอาคำพูดของคุณ Peter Drucker ที่ว่า “The greatest danger in times of turbulence is not the turbulence, itself, but to act with yesterday’s logic” ซึ่งหมายความว่า“อันตรายที่สำคัญที่สุด ในเวลาที่มีกระแสอันเชี่ยวกราก (Turbulence) นั้น ไม่ใช่กระแสอันเชี่ยวกรากในตัวมันเอง แต่มันคือการกระทำด้วยตรรกะของเมื่อวาน”

 

ตรรกะของเมื่อวานอาจเป็นตรรกะที่ในทางคณิตศาสตร์เรียกว่า Linear Logic หรือตรรกะเชิงเส้น หรือตรงไปตรงมา ซึ่งต่างกันอย่างมากกับสภาพที่เป็น Turbulence ทั้งที่มาของทฤษฎี และวิธีการหาผลเฉลยก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 

ความจริงแล้ว ผมควรจะจบบทความเพียงแค่นี้ แต่ในโอกาสที่เป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากลที่เน้นเรื่องอาหารปลอดภัย ผมจึงขอเสนอข้อมูลเพิ่มเติมอีกนิดครับ

 

จากรายงานเรื่อง “FIT NOT FAT” พบว่า ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) ประชากร 1 ใน 2 คน จะเป็นโรคอ้วน หรือน้ำหนักเกิน และในบางประเทศ 2 ใน 3 คนจะเป็นโรคอ้วนภายใน 10 ปี


คนที่เป็นโรคอ้วนจะเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงกว่าคนปกติถึง 25% และคนที่อ้วนมากๆ จะมีอายุสั้นกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติถึง 8-10 ปี
 

 
แล้วอาหารแบบไหนที่ทำให้คนเรามีน้ำหนักเกิน ค่อยว่ากันต่อไปครับ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น