xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทยปัญหาของคนไทย (3) : เรื่องการปฏิรูประบบราชการ

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

กล่าวนำ : ข้อความฝากถึงท่านผู้กล้าทั้งหลายที่อยู่บนเวทีชีวิต

เดิมทีเราคิดว่าท่านไม่กล้าแต่เมื่อท่านกล้าคิดและกล้าทำ เราก็กล้าเสนอเหมือนกัน เพียงแต่ว่าสิ่งที่จะเสนอให้ท่านนำไปคิดพิจารณาอาจอยู่นอกกรอบ (เราขอเรียกว่า ความคิดไร้ขีดจำกัด Unlimited Thinking หรือกล้าที่จะคิดการใหญ่ Dare To Think Big) และอาจแตกต่างจากแนวความคิดและหลักเกณฑ์ของระบอบประชาธิปไตยที่ใช้กันทั้งในยุโรปและอเมริกา ซึ่งคนไทยได้ลอกเลียนแบบโดยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญที่ได้นำมาใช้กับประเทศไทยเป็นเวลานานร่วม 82 ปี แต่ปรากฏว่าระบอบประชาธิปไตยที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ (Imported Democracy) ไม่ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงแข็งแรงให้แก่ประเทศไทยแต่อย่างใด ฉะนั้นเราจึงไม่ควรยึดติดกับหลักทฤษฎีของยุโรปและอเมริกาไปทุกอย่าง

เติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้หนึ่งที่ได้คัดค้านลัทธิอิงรูปแบบและตำราตายตัวโดยอ้างสุภาษิตชาวบ้านของมณฑลอานฮุยว่า “ไม่ว่าจะเป็นแมวเหลืองแมวดำจับหนูได้ก็ถือเป็นแมวดี” ซึ่งก็คงจะจริงเพราะเศรษฐกิจของจีนได้เจริญเติบโตจนเป็นที่สองของโลกไปแล้ว ฉันใดฉันนั้นการนำเสนอแนวคิดที่อาจนอกกรอบไปจากหลักการประชาธิปไตยที่ได้นำมาใช้กันในหลายประเทศ ก็อาจทำให้มีคนวิจารณ์ว่า ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่นำเสนอในบทความก่อนหน้านี้ (ปัญหาของคนไทย 2) และบทความนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ถ้านำมาปฏิบัติแล้วคนไทยมีความสุข สังคมไม่แตกแยกและประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้า ก็น่าจะถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่ใช้ได้ซึ่งอาจเรียกกันใหม่ว่า ประชาธิปไตยแบบไทย Thai Democracy ดังนั้นข้อเสนอแนะที่นำเสนอในบทความนี้บางส่วนจะอยู่นอกกรอบหรือนอกกฎเกณฑ์เดิมๆ และอาจไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ใดๆ บางข้อเสนออาจดูแปลกแต่ก็ขอฝากให้ท่านทั้งหลายได้ช่วยกันนำไปวิเคราะห์ สังเคราะห์และปรับเปลี่ยนเป็นการปฏิบัติที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติของเราสืบไป

ปัญหาที่สาม : เรื่องการปฏิรูประบบราชการ - การบริหารและการปกครอง

รูปแบบการบริหารและการปกครองส่วนภูมิภาคยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญของระบบราชการไทย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นตัวแทนจากส่วนกลางไปกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการต่างๆ แต่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องได้ทำให้สภาพแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้เขียนจึงขอนำเสนอข้อเสนอแนะบางประการในการพัฒนาระบบการบริหารและการปกครองของไทยให้ท่านผู้อ่าน คสช.และสมาชิกสภาปฏิรูปในอนาคต ได้นำไปพิจารณาตามความเหมาะสม ดังนี้

1. เรื่อง การกระจายอำนาจการปกครองโดยการจัดตั้งองค์กรเพื่อปกครองพื้นที่กลุ่มจังหวัด

การจัดตั้งองค์กรเพื่อบริหารราชการและปกครองพื้นที่กลุ่มจังหวัด (Provincial Cluster Organization หรือ PCO) เป็นรูปแบบการกระจายอำนาจการปกครองที่มีเขตพื้นที่ตั้งแต่ 2 จังหวัดขึ้นไป สมมติเช่นการจัดตั้งเขตพื้นที่การปกครองกลุ่ม 7 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนบนในรูปที่ 6 ซึ่งได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี

รูปที่ 6 ตัวอย่างการจัดองค์กรเพื่อปกครองเขตพื้นที่กลุ่ม 7 จังหวัด

พังงา นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และกระบี่ เพื่อให้รับผิดชอบการบริหารราชการและการปกครองในพื้นที่ 7 จังหวัดซึ่งรวมทั้งการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วย โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้

ก. คณะกรรมการบริหาร PCO

ข. ประธานคณะกรรมการบริหารฯ (แต่งตั้ง)

ค. รองประธานคณะกรรมการบริหารฯ (แต่งตั้ง)

ง. เลขาธิการคณะกรรมการบริหารฯ (ขรก.)

