xs
xsm
sm
md
lg

“เกาะเต่า” เรื่องที่ฉันไม่เคยเล่าให้ใครฟัง (ตอนที่ 8) วิเคราะห์เกาะเต่า ไม่ต้องใช้ทฤษฎี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย..เงาศิลป์

(“เงาศิลป์” เกิดทางใต้ แต่เติบโตที่ภาคกลาง และใช้ชีวิตเร่ร่อนในวัยสาวทั่วประเทศไทย เพราะหลงรักเสรีภาพ และการเดินทางมากกว่าทุกสิ่ง เธอจดบันทึกทุกเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต จนบัดนี้พยายามปักหลักหยั่งรากบนแผ่นดินอีสาน ทำงานอยู่กับต้นไม้ ยิปซีสาวแห่งทุ่งอักษรผู้แสวงหาอะไรสักอย่างที่ไม่กล้าประกาศออกไป ด้วยความหวังว่าสุดท้าย...อาจได้เจอสิ่งนั้น)
เพื่อนของผู้เขียน ถูกฆาตกรรมเสียชีวิตบนเกาะ ยังจับผู้ต้องหาไม่ได้ (ภาพ : เงาศิลป์)
 
“ลูกรักได้ที่บนภูเขา ลูกชังได้ที่ชายทะเล”

สำนวนนี้พูดกันเกร่อบนเกาะเต่า ในเวลานั้นราคาที่ดินบนเกาะพุ่งกระฉูด โดยเฉพาะชายทะเล ทั้งๆ ที่ลักษณะของเกาะมีหาดทรายไม่มีกี่แห่ง และไม่กี่แห่งนั้นก็ไม่ได้กว้างยาวสักเท่าใด ที่ยาวที่สุดคือ หาดทรายรี ปัจจุบันแออัดไปด้วยอาคารที่พัก

ในยุคแรกของการมายึดพื้นที่เกาะทำมาหากิน ก็เพื่อปลูกมะพร้าว ดังนั้น ที่ดินที่หมายปองกันคือบนภูเขา จะเห็นว่ามีมะพร้าวขึ้นตรงนั้นตรงนี้ ทั้งที่เป็นสวนขนาดใหญ่ หรือบางทีก็แค่ต้นสองต้น เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของเอาไว้

คนเกาะเต่าที่มาบุกเบิกรุ่นแรกๆ มากันแบบลำบากยากเข็ญ เอาข้าวของลงเรือหางยาวมา ส่วนใหญ่มาจากเกาะพะงัน ซึ่งเดิมคนเกาะพะงันมาจากเกาะสมุย คนที่มารุ่นแรกไม่ได้มาพร้อมกับเงิน แต่มาเพื่อหาเงินจากการทำเกษตร และประมง ฉันเคยสงสัยว่าทำไมชื่อเกาะเต่า ตั้งแต่ฉันไปอยู่ที่นั่นไม่มีวาสนาได้เห็นเต่าสักตัวเดียว เดิมเคยมีแต่สูญหายไปเพราะไม่มีแหล่งวางไข่อีกแล้ว

ตั้งแต่ยุคบุกเบิก ที่เกริ่นมาแล้วว่าพอย้ายนักโทษการเมืองออกไป ประชาชนคนธรรมดาก็เข้ามา จากนั้นไม่นานมีนักเดินเรือใบคนหนึ่ง เขาเล่าว่าเป็นผู้หญิง เธอแล่นเรือมาจากเกาะสมุยมาพบเกาะสวยงามแห่งนี้เข้า จากนั้นฝรั่งคนอื่นๆ ก็เริ่มรู้จัก แต่ไม่ได้เป็นกระแสการท่องเที่ยวแต่อย่างใด เพราะในเวลานั้นเกาะสมุยยังมีอาสาสมัครอเมริกันมาทำงานพัฒนาชนบทอยู่เลย จึงเป็นการใช้ชีวิตของฮิปปี้ตามเกาะแก่งมากกว่า

ทีนี้เมื่อหักร้างถางพงปลูกมะพร้าวได้ผล เนื่องจากเกาะอยู่ไกลมากจะขายมะพร้าวให้ง่ายที่สุดก็ต้องทำมะพร้าวตากแห้ง หรือย่างไฟ กว่าเกาะเต่าจะมีเรือใหญ่แล่นมารับซื้อสินค้า หรือส่งของไปยังแผ่นดินใหญ่ก็อีกหลายปี (ขออภัย ที่ระบุอะไรได้ไม่ชัด เพราะไร้ข้อมูล) แต่มีเรือลำหนึ่งที่เจ้าของเรือเป็นผู้หญิงเก่ง เป็นเรือขนาดกลาง ใช้เป็นเรือโดยสาร และขนส่งสินค้าไปเกาะพะงัน เกาะสมุย ที่อ้างถึงเรือ และผู้หญิงคนนี้ก็เพื่อจะเล่าเรื่องการแย่งชิงที่ดินบางชายหาดให้ฟัง

การท่องเที่ยวเริ่มเป็นอาชีพใหม่น่าจะประมาณปี 2520 กว่าๆ ไม่แน่ชัดว่าใครเป็นเจ้าของบังกะโลคนแรก (ลืมจริงๆ ข้อมูลนี้)

ที่พักยุคแรกๆ เป็นเจ้าของที่ดินเดิมเป็นส่วนใหญ่ หรือจะซื้อขายกันก็ยังเป็นกลุ่มคนกันเอง ที่พิเศษคือ เกาะนี้ไม่มีใครมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพราะเป็นที่ดินราชพัสดุ ในเมื่อไม่มีกรรมสิทธิ์ทางกฎหมายไว้คุ้มครองตัวเอง การพยายามแสดงความเป็นเจ้าของตามที่ธรรมเนียมคนเกาะยอมรับกันได้คือ การปลูกต้นไม้เอาไว้เป็นหลักเขต

