เอเอฟพี – เที่ยวบิน QZ8501 ของแอร์เอเชียถูกควบคุมโดย “นักบินผู้ช่วย” ที่เป็นชาวฝรั่งเศส ในขณะที่เครื่องกำลังเผชิญสภาพอากาศเลวร้ายจนประสบอุบัติเหตุตกลงสู่ทะเลชวา พนักงานสอบสวนของอินโดนีเซียแถลงล่าสุดวันนี้(29)
คำแถลงดังกล่าวมีขึ้น หลังจากทีมค้นหาและกู้ภัยได้รับแจ้งจากชาวประมงอิเหนาที่พบศพผู้เสียชีวิตจากซากเครื่องบินแอร์เอเชียเพิ่มเติมบริเวณนอกชายฝั่งเกาะสุลาเวสี ห่างจากจุดที่เครื่องบินตกถึง 1,000 กิโลเมตร
เครื่องบินแอร์บัส A320-200 ลำนี้ออกเดินทางจากเมืองสุราบายาเพื่อไปยังสิงคโปร์ในวันที่ 28 ธันวาคม ก่อนจะประสบอุบัติเหตุตกท่ามกลางพายุ ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 162 คนเสียชีวิต
ขณะนี้ ทีมค้นหาสามารถเก็บกู้ศพขึ้นมาได้แล้วเพียง 72 ร่าง
ทีมสืบสวนอินโดนีเซียอยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลจากกล่องดำ ซึ่งประกอบด้วยกล่องบันทึกข้อมูการบินและอุปกรณ์บันทึกเสียงในห้องนักบิน และได้ส่งรายงานเบื้องต้นไปยังองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) แล้วในสัปดาห์นี้
ล่าสุด คณะกรรมการความปลอดภัยขนส่งแห่งชาติอินโดนีเซียได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมวันนี้(29)ว่า เที่ยวบิน QZ8501 ร่วงดิ่งลงสู่ทะเลระหว่างที่นักบินผู้ช่วยชาวฝรั่งเศสเป็นคนควบคุมเครื่อง ไม่ใช่กัปตัน อีริยันโต ซึ่งเป็นอดีตนักบินเครื่องบินขับไล่ที่มีประสบการณ์สูง
“นักบินที่สองเป็นผู้ควบคุมเครื่องบิน” มาร์โจโน ซิสโวสุวาร์โน หัวหน้าพนักงานสอบสวน แถลงต่อสื่อมวลชนที่กรุงจาการ์ตา และกล่าวเสริมว่า กัปตัน อีริยันโต เป็นผู้สังเกตการณ์การบินในขณะที่เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น
เออร์ตาตา ลานังกาลีห์ ซึ่งอยู่ในทีมสอบสวน ยืนยันว่า เครื่องบินลำนี้ไต่ระดับความสูงอย่างรวดเร็วก่อนที่จะตก โดยเปลี่ยนจากระดับ 32,000 ฟุตเป็น 37,400 ฟุตภายในเวลาเพียง 30 วินาที จากนั้นก็ร่วงกลับลงมาที่ 32,000 ฟุต และใช้เวลาอีกประมาณ 3 นาทีดิ่งลงสู่ทะเล ก่อนที่ข้อมูลกล่องดำจะขาดหายไป
พนักงานสอบสวนเผยด้วยว่า ในช่วงเวลานั้นมีกลุ่มเมฆคิวมูโลนิมบัส ซึ่งเป็นเมฆฝนฟ้าคะนองก้อนใหญ่และหนาทึบ ลอยสูงขึ้นไปในชั้นบรรยากาศถึง 44,000 ฟุต แต่ไม่ระบุชัดเจนว่าเครื่องบิน QA8501 ได้บินฝ่าเข้าไปในกลุ่มเมฆดังกล่าวหรือไม่
เมฆคิวมูโลนิมบัสอาจทำให้เครื่องบินต้องเผชิญกับกระแสอากาศปั่นป่วน (turbulence) จนอาจเกิดอันตราย
ซิสโวสุวาร์โน ยืนยันว่า เครื่องบินลำนี้มีสภาพสมบูรณ์ก่อนที่จะประสบอุบัติเหตุ
แม้รายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้นจะไม่ถูกเผยแพร่ แต่พนักงานสอบสวนหวังว่าจะสามารถสรุปรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ภายใน 8 เดือน ซึ่งจะมีการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบด้วย
กองทัพเรืออินโดนีเซียซึ่งได้ส่งทั้งเจ้าหน้าที่และเครื่องมือเข้ามาช่วยติดตามค้นหาซากเครื่องบิน ประกาศถอนตัวจากภารกิจค้นหาในสัปดาห์นี้ เนื่องจากไม่พบศพผู้โดยสารเพิ่มเติมในส่วนลำตัวหลักของเครื่อง และยังไม่สามารถยกชิ้นส่วนดังกล่าวกลับขึ้นสู่ผิวน้ำได้ อย่างไรก็ดี สำนักงานค้นหาและช่วยชีวิตพลเรือนจะยังเดินหน้าติดตามหาร่างผู้โดยสารที่สูญหายต่อไป