จ. สภาประชาชนกลุ่มจังหวัด (เลือกตั้ง)

ฉ. ประธานสภาประชาชนกลุ่มจังหวัด (เลือกตั้ง)

ช. รองประธานสภาประชาชนกลุ่มจังหวัด (เลือกตั้ง)

องค์ประกอบที่สำคัญของการกระจายอำนาจการปกครองในรูปแบบกลุ่มจังหวัด(PCO) มีดังนี้

ก. คณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัด

ให้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการ และแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัด (มีจำนวนไม่เกิน 21 คน) มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล ควรกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชา และกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยในพื้นที่ ยกเว้นตุลาการ อัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หน่วยงานที่สังกัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักนายกฯ และองค์กรอิสระต่างๆ และขึ้นตรงต่อคณะกรรมการบริหารและปกครองพื้นที่กลุ่มจังหวัดแห่งชาติ ดูรูปที่ 6 และมีองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัด ที่สำคัญดังนี้

(1) ประธานคณะกรรมการ 1 ตำแหน่ง (แต่งตั้ง)

(2) รองประธานคณะกรรมการ 2 ตำแหน่ง (ขรก.1 และ ขกม. 1)

(3) เลขาธิการคณะกรรมการ 1 ตำแหน่ง (ขรก.)

(4) รองเลขาธิการคณะกรรมการ 2 ตำแหน่ง (ขรก.1 และ ขกม. 1)

(5) กรรมการ 15 ตำแหน่ง (ผู้ว่าฯ 7, ตร.1, ทหาร 2, อื่นๆ 5)

(คำย่อ : ขรก.คือ ข้าราชการประจำ,ขกม. คือ ข้าราชการการเมือง, ตร. คือ ตำรวจ)

ข. สภาประชาชนของกลุ่มจังหวัด

ให้มีตัวแทนประชาชนมาจากการเลือกตั้งใน 7 จังหวัดมีจำนวน 21 คนและตัวแทนสาขาอาชีพซึ่งเลือกจากหอการค้าจังหวัด 7 คน, กลุ่มอาชีพความมั่นคง 14 คน (กองทัพไทย, ทบ.,ทร. และทอ.), กลุ่มครูอาจารย์ 10 คน, กลุ่มชาวนาและเกษตรกร 10 คน, กลุ่มผู้ใช้แรงงานและเจ้าของกิจการ 10 คน, ตัวแทนกลุ่มแพทย์เภสัชและสาธารณสุข 7 คน, ตัวแทนกลุ่มช่างและวิศวกร 7 คน, กลุ่มงานยุติธรรมและตำรวจ 7 คน, กลุ่มงานราชการอื่นๆ 10 คน กลุ่มบัญชีการเงินและการธนาคาร 7 คน และตัวแทนกลุ่มองค์กรอิสระ 5 คน และอาชีพอิสระอื่นๆ 5 คน รวมทั้งสิ้นเป็น 120 คน โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

(1) มีอำนาจในการตรวจสอบลงมติรับรองการแต่งตั้ง และถอดถอน ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อประธานฯ รองประธานฯ เลขาธิการฯ และกรรมการในคณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัด PCO

(2) ให้คำแนะนำในการบริหารราชการและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในเขตพื้นที่การปกครองแก่คณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัด PCO

(3) รับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนและเจ้าหน้าที่ เพื่อพิจารณาตรวจสอบ สอบสวน และเสนอรายงานผลพร้อมข้อเสนอแนะให้แก่คณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัด เพื่อนำไปดำเนินให้ถูกต้องต่อไป

(4) มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบหรือยับยั้งมาตรการต่างๆ ที่คณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัดจะกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อบังคับในเขตพื้นที่การปกครองกลุ่มจังหวัด ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นใดที่ได้ประกาศใช้บังคับไปก่อนหน้านี้แล้ว

