เอเจนซีส์ - จอร์แดนลงมือในช่วงก่อนเช้ามืดวันพุธ (4 ก.พ.) ประหารชีวิตนักโทษที่เป็นนักรบญิฮัดชาวอิรัก 2 คน โดยหนึ่งในนั้นเป็นมือระเบิดหญิงที่เคยเป็นเป้าหมายการแลกตัวประกัน เป็นการตอบโต้ล้างแค้นที่ “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) เผานักบินจอร์แดนทั้งเป็น และมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอสยองนี้เมื่อวันอังคาร (3) ขณะที่ทั่วโลกพร้อมใจประณามความเหี้ยมโหดของพวกหัวรุนแรงสุดโต่งกลุ่มนี้ “โอบามา” ประกาศว่าแนวร่วมต่อต้านไอเอสจะระมัดระวังและผนึกกำลังแน่นหนายิ่งขึ้นในการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้าย ส่วนชาติมุสลิมแถลงว่าพฤติการณ์เช่นนี้ไม่ใช่อิสลาม หากแต่เป็นการบิดเบือนคุณค่าของอิสลาม และมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮาร์ ศูนย์รวมนักการศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุดของนิกายสุหนี่ เรียกร้องให้ตอบโต้ด้วยการสังหาร, ตรึงกางเขน, หรือตัดแขนขาพวกนักรบไอเอส
โมฮัมหมัด อัล-โมมานี โฆษกรัฐบาลจอร์แดนแถลงว่า ซาจิดา อัล-รีชาวี มือระเบิดหญิง และ ซียาด อัล-คาร์โบลี ผู้ปฏิบัติการของเครือข่ายอัลกออิดะห์ ซึ่งต่างเป็นชาวอิรักทั้งคู่ ได้ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอเมื่อเวลา 04.00 น.วันพุธ ที่เรือนจำสวากาใกล้เมืองหลวงอัมมาน
จอร์แดนประกาศว่า การประหารนักโทษ 2 คนนี้ เป็นการตอบโต้ที่กลุ่มไอเอส สังหาร โมอัซ อัล-คัสซัสเบห์ นักบินจอร์แดนที่ถูกจับหลังจากเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 ของเขาตกในซีเรียเมื่อเดือนธันวาคม นับเป็นนักบินที่เข้าร่วมปฏิบัติการโจมตีไอเอสคนแรกที่ถูกจับ และเชื่อกันว่า การสังหารนักบินผู้นี้มีจุดประสงค์เพื่อกดดันให้จอร์แดนถอนตัวจากปฏิบัติการดังกล่าว
ทั้งนี้ สถานีทีวีจอร์แดนรายงานว่า คัสซัสเบห์น่าจะถูกสังหารตั้งแต่วันที่ 3 เดือนที่แล้ว ก่อนที่ไอเอสจะเสแสร้งเสนอแลกเปลี่ยนชีวิตเขาและเคนจิ โกโตะ นักข่าวญี่ปุ่น ที่ถูกสังหารเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (31 ม.ค.) กับการปล่อยตัวรีชาวี
รีชาวี วัย 44 ปี ต้องโทษประหารจากการมีส่วนร่วมในเหตุระเบิดหลายครั้งในอัมมานเมื่อปี 2005 ส่วนคาร์โบลีถูกตัดสินประหารในปี 2007 ข้อหาก่อการร้าย ซึ่งรวมถึงการสังหารชาวจอร์แดนคนหนึ่งในอิรัก
อัมมานประกาศในวันอังคาร (3) ว่า จะแก้แค้นให้คัสซัสเบห์ ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากไอเอสแพร่คลิปการเผานักบินผู้นี้ทั้งเป็นภายในกรงเหล็ก ซึ่งเรียกเสียงประณามจากทั่วโลก รวมทั้งทำให้นานาชาติประกาศผนึกกำลังโค่นล้มนักรบอิสลามหัวรุนแรงต่อไป
คลิปดังกล่าวมีความยาว 22 นาที โดยภาพแรกจะเห็นคัสซัสเบห์นั่งที่โต๊ะซึ่งมีธงชาติตะวันตกและอาหรับชาติต่างๆ ที่ร่วมปฏิบัติการโจมตีไอเอสเป็นฉากหลัง จากนั้นจะเป็นภาพคัสซัสเบห์ในชุดนักโทษสีส้มห้อมล้อมด้วยนักรบไอเอสติดอาวุธและสวมหน้ากากปิดบังใบหน้า ก่อนตัดไปที่ภาพคัสซัสเบห์ยืนอยู่ในกรงเหล็กโดยที่ตัวดูเหมือนเปียกชุ่มไปด้วยน้ำมัน ก่อนที่นักรบคนหนึ่งจะใช้คบเพลิงจ่อไปบนน้ำมันที่ราดเป็นทางไปยังกรงเพื่อให้ไฟวิ่งไปเผาร่างคัสซัสเบห์ทั้งเป็น
การสังหารคัสซัสเบห์สร้างความโกรธแค้นอย่างยิ่งให้แก่ชาวจอร์แดน โดยมีการชุมนุมประท้วงในกรุงอัมมานและเมืองคารัก บ้านเกิดของคัสซัสเบห์ ซึ่งเป็นชนเผ่าที่มีอิทธิพลในประเทศนี้ มีรายงานด้วยว่า ผู้ประท้วงได้จุดไฟเผาที่ทำการรัฐบาลท้องถิ่นและบรรยากาศเต็มไปด้วยความตึงเครียด
บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์จอร์แดน ไทมส์ฉบับวันพุธระบุว่า จอร์แดนทั้งประเทศจะร่วมกันตอบโต้การสังหารนักบินอย่างโหดเหี้ยมไร้ความปรานี
จอร์แดน พันธมิตรสำคัญของวอชิงตันในตะวันออกกลาง เป็นหนึ่งในหลายชาติอาหรับที่เข้าร่วมการโจมตีทางอากาศต่อไอเอสในอิรักและซีเรียภายใต้การนำของอเมริกา
กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ตรัสระหว่างเยือนวอชิงตันเมื่อวันอังคาร(3) ยกย่องคัสซัสเบห์เป็นวีรบุรุษ และย้ำว่าจอร์แดนจะร่วมกับนานาชาติทำลายล้างไอเอสต่อไป ขณะที่โมมานีประกาศว่า การตอบโต้ของจอร์แดนจะทำให้ “โลกสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น”
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ให้การต้อนรับกษัตริย์จอร์แดนในห้องทำงานรูปไข่ ประณามการสังหารนักบินจอร์แดนว่า เป็นการกระทำที่ขี้ขลาดและชั่วช้า และว่า เหตุการณ์นี้จะทำให้แนวร่วมต่อต้านไอเอสเพิ่มความระมัดระวังและความมุ่งมั่นในการทำลายล้างนักรบหัวรุนแรงกลุ่มนี้
ก่อนหน้านั้น รัฐบาลสหรัฐฯ แถลงยืนยันเจตนารมณ์ให้เงินช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่จอร์แดน 3,000 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 3 ปีจากนี้ไป
สำหรับปฏิกิริยาจากโลกอาหรับและชาติมุสลิม อาเหม็ด อัล-ตอยิบ ผู้นำนักการศาสนาของมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮาร์ ในอียิปต์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้รู้ทางศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุดของนิกายสุหนี่ ได้ออกคำแถลงแสดงความโกรธแค้นต่อการที่ไอเอสเผานักรบจอร์แดนทั้งเป็น โดยระบุว่าเป็น “พฤติการณ์ของคนขี้ขลาด”
การกระทำเช่นนี้ “สมควรที่จะถูกลงโทษตามที่ระบุอ้างอิงไว้ในคัมภีร์กุรอาน ซึ่งให้ลงโทษพวกผู้กดขี่ที่ฉ้อฉล ที่ต่อสู้คัดค้านพระเจ้าและศาสดา นั่นคือ การสังหาร, ตรึงกางเขน, หรือตัดแขนขา”
“อิสลามห้ามการสังหารจิตวิญญาณมนุษย์ผู้บริสุทธิ์ไร้ความผิด ... อิสลามห้ามการทำลายจิตวิญญาณมนุษย์จนพิกลพิการด้วยวิธีการเผาหรือด้วยวิธีอื่นๆ ใดๆ แม้กระทั่งในระหว่างทำสงครามต่อสู้กับศัตรูที่เข้าโจมตีท่าน” ตอยิบระบุในคำแถลง
ส่วนซาอุดีอาระเบียซึ่งถือเป็นบ้านเกิดทางจิตวิญญาณของอิสลาม และเป็นอีกหนึ่งชาติสมาชิกแนวร่วมต่อต้านไอเอส แถลงประณามว่า “อุดมการณ์แนวความคิดที่หลงผิด” ซึ่งอยู่เบื้องหลังการสังหารคัสซัสเบห์ และกล่าวหาไอเอสพยายามบิดเบือนค่านิยมอิสลาม รวมทั้งเรียกร้องให้นานาชาติเพิ่มความพยายามในการต่อสู้กับลัทธิก่อการร้ายทุกรูปแบบ
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ก็บอกว่า การกระทำต่างๆ ของไอเอส “เป็นตัวแทนของเชื้อโรคร้ายที่สังคมอารยะทั้งหลายจะต้องกำจัดให้สิ้นไปอย่างไม่ลังเล”
ขณะที่อิหร่านก็ประณามว่าเป็น “การกระทำที่ไม่ใช่มนุษย์ และไม่ใช่อิสลาม”
ทางด้าน เชิร์ซ เมเฮอร์ จากศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาการใช้ความรุนแรงของคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ชี้ว่า กรณีคัสซัสเบห์เป็นการสังหารตัวประกันที่โหดเหี้ยมและน่าสะอิดสะเอียนที่สุดของไอเอสในรอบสองปีที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ไอเอสได้สังหารนักข่าวอเมริกัน 2 คน เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์อเมริกัน 1 คน และอังกฤษ 2 คนด้วยการตัดศีรษะและเผยแพร่คลิปออนไลน์
เดวิด แอล. ฟิลิปส์ อดีตที่ปรึกษาด้านกิจการตะวันออกกลางของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เชื่อว่าการสังหารคัสซัสเบห์จะปลุกเร้าให้ชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ซึ่งรวมถึงชนเผ่าในอิรัก กลายเป็นปฏิปักษ์ต่อต้านกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง
ฟิลิปส์ที่ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโครงการสร้างสันติภาพและสิทธิมนุษยชนของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเสริมว่า การที่ไอเอสพลาดท่าในระยะหลังอาจทำให้กลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้ตัดสินใจชดเชยด้วยการลงมือสังหารตัวประกันล่าสุดอย่างเหี้ยมโหด