มีหาดทรายเล็กๆ แห่งหนึ่ง มีมะพร้าวงอกอยู่ไม่กี่ต้น ต่อมามีคนคนหนึ่งไปสร้างบังกะโลให้ฝรั่งพัก ดำเนินกิจการอยู่นานราวห้าปี เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นผู้ปลูกมะพร้าวเอาไว้ได้ฟ้องร้องต่อศาล เรียกเอาที่ดินคืนมา คนที่สร้างบังกะโลแพ้คดี ยอมถอยออก และคนที่ชนะคดีได้ขายที่ดินแปลงนั้นทันทีเมื่อชนะความ

ที่เล่าเรื่องนี้แบบคร่าวๆ เพราะตอนนั้นไม่ได้สนใจกรณีขัดแย้งนี้ รู้แค่ว่า คนที่มาสร้างบังกะโลคือผู้หญิงเจ้าของเรือโดยสารลำนั้น เธอมีความกล้าหาญไม่ใช่น้อยเพราะเธอไม่ได้ปักหลักลงฐานใดๆ บนเกาะเต่า ต่างกับคนที่เป็นเจ้าของที่ดินเดิม เพียงแต่เขาไม่มีเงินจะทำบังกะโล

ถึงจะทำบังกะโลได้ด้วยตัวเอง แต่ในเวลานั้นคนท้องถิ่นแทบจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาของเขา ขอแค่มีคนมาพัก รู้จักจัดการเรื่องของตัวเองให้เขาพอใจก็พอแล้ว

เพราะ...เกาะนี้สวยจนเลือกแขกได้

ตอนนั้นไม่มีบังกะโลไหนที่รับคนไทยเข้าพัก เหตุผลง่ายๆ คือ คนไทยมักจะมาหลายคน ชอบส่งเสียงดัง (ฉันเห็นด้วยเรื่องนี้ น่ารำคาญ) แต่ที่คนไทยไม่รู้ เพราะอธิบายเท่าไรก็เข้าใจไม่ได้ จินตนาการมาออก คือ คนไทยอาบน้ำบ่อย ใช้น้ำมาก ลงไปเล่นน้ำทะเลทุกครั้งขึ้นมาต้องอาบน้ำ (ทุกบังกะโลใช้น้ำฝน ต้องประหยัดสุดความสามารถ) แต่ฝรั่งเข้าใจปัญหา หลายคนที่อาบน้ำทะเลแทนน้ำจืด และน้ำทะเลเกาะเต่าก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร ไม่ทำให้รู้สึกเหนียวตัวมากนัก (ฉันยืนยัน)

ย้อนกลับมาเรื่องลูกรักลูกชัง ที่ได้ที่ดินมรดกต่างกัน ยุคอาชีพใหม่ ลูกชังร่ำรวยกว่าลูกรัก เพราะถือครองที่ดินราคาแพง ลูกชังบางรายก็ร้ายเหลือ ขายที่ดินจนหมด แล้วใช้เงินหมดภายในไม่กี่ปี ทั้งเมาเหล้า ทั้งเที่ยวผู้หญิง แต่รายที่มีความสามารถก็บริหารกิจการของตัวเองจนร่ำรวยแบบเงียบๆ ได้มีมาก

แต่ยุคนั้น ไม่มีใครทำเงินได้มากเท่าธุรกิจดำน้ำ ราคาการสอนดำน้ำเป็นไปตามราคาสากล แพงจนคนไทยไม่กล้าเรียน เพราะเจ้าของธุรกิจตัวจริงคือ ฝรั่ง ใช้ชื่อคนไทยเป็นหุ้นส่วน นักธุรกิจดำน้ำจึงเป็นที่เขม่นของเจ้าของธุรกิจบังกะโล ตัวอย่างเช่น มีอ่าวหนึ่งที่เหมาะที่สุดที่จะสอนในระดับพื้นฐาน เพราะน้ำไม่ลึกมาก ยืนสอนได้ในน้ำระดับหน้าอก รอบๆ อ่าวมีแหล่งปะการัง และปลาสวยงามสมบูรณ์ การเรียนการสอนจะมีอาหารเป็นข้าวห่อรวมอยู่ด้วย พักกินบนเรือ ฉะนั้น การมาลอยคอเกะกะหน้าบังกะโลโดยที่เจ้าของบังกะโลไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ในขณะที่เขาดูแลไม่ให้คนท้องถิ่น หรือคนไทยต่างถิ่นมาหาปลาที่ชายฝั่งไม่ว่าวิธีใดๆ ก็ตาม ทำให้หงุดหงิดใจทุกครั้งที่มีทีมเรียนดำน้ำ

วันหนึ่ง ฝรั่งครูสอนดำน้ำ ปวดท้องจะเข้าห้องน้ำ เป็นไปได้ว่าปวดหนัก จึงมาทำทีขอซื้อมะพร้าวที่หล่นเกลื่อนใต้โคน โดยบอกว่าจะขอแลกกับการเข้าห้องน้ำ เจ้าของบังกะโลพยักหน้าตกลง เรียกราคามะพร้าวแก่ลูกนั้น 20 บาท ทั้งที่ท้องตลาดตอนนั้นไม่เกิน 2 บาทแน่นอน

(อ่านต่อตอนที่ 9)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น