(5) ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัด และหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในสายการบังคับบัญชาของคณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัด พร้อมทั้งจัดทำรายงานสรุปผลการตรวจสอบปีละ 1 ครั้ง พร้อมมติรับรองหรือถอดถอนคณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัด เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารและปกครองพื้นที่กลุ่มจังหวัดแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ค. คุณสมบัติของประธาน รองประธาน และเลขาธิการ คณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัด

(1) คุณสมบัติเฉพาะ (ที่สำคัญ-ตัวอย่าง)

- ความรู้ไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาโท (ปริญญาตรีไม่จำกัดสาขา)

- ปริญญาโทจะต้องจบในสาขาดังต่อไปนี้คือ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บัญชี บริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตย์ เกษตรศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ รวมทั้งแพทย์เฉพาะทางด้านการทหาร และด้านความมั่นคง

- เคยรับราชการหรือเป็นพนักงานของรัฐ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี

- ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือถือหุ้นในองค์กรภาครัฐและธุรกิจอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด ยกเว้นองค์กรที่เป็นมูลนิธิหรือองค์กรการกุศลต่างๆ

(2) คุณสมบัติทั่วไป (ที่สำคัญ-ตัวอย่าง)

- มีคุณสมบัติทั่วไปเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนหรือข้าราชการทหาร

- บิดา มารดาต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิดเท่านั้น

- มีความรู้ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับที่ปฏิบัติงานได้

- มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี และต้องไม่เกิน 75 ปี

- มีสุขภาพที่แข็งแรง สุขภาพจิตปกติ และไม่มีความผิดปกติทางเพศใดๆ

(3) การดำรงตำแหน่ง และสถานภาพของประธานคณะกรรมการบริหารฯ (ตัวอย่าง)

นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารและปกครองพื้นที่กลุ่มจังหวัดแห่งชาติ เป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งประธานฯ รองประธานฯ และเลขาธิการคณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัดให้สภาประชาชนของกลุ่มจังหวัดพิจารณาและลงมติรับรอง จากนั้นจึงจะนำรายชื่อทูลเกล้าฯ เพื่อทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารฯ จะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ให้ประธานคณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัดมีฐานะเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี และขึ้นตรงต่อคณะกรรมการบริหารและปกครองพื้นที่กลุ่มจังหวัดแห่งชาติ

มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินตามกฎหมาย และตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี

ออกจากตำแหน่งเมื่อสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง ลาออก หรือถูกถอดถอนตามมติของสภาประชาชนของกลุ่มจังหวัด หรือถูกปรับออกตามมติคณะรัฐมนตรี

ง. สภาประชาชนของกลุ่ม 7 จังหวัดภาคใต้ (ตอนบน-ตัวอย่าง)

(1) ตัวแทนประชาชนที่เป็นตัวแทนจังหวัดจำนวน 21 คน

(2) ตัวแทนประชาชนที่เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพในพื้นที่จำนวน 99 คน

จ. หลักการสำคัญของรูปแบบการบริหารและการปกครองแบบกลุ่มจังหวัด PCO (ดูรูปที่ 7)

(1) การกำหนดเขตการปกครองที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าจังหวัด โดยการรวมกันเป็นกลุ่มจังหวัดจะทำให้มีขีดความสามารถในการช่วยเหลือกันและกันได้มากขึ้น ดูรูปที่ 7 เช่น รายได้จากบางจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มสูงกว่าจังหวัดอื่นในกลุ่ม ก็จะนำไปเฉลี่ยช่วยจังหวัดที่มีรายได้น้อยกว่าได้ ซึ่งจะทำให้การสนับสนุนงบประมาณของรัฐบาลแห่งชาติที่ให้แก่กลุ่มจังหวัดไม่เป็นภาระมากจนเกินขีดความสามารถของรัฐบาลแห่งชาติ เป็นต้น

(2) ในแต่ละกลุ่มจังหวัดหรือ PCO จะต้องมีจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการและการปกครองที่ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลแห่งชาติ (กรุงเทพฯ) ทำให้การตัดสินใจดำเนินการในการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือการแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ในพื้นที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ดูรูปที่ 6 และ 7 ประกอบ

