กระบี่ - นักท่องเที่ยวปลื้มหลังพบวาฬหลังค่อม ว่ายน้ำหากินใกล้เกาะห้า อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ชาวบ้านชี้เป็นเหตุผลตอกย้ำว่าไม่ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่
วันนี้ (11 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวประมง และเรือบริการพานักท่องเที่ยวดำน้ำบริเวณเกาะห้า อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ พบปลาวาฬ ขนาดยาวประมาณ 9 เมตร ตัวหนึ่งกำลังว่ายน้ำหากินแพลงก์ตอนอยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยเบื้องต้นสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นปลาวาฬหลังค่อม ซึ่งข้อมูลในเว็บไซต์วิกิพีเดีย ระบุว่า วาฬหลังค่อม หรือวาฬฮัมแบ็ก จัดเป็นวาฬขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ของวาฬทั้งหมด น้ำหนักตัวอาจถึง 45 ตัน มีความยาว 25 เมตร พบกระจายพันธุ์ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือราว 10,000-25,000 ตัว ในปี 2008
วาฬหลังค่อม เป็นวาฬที่หากินด้วยการกรองกิน มีแผ่นกรองกว่า 800 แผ่นที่ขากรรไกรด้านบน เพื่อกรองอาหารประเภทปลา และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น เคย แพลงก์ตอน และเป็นวาฬที่รู้จักการหาอาหารร่วมกัน เช่น การไล่ต้อนฝูงปลา เป็นต้น โดยจะกินอาหารมากถึงวันละ 1 ตัน วาฬหลังค่อมเพศเมีย ตกลูกทุก 2-3 ปี มีระยะเวลาตั้งท้องนาน 11 เดือน ตกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกวาฬจะกินนมจากแม่เป็นปริมาณ 100 แกลลอนทุกๆ วัน
วาฬหลังค่อม เป็นวาฬที่เป็นรู้จักกันเป็นอย่างดีจากพฤติกรรมชอบกระโดดตัวขึ้นเหนือน้ำ ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจสำหรับผู้พบเห็น เหตุที่กระโดดนั้นมีหลายประการ ทั้งกระโดดเพื่อสลัดเพรียงที่เกาะอยู่ตามตัวให้หลุดออก หรือกระโดดเพื่ออวดตัวเมีย เมื่อมีตัวผู้ตัวหนึ่งกระโดดก่อน ตัวอื่นๆ ก็จะกระโดดตามเหมือนแข่งขัน พบกระจายพันธุ์ในทะเลเปิดและมหาสมุทรทั่วโลก จะอพยพจากแหล่งอาหารใกล้ขั้วโลกมาสู่ทะเลเปิดในแถบใกล้เส้นศูนย์สูตรที่อุณหภูมิอบอุ่นกว่า เพื่อผสมพันธุ์ และขยายพันธุ์ ลูกวาฬ จะกำเนิดมาในช่วงนี้ รอจนกระทั่งอายุได้ 5 เดือนที่ลูกวาฬแข็งแรงพอแล้ว แม่วาฬจะพาลูกเดินทางกลับไปสู่ขั้วโลกที่ๆ ซึ่งมีแพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารอุดมกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่บันทึกภาพวาฬหลังค่อมตัวนี้คือ นายเสน่ห์ หรือบังหนิม ย่าแหม ครูสอนดำน้ำเกาะลันตา บันทึกภาพไว้ได้ขณะนำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำ โดยปลาวาฬตัวนี้ได้กระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำหลายครั้ง สร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็นอย่างมาก โดยมีการนำภาพดังกล่าวไปแบ่งปันกันในเฟชบุ๊กอย่างคึกคัก
โดยการพบปลาวาฬตัวนี้เข้ามาหากินบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน เช่นเดียวกับปลาฉลามวาฬที่มีผู้พบเห็นว่าเข้ามาหากินอยู่ในบริเวณใกล้กัน ทำให้ชาวประมง และนักท่องเที่ยวที่พบเห็นระบุว่า สัตว์ทะเลหายากทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นเหตุผลที่ตอกย้ำอย่างชัดเจนได้ว่าเหตุใดภาครัฐจึงไม่ควรมาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.กระบี่