xs
xsm
sm
md
lg

“หาดใหญ่โพล” ชี้ชัดประชาชนส่วนใหญ่ต้านสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเตอร์เน็ต
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผลสำรวจ “หาดใหญ่โพล” เผยประชาชนสงขลาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หวั่นฝุ่นละอองขนาดเล็กกระทบสุขภาพ กระทบอาชีพประมงชายฝั่ง แต่ยังไม่เห็นด้วยกับพลังงานสะอาดเหตุต้นทุนสูงเกินไป

วันนี้ (11 มี.ค.) หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับคนสงขลาคิดอย่างไรกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2,200 เมกะวัตต์ในอำเภอเทพา ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้เป็นประชาชนในจังหวัดสงขลา จำนวน 400 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการระหว่างวันที่ 4-8 มีนาคม 2558 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้

สถานภาพของกลุ่มตัวอย่าง การสำรวจครั้งนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 62.28) เพศชาย (ร้อยละ 37.72) มีอายุระหว่าง 21-30 ปี (ร้อยละ 45.04) รองลงมา มีอายุ 31-40 ปี (ร้อยละ 31.04) และอายุ 18-20 ปี (ร้อยละ 10.18) นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมีอาชีพประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย (ร้อยละ 25.13) รองลงมา เป็นอาชีพ นักเรียน/นักศึกษา รับจ้างทั่วไป พนักงานบริษัท/ลูกจ้าง และข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจคิดเป็นร้อยละ 20.00 17.95 17.44 และ 8.46 ตามลำดับ

สรุปผลการสำรวจ ผศ.ดร.กอแก้ว จันทร์กิ่งทอง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผย ผลการสำรวจหาดใหญ่โพลพบว่า ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2,200 เมกะวัตต์ ในอำเภอเทพา (ร้อยละ 52.39) โดยประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่มีความเหมาะสมกับการที่ กฟภ. จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จำนวน 9 โรงในพื้นที่ภาคใต้ (ร้อยละ 61.83) นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับความปลอดภัยในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ร้อยละ 88.00) ในขณะที่ความมั่นใจเกี่ยวกับความปลอดภัยในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีเพียงร้อยละ 12.00

โดยประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละอองที่จะเกิดจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ร้อยละ 41.71) และร้อยละ 34.92 ไม่แน่ใจเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละออง มีเพียงร้อยละ 23.37 ที่ไม่กังวลใจกับปัญหาฝุ่นละอองหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในอำเภอเทพา เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอเทพา ประชาชนเห็นว่าจะได้รับผลกระทบเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก มากที่สุด (ร้อยละ 21.64) รองลงมา คือ ปัญหาระบบนิเวศน์ในชุมชน ความไม่แน่นอนของวิถีและอาชีพชาวประมงชายฝั่ง สุขภาพของคนในอำเภอเทพา และพื้นที่ใกล้เคียง และปัญหาสัตว์น้ำ และอาหารทะเลลดลง คิดเป็นร้อยละ 16.99 16.71 14.79 และ 13.97 ตามลำดับ

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้า พบว่า ประชาชนรับรู้ว่าในภาคใต้มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่าการผลิตจริง (ร้อยละ 59.39) เมื่อสอบถามถึงผลกระทบของการปิดซ่อมโรงไฟฟ้าจะนะ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 64.92 ไม่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบน้อยจากการปิดซ่อมแซมโรงไฟฟ้าจะนะ ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน -10 กรกฎาคม 2557 และประชาชนที่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลางและมาก คิดเป็นร้อยละ 25.06 และ 10.03 ตามลำดับ

เมื่อสอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยไม่นิยมใช้พลังงานสะอาด พบว่า ประชาชนเห็นว่าเป็นพลังงานที่มีต้นทุนสูง มากที่สุด (ร้อยละ 32.30) รองลงมา คือ ความไม่แน่นอนของพลังงาน และสภาพภูมิอากาศ คิดเป็นร้อยละ 23.00 และ 22.22 ตามลำดับ นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 33.77 เห็นว่าภาคใต้เหมาะที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มากที่สุด รองลงมา คือ พลังงานลม (ร้อยละ 27.53) และพลังงานน้ำ (ร้อยละ 18.44)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น