(3) จะต้องมีการแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการจัดเก็บภาษีระหว่างรัฐบาลแห่งชาติกับกลุ่มจังหวัด PCO ให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้การปฏิบัติงานและการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนกันและจะทำให้กลุ่มจังหวัดทราบว่าจะมีรายได้ต่างๆ เพียงพอในการบริหารงานหรือไม่ และรัฐบาลแห่งชาติจะต้องจัดสรรงบประมาณสนับสนุนแต่ละกลุ่มจังหวัดอีกเท่าใด โดยพิจารณาจากโครงการและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของแต่ละกลุ่มจังหวัด

(4) นอกจากจะพัฒนาจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการและการปกครองเสมือนเป็นกรุงเทพมหานครในกลุ่มจังหวัดนั้นแล้ว ก็ควรพัฒนาจังหวัดอื่นในกลุ่มให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคม เช่น มีสนามบิน สถานีรถไฟที่ได้มาตรฐานโลก, พัฒนาเป็นศูนย์กลางการศึกษาโดยจะต้องมีมหาวิทยาลัยของรัฐที่ได้มาตรฐานโลกอย่างน้อย 1-2 แห่ง (ใกล้เคียงหรือเทียบเท่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น), พัฒนาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมประเภทที่ใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของแรงงานในพื้นที่ และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมประเภทใดประเภทหนึ่งก็จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเภทนั้น เช่น กลุ่มจังหวัดใดเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของประเทศ ก็จะมีอุตสาหกรรมอะไหล่รถยนต์ในกลุ่มจังหวัดนั้นด้วย, เป็นศูนย์กลางการผลิตด้านการเกษตรหรือการประมง, พัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ เช่น มีสถาบันการศึกษาทางการแพทย์ และโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานโลกและเป็นศูนย์กลางด้านการพาณิชย์ต่างๆ เช่น การพัฒนาจังหวัดจันทบุรีให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าแร่มีค่า (พลอยและทับทิม) ของประเทศ เป็นต้น

(5) ผลจากข้อ (4) ทำให้เราต้องออกแบบประเทศไทยใหม่ (Design Thailand) โดยกำหนดว่า จังหวัดใดจะทำอะไร จะมุ่งด้านอุตสาหกรรมหรือด้านการเกษตร มีสถานภาพอย่างไร เป็นศูนย์กลางการบริหารของกลุ่มจังหวัดหรือเป็นศูนย์กลางการศึกษา และที่สำคัญ จังหวัดใดที่เราจะต้องอนุรักษ์และสงวนไว้ให้สำหรับคนไทยเท่านั้น ห้ามคนต่างชาติมาตั้งรกรากหรือมีกรรมสิทธิ์ร่วมในอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทในจังหวัดที่สงวนไว้เฉพาะสำหรับคนไทยอย่างเด็ดขาด ขอยกตัวอย่างเช่น จังหวัดสุโขทัย อยุธยา นครราชสีมา นครศรีธรรมราช กาญจนบุรี ลพบุรี กระบี่ ปัตตานี อุบลราชธานี ภูเก็ต บุรีรัมย์ และพิษณุโลก เป็นต้น เพราะจังหวัดดังกล่าวจะมีโบราณสถานต่างๆ และประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน หรือมีแร่ธาตุทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เป็นจำนวนมาก จึงไม่ควรให้คนต่างชาติเข้ามามีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ในจังหวัดดังกล่าว และควรอนุรักษ์พื้นที่ในจังหวัดดังกล่าวไว้ให้เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดีควรเปิดโอกาสให้ชาวต่างประเทศได้เข้าไปเยี่ยมชมและพักค้างคืนในจังหวัดเหล่านี้ได้ในช่วงเวลาของการท่องเที่ยวเท่านั้น

รูปที่ 7 ตัวอย่างการกระจายอำนาจโดยการจัดแบ่งพื้นที่การปกครองแบบกลุ่มจังหวัด (PCO)

(6) ประธานคณะกรรมการกลุ่มจังหวัดต่างๆ จะต้องเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารและปกครองพื้นที่กลุ่มจังหวัดแห่งชาติด้วย ซึ่งได้เขียนไว้ในรูปที่ 6 เพื่อแสดงถึงการกระจายอำนาจในการบริหารและการปกครองในรูปแบบกลุ่มจังหวัดต่างๆ (Provincial Clusters)โดยตัวอย่างการจัดองค์การปกครองพื้นที่กลุ่มจังหวัดที่ 1 ซึ่งมี 7 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และกระบี่ได้แสดงในรูปที่ 8

