ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ม.อ.แถลงจัดงานช้าง “สัมมนานานาชาติอิสลามศึกษา” 23-25 มี.ค.นี้ ระดมปราชญ์ นักวิชาการ และนักการศาสนากว่า 400 คน จาก 30 ประเทศทั่วโลกร่วมค้นหา “ค่านิยมของอิสลามในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง” หวังเสริมหลักสูตรของวิทยาลัยอิสลาม และนำสู่สันติสุขชายแดนใต้
วันนี้ (13 มี.ค.) รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสุกล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยระหว่างเป็นประธานแถลงข่าวการสัมมนานานาชาติอิสลามศึกษา ว่าด้วยเรื่องค่านิยมของอิสลามในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 มี.ค.นี้ ณ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานีว่า การจัดสัมมนาดังกล่าวเพื่อเป็นการชี้นำให้สังคมมีความสามัคคี ความสงบสุขอย่างยั่งยืนในสังคมพหุวัฒนธรรม และได้รับรู้แนวคิดจากปราชญ์ด้านอิสลามศึกษาที่จะเดินทางมาจาก 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสามารถนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาอิสลามศึกษาในประเทศไทยได้
การสัมมนาครั้งนี้ นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะแสวงหา และกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางวิชาการในประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาอิสลามในประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไป รวมถึงการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาที่จะเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการโอนย้ายหน่วยกิตระหว่างมหาวิทยาลัยเครือข่าย และการเปิดหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยพันธมิตร ซึ่งสอดคล้องต่อนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในอาเซียน ตลอดจนช่วยเสริมสร้างบรรยากาศทางวิชาการ และสร้างสังคมสันติสุข และสมานฉันท์ที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ. และคณะกรรมการอำนวยการจัดการสัมมนานานาชาติฯ ครั้งที่ 3 กล่าวในเวทีเดียวกันว่า การสัมมนานานาชาติอิสลามศึกษานับเป็นเวทีระดับสุดยอดของประเทศที่จัดขึ้นในภูมิภาค ทั้งนี้ นอกจากความสำคัญของตัวผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เป็นนักวิชาการ นักการศาสนา รัฐมนตรี และจุฬาราชมนตรีจากประเทศต่างๆ จากทุกทวีปรวม 30 ประเทศแล้ว ผลงานวิชาการที่ได้รับการนำเสนอจะเป็นการชี้นำสังคมให้เข้าใจอิสลามอย่างถูกต้อง ไม่บิดเบือน ส่งผลให้เกิดความเข้าใจ สร้างความสมานฉันท์ในสังคมพหุวัฒนธรรมในทุกสังคมทั่วโลก
นอกจากนี้ ผลของการสัมมนายังจะเป็นการช่วยยกมาตรฐานด้านอิสลามศึกษาของประเทศต่างๆ และส่งเสริมให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนใต้ และในระดับสังคมโลก และช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสามารถก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสมเกียรติ การสัมมนาครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญต่อการอภิปรายในหัวข้อที่เกี่ยวกับแนวคิดค่านิยมของอิสลาม และร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ที่หลากหลายระหว่างชุมชนต่างศาสนิกในการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง ซึ่งคาดหวังว่า สถาบันการศึกษาต่างๆ และนักวิชาการทั้งหลายจะร่วมดำเนินการ และสร้างกลไกสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณค่าดังกล่าว
ขณะที่ ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเสริมว่า การสัมมนาในครั้งนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากการสัมมนานานาชาติทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา กล่าวคือ การสัมมนาครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-23 ธ.ค.2553 ในหัวข้อบทบาทอิสลามศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์ มีนักวิชาการอิสลามศึกษาจาก 16 ประเทศ ได้ร่วมกันกำหนดมีสาระสำคัญของ “ปฏิญญาปัตตานี” ด้วย
สำหรับครั้งที่ 2 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-16 ม.ค.2556 มีปราชญ์มุสลิม และนักวิชาการอิสลามศึกษาจาก 30 ประเทศเข้าร่วมระดมแนวคิดในหัวข้ออิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง โอกาส และสิ่งท้าทาย ผลจากการสัมมนาครั้งนั้นได้ยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษาให้ก้าวสู่นานาชาติ สอดคล้องต่อนโยบายรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียน ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมุสลิม และสร้างสังคมสันติสุขที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
“โดยเฉพาะการยืนยันความเป็นมุสลิมสายกลางของประเทศไทยต่อสายตาชาวโลก การเป็นมุสลิมในมิติเสรีภาพทางวิชาการ และการนับถือศาสนา เกิดเครือข่ายอิสลามศึกษาและมีการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ และนักศึกษาทางด้านวิชาการ การวิจัย การประชุมในกลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประเทศอาหรับ และกลุ่มประเทศมุสลิมอื่นๆ” ผศ.สมปอง กล่าวและว่า
สำหรับการสัมมนานานาชาติอิสลามศึกษา ครั้งที่ 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น เราจัดขึ้นในหัวข้อค่านิยมของอิสลามในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง (Islamic Values in a Changing World) ในระหว่างวันที่ 23-25 มี.ค.นี้ จะมีการนำเสนอความสำคัญของค่านิยมอิสลาม และวิธีการประยุกต์ใช้แนวคิดสู่การสร้างสันติภาพ และความสมานฉันท์ในสังคม
ด้าน ดร.ยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมการว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้มีหนังสือเชิญนักวิชาการทางด้านอิสลามศึกษาจาก 30 ประเทศ รวมแล้วกว่า 400 คน และมีประเทศต่างๆ ตอบรับเข้าร่วมการสัมมนาแล้ว 24 ประเทศทั่วโลก โดยในวันที่ 25 มี.ค.จะมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา พร้อมด้วย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติมาร่วมงานด้วย
นอกจากนั้น ยังจะมีการแสดงปาฐกถาพิเศษ การนำเสนอบทความจากนักวิชาการทางอิสลามศึกษาที่มีชื่อเสียง เช่น Sheikh Abdel Kareem El-Khasawneh มุฟตีสูงสุดประเทศจอร์แดน Sheikh Omar UbeidHasanah อธิบดีกรมการวิจัยและอิสลามศึกษา กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม ประเทศกาตาร์ Prof. Dr. Soleh bin Husain Al-Aayed ประธานกรรมการองค์การฮาลาลระหว่างประเทศ องค์การสันนิบาตชาติมุสลิม Prof. Dato’ Dr. Sano KoutoubMoustapha รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประเทศกินี Prof. Dr.Mohd. Kamal Hassan ผู้อำนวยการสถาบันแนวคิดและอารยธรรมอิสลามระหว่างประเทศ ประเทศมาเลเซีย
“การสร้างความเข้มแข็งในหลักสูตรอิสลามศึกษานานาชาติ ม.อ.ให้มีความเท่าเทียมในระดับเดียวกับนานาชาตินั้น จำเป็นจะต้องแสวงหาพันธมิตรทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่จัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา และในขณะเดียวกัน หลักสูตรอิสลามศึกษาจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมุสลิม และสร้างสังคมสันติสุข และสมานฉันท์ที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในอนาคต ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้ผู้นำศาสนา และครูจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในไทยได้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาด้วย เพื่อที่จะได้นำความรู้ไปถ่ายทอดให้เยาวชนได้รับทราบถึงความร่วมมือและแนวคิด” ดร.ยูโซะ ตาเละ กล่าวตบท้าย