xs
xsm
sm
md
lg

ทีมค้นหาอิเหนาพบวัตถุคล้ายลำตัวเครื่อง “แอร์เอเชีย” ใต้ทะเล จุดประกายหวังพบกล่องดำครั้งใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่หน่วยค้นหาระดมกำลังกันกู้ส่วนหางของเที่ยวบิน QZ8501 ขึ้นมาจากทะเลชวาเมื่อวันเสาร์ (10 ม.ค.)
บีบีซี - หน่วยค้นหาและช่วยชีวิตของอินโดนีเซียเชื่อว่า พวกเขาอาจค้นพบตำแหน่ง “ส่วนลำตัว” เที่ยวบิน QZ8501 ของสายการบินแอร์เอเชียที่นอนอยู่ใต้ทะเลชวา

เจ้าหน้าที่ระบุว่า ตรวจพบวัตถุที่มีรูปทรงคล้ายส่วนลำตัวเครื่อง ระหว่างใช้คลื่นโซนาร์สแกนหาวัตถุใต้น้ำ ภายในพื้นที่ค้นหาของทะเลชวา

เจ้าหน้าที่ตั้งความหวังไว้ว่าจะพบอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินที่เรียกกันว่า “กล่องดำ” ใกล้กับวัตถุชิ้นดังกล่าว ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดที่มีการพบหางเครื่องบินเมื่อก่อนหน้านี้

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม อากาศยานโดยสารลำนี้ พร้อมด้วยลูกเรือและผู้โดยสารรวม 162 คนได้อันตรธานหายไปจากจอเรดาร์ ระหว่างออกเดินทางจากเมืองสุราบายาของอินโดนีเซีย ไปยังสิงคโปร์ ในช่วงที่สภาพอากาศเลวร้าย



มีความเป็นไปได้สูง

สุปรียาดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานด้านปฏิบัติการของสำนักงานค้นหาและช่วยชีวิตแห่งชาติอินโดนีเซีย ระบุว่า จากการใช้คลื่นโซนาร์สแกนใต้ทะเลพบว่า มีวัตถุขนาด 10 เมตร X 4 เมตร X 2.5 เมตร อยู่ใต้ทะเล

เขาเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “พวกเขาสงสัยกันว่า วัตถุชิ้นนี้อาจเป็นลำตัวเครื่องบิน และมีความเป็นไปได้สูงที่จะพบกล่องดำอยู่ใกล้ลำตัวเครื่อง”

เขาระบุเพิ่มเติมว่า ได้ส่งทีมนักประดาน้ำลงไปตรวจสอบในจุดดังกล่าวแล้ว แต่สภาพอากาศเลวร้ายได้กลายเป็นอุปสรรคในภารกิจค้นหา

สุปรียาดีกล่าวว่า “หากวัตถุดังกล่าวเป็นลำตัวเครื่องบินจริง เราก็จะได้นำร่างผู้โดยสารที่ติดอยู่ข้างในออกมา จากนั้นเราจึงค่อยจะลงมือค้นหากล่องดำ”

นอกจากนี้ หน่วยค้นหายังสามารถตรวจจับสัญญาณปิง ซึ่งเชื่อว่าถูกส่งออกมาจากกล่องดำของอากาศยาน โดยพวกเขาได้ยินเสียงสัญญาณดังอยู่ใกล้จุดที่มีการกู้หางเครื่องบินแอร์บัส A320-200 ขึ้นมาวานนี้ (10)

แม้ว่าเจ้าหน้าที่หน่วยค้นหาได้ช่วยกันกู้ศพผู้เสียชีวิต และซากเครื่องบินขึ้นมาจากท้องทะเล แต่กระบวนการดังกล่าวก็ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ทำให้ในตอนนี้สามารถนำร่างเหยื่อขึ้นมาจากทะเลได้ 48 คนเท่านั้น

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินลำนี้ตกนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ QZ8501 ต้องเผชิญสภาพอากาศเลวร้ายจนนักบินต้องขอเปลี่ยนเส้นทางบิน ก่อนที่จะขาดการติดต่อกับหน่วยควบคุมการจราจรทางอากาศไป

ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว อุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ “กล่องดำ” มักติดตั้งอยู่ในส่วนท้ายของเครื่องบิน

อุปกรณ์ชิ้นนี้ได้รับการออกแบบมาให้มีทนทานต่อเหตุการณ์เครื่องบินตก และจมลงใต้น้ำ นอกจากนี้ยังบรรจุเครื่องส่งสัญญาณระบุตำแหน่งใต้น้ำไว้สำหรับปล่อยสัญญาณ “ปิง” ได้นานอย่างน้อย 30 วัน

การค้นหากล่องดำนั้นถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญที่สุดของทีมค้นหา เนื่องจากเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้อาจชี้เบาะแสสำคัญในวาระสุดท้าย ก่อนที่เที่ยวบินนี้จะดำดิ่งลงสู่ทะเลชวา

แผนภาพแสดงเส้นทางบิน และพื้นที่ค้นหาเที่ยวบิน QZ8501

กำลังโหลดความคิดเห็น