พังงา - ชาวพังงา โวยเรือหลวงพระทองคว่ำหน้า หมดสง่าราศรีใต้ท้องทะเล นักท่องเที่ยวเมินดำน้ำชม วอนผู้เกี่ยวข้องรีบแก้ไขก่อนจะกลายเป็นขยะใต้ทะเล
วันนี้ (24 ธ.ค.) นายธวัชชัย ประมูลทรัพย์ ประธานชมรมดำน้ำสคูบาจังหวัดพังงา เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าว ว่า ทางชมรมฯ ได้ร้องขอให้ทีมงานครูสอนดำน้ำลงสำรวจสภาพของเรือพระทอง นำมาจมลงสู่ท้องทะเลในบริเวณใกล้กับเกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา เพื่อเป็นอุทยานเรียนรู้ธรรมชาติ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักดำน้ำทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ
จากการสำรวจพบว่า สภาพของเรือพระทอง ตอนนี้ไม่ได้อยู่ตามรูปแบบที่โครงการได้วางแผนไว้ และมีแนวโน้มที่จะไม่เกิดประโยชน์แก่จังหวัดพังงา หลังจากใช้เงินงบประมาณจากหลายภาคส่วนจำนวนหลายสิบล้านบาทในการดำเนินการ โดยพบว่า เรือพระทองอยู่ในสภาพคว่ำเกือบสนิทแล้ว อันเนื่องจากการจมลงในครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ เรือจมอยู่ในสภาพนอนตะแคงกึ่งคว่ำ เมื่อเจอกระแสน้ำ และการกดทับของน้ำหนักตัวเรือทำให้ส่วนบนของเรือที่อยู่ด้านล่างจมลงพื้นทรายเรื่อยๆ จนกราบเรือเกือบถึงพื้นทราย
ประธานชมรมพังงาสคูบา กล่าวต่อว่า การกู้เรือพระทองเพื่อจัดวางใหม่เป็นสิ่งที่ต้องลงทุนอีกมาก และต้องสำรวจความชัดเจนในรายละเอียดมากกว่านี้ ส่วนจะคุ้มหรือไม่คงต้องขอฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกฝ่ายว่าจะดำเนินการอย่างไร ชมรมพังงาสคูบา เกิดขึ้นมาด้วยการจัดอบรมการดำน้ำของสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นงบประมาณของจังหวัด ทางชมรมฯ หวังเพียงตอบแทนด้วยการดูแลและรักษาธรรมชาติใต้ท้องทะเลของเรา และเก็บข้อมูลต่างๆ ให้แก่จังหวัดเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องด้านธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น
ด้านนายพีรวัส เกตุการณ์ หรือครูกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้นักดำน้ำที่ดำลงไปจะพบกับพื้นของท้องเรือหงายขึ้นมาอยู่ส่วนบน และจะไม่กล้ามุดเข้าไปในเรือจากด้านล่าง ซึ่งเป็นอันตราย และไม่ปลอดภัย ตนซึ่งเป็นนักดำน้ำมองว่า เป็นการเสียโอกาสทางรายได้ของการท่องเที่ยว ที่แต่ละวันจะมีนักดำน้ำจากทุกแห่ง ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเข้ามาดำน้ำในจังหวัดพังงาจำนวนมาก แต่นักท่องเที่ยวไม่กล้าที่จะเข้าไปดำน้ำในจุดดังกล่าว
ส่วนผลเสียของการจมของเรือในลักษณะนี้คือ เรือจะเกิดความเสียหาย และยุบตัวภายใน 4-5 ปี แทนที่จะอยู่ได้หลายสิบปี เพราะโครงสร้างที่แข็งแรงรองรับน้ำหนักได้คือ ท้องเรือ แต่กลับหงายไปอยู่ด้านบน และอาจกลายเป็นเพียงกองขยะใต้น้ำ หมดความสง่าของความเป็นเรือรบที่เคยยิ่งใหญ่มาก่อน การตะแคง หรือการคว่ำของเรือจะทำให้เกิดการสะสมของอากาศที่เข้าไปเก็บอยู่ในตัวเรือ ซึ่งจะเป็นตัวเร่งที่ก่อให้เกิดสนิม และผุกร่อนเร็วขึ้น เป็นที่น่าเสียดายที่การลงทุน ไม่คุ้มค่า ถ้าเปรียบเทียบกับเรือช้าง ซึ่งเป็นเรือประเภทเดียวกันที่วันนี้เป็นขวัญใจของนักดำน้ำท่องเที่ยวจากทุกสารทิศที่ไปเก็บเกี่ยวความสุขจากการชมความสวยงามที่ตั้งตรงสง่างามอยู่ใต้ท้องทะเล มีปะการังงอกใหม่ และฝูงปลาเข้าอาศัยจำนวนมาก
ด้านนายกฤษ ศรีฟ้า ประธานมูลนิธิรักษ์พังงา เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับหลายภาคส่วนในจังหวัดพังงา ระดมเงินงบประมาณหลายสิบล้านบาทในการจัดโครงการเรือพระทองคืนถิ่น เพื่อจัดวางเป็นอุทยานเรียนรู้ใต้ท้องทะเล เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์เรื่องการสร้างปะการังเทียม เป็นแหล่งเรียนรู้ใต้ทะเลในด้านการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และลดอุณหภูมิโลกร้อน และที่สำคัญเกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในจังหวัดพังงา โดยมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดวางลงสู่ท้องทะเล และหลังจากการจัดวางก็พบว่า ไม่ประสบความสำเร็จตามที่โครงการได้วางแผนไว้ ทางตนเองก็ได้ทำหนังสือทวงถามให้ดำเนินการต่อให้เรียบร้อยแต่ก็เงียบหายไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด ล่าสุด ตนเองได้ประสานกับอำเภอคุระบุรีเพื่อดำเนินการแก้ไขในระดับจังหวัดต่อไป
สำหรับรือพระทอง ได้มีพิธีการจัดวางเรือลงสู่ทะเลเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2557 ณ บริเวณด้านตะวันตกของเกาะพระทอง ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ที่ละติจูด 9 องศา 6 ลิปดา 52.10 ฟิลิปดาเหนือ ลองจิจูด 98 องศา 10 ลิปดา 23.30 ฟิลิปดาตะวันออก ห่างฝั่งเกาะพระทองประมาณ 5 กิโลเมตร ระดับความลึกน้ำที่พื้นทะเล 27 เมตร ระดับความลึกจากผิวน้ำถึงตัวเรือประมาณ 21 เมตร หัวเรือหันไปทางด้านทิศตะวันตก เสากระโดงเรือถูกตัดออกเพื่อนำไปทำพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์เรือพระทอง บนเกาะพระทอง