รูปที่ 8 ตัวอย่างโครงสร้างคณะกรรมการบริหารและปกครองพื้นที่กลุ่มจังหวัดแห่งชาติ

(7) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการคัดเลือกและแต่งตั้งจากข้าราชการที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดจากทุกกระทรวงทบวงกรม เนื่องจากข้าราชการที่ไม่ได้อยู่ในกระทรวงมหาดไทยแต่มีความรู้และมีความสามารถในกระทรวงต่างๆ มีอยู่เป็นจำนวนมากเช่น แพทย์ วิศวกร ทหาร ตำรวจ นักบัญชี การเงิน การคลัง นักการทูต และนิติกร ต่างก็มีความรู้ความสามารถสมควรได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดได้เช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายปกครองที่จบรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ นอกจากนี้ในจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ควรเพิ่มตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายทหาร (ควรได้รับการคัดเลือกจากข้าราชการทหาร) และรองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายต่างประเทศ (ควรได้รับการคัดเลือกจากข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศหรือจากสถาบันการศึกษาที่ได้มาตรฐานต่างๆ)

(8) หน่วยงานด้านรักษาความปลอดภัย คือ ตำรวจจะต้องกระจายอำนาจการปฏิบัติงานและบริหาร รวมทั้งต้องจัดองค์กรให้สอดคล้องกับรูปแบบการบริหารราชการและการปกครองพื้นที่กลุ่มจังหวัดด้วยโดยจัดแบ่งโครงสร้างเป็น 3 ระดับ คือ ระดับสถานีตำรวจรับผิดชอบในเขตพื้นที่, ระดับกองกำกับการรับผิดชอบในพื้นที่จังหวัด และระดับกองบังคับการทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและให้การสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจทุกหน่วยในพื้นที่กลุ่มจังหวัดสำหรับหน่วยงานส่วนกลางให้ทำหน้าที่ในด้านวิชาการ บริหารทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา การจัดหา และการให้สนับสนุนการปฏิบัติงานแก่หน่วยงานตำรวจในพื้นที่ และที่สำคัญคือ หัวหน้าหน่วยงานส่วนกลางไม่ควรมียศแบบทหารอีกต่อไป

(9) หน่วยงานด้านความมั่นคงซึ่งได้แก่ ทหารจะต้องจัดหน่วยระดับกองพลทหารราบอย่างน้อย 1กองพลในพื้นที่แต่ละกลุ่มจังหวัด เพื่อรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงและภัยคุกคามต่างๆ และเป็นกำลังสนับสนุนให้แก่ส่วนราชการอื่นในพื้นที่ของกลุ่มจังหวัด

(10) การย้ายข้ามกลุ่มจังหวัดของข้าราชการจะต้องได้รับความยินยอมจากกลุ่มจังหวัดต้นทาง กลุ่มจังหวัดปลายทาง และหน่วยงานต้นสังกัด

(11) การกำหนดให้ประธานคณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัดมีฐานะเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ก็เพื่อให้ประธานคณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัดทุกกลุ่มสามารถเข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรี(ซึ่งอาจเรียก คณะรัฐมนตรีทั้งหมดนี้ว่า Super Cabinet) เพื่อรายงานเหตุการณ์และผลการปฏิบัติงานที่เป็นเรื่องสำคัญต่างๆ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีร่วมกันกันพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดให้ทันเหตุการณ์หรือทันกับความต้องการ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ฉ. สรุป

ผู้เขียนขอถามทุกท่านว่า จะดีกว่าไหม ถ้าประเทศไทยจะมีจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการบริหารและการปกครองที่มีความเจริญใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ จำนวน 12-15 จังหวัด, มีมหาวิทยาลัยที่ได้มาตรฐานใกล้เคียงกับจุฬาฯ และมหิดล ประมาณ 20-30 แห่ง, มีกลุ่มจังหวัดที่เป็นศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่ครบวงจร, มีกลุ่มจังหวัดที่เป็นศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเครื่องไฟฟ้าและไอที, มีจังหวัดที่มีสนามบินและท่าเรือที่ได้มาตรฐานระดับโลก และมีศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมระดับโลกเป็นต้น

ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เป็นเพียงความฝัน แต่ผู้เขียนเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นความจริงได้ในไม่ช้า ถ้าเราสามารถปฏิรูปประเทศและปฏิรูประบบราชการได้เป็นผลสำเร็จ โดยนำรูปแบบการบริหารและการปกครองพื้นที่กลุ่มจังหวัดที่นำเสนอในบทความนี้มาพัฒนาใช้
-------------------------------------------------------------------------
*สอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ udomdee@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น