องค์การสหประชาชาติ มอบรางวัลให้ซีอีโอหญิง SPCG ยกเป็นสตรีที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่ หลังบุกเบิกธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม พาไทยขึ้นแท่นผู้นำในอาเซียน ตั้งเป้าลงทุน 6 หมื่นล. ในอีก 5 ปี
วานนี้ (10 ธ.ค.) องค์การสหประชาชาติ (United Nation)ได้จัดประชุมใหญ่การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ประจำปี 2014 ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู โดยมีผู้นำ ผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กร NGO จากประเทศสมาชิกทั่วโลกร่วมสัมมนา โดย ดร.บัน คิม มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ยกย่องผู้ได้รับรางวัลในฐานะผู้มีส่วนสำคัญในการดูแลโลกให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และได้พิจารณาคัดเลือกสตรีที่ประสบความสำเร็จในการทำงานที่ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีแก่มนุษยชาติ ซึ่งปีนี้ UN ได้มอบรางวัลให้แก่ น.ส.วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ในฐานะเป็นผู้นำในการบุกเบิกการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานสะอาดเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จเป็นคนแรก โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ขึ้นเวทีในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังของความสำเร็จ
ทั้งนี้ ทาง UN กล่าวยกย่อง น.ส.วันดี ในฐานะสตรีผู้นำการบุกเบิกเป็นคนแรกที่เห็นโอกาส และพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทย และในประชาคม ASEAN ที่เป็นพลังงานสะอาดปราศจากมลพิษ ช่วยลดสภาวะโลกร้อน สามารถช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้เทียบเท่า 200,000 ตันต่อปี ซึ่งโครงการของ SPCG ได้สร้างรูปแบบธุรกิจที่ดีของการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จากข้อมูลของงบการเงินที่ได้เปิดเผยแล้ว ถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการที่จะนำรูปแบบที่ประสบความสำเร็จแล้ว ไปขยายโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้น ทั้งในประเทศ และต่างประเทศทั่วโลก อีกทั้งยังสามารถปลดล็อกเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ นับเป็นแบบอย่างของธุรกิจที่ดี
อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ไทยขึ้นแท่นเป็นผู้นำการผลิต และการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในภูมิภาค ASEAN เป็นผู้นำการใช้พลังงานสะอาด ผู้นำในด้านการลดโลกร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ลดการนำเข้าเชื้อเพลิง ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ ลดสภาวะความยากจนในภูมิภาคอันเนื่องมาจากการจ้างงาน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเนื่องจากการลงทุน ช่วยรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เกิดความยั่งยืนส่งผ่านไปยังอนุชน
ด้าน น.ส.วันดี กล่าวว่า การบุกเบิกของ SPCG ทำให้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนโดยการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานที่บุกเบิกโดยภาคเอกชน ที่มีแผนการลงทุนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 60,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อปลายปี 2556 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เติบโตกว่า 10 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่มีเพียง 500 เมกะวัตต์ และจากแผนพัฒนาพลังงานทางเลือกของประเทศไทย ที่กำหนดให้ต้องใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทางเลือกอื่นๆ ภายในปี 2564 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 3,000 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ SPCG ยังให้ความสำคัญในการขยายรูปแบบ ธุรกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังประเทศพม่า ซึ่งมีประชากรเพียง ร้อยละ 13 ที่มีไฟฟ้าใช้จากการปักเสาพาดสาย ส่วนอีกกว่า 43 ล้านคน ยังใช้ไฟฟ้าจากเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งมีต้นทุนสูง และมีมลพิษ กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Mini Grid สามารถพัฒนาได้ด้วยความรวดเร็ว และกระจายการผลิต การใช้ได้รวดเร็วในทุกพื้นที่ของประเทศพม่า อันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความยากจนได้ด้วย