คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
เมื่อวาน (7 มีนาคม 58) ผมได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติให้เป็นวิทยากรแสดงความเห็นเรื่อง “การปฏิรูปพลังงาน” ซึ่งเป็น 1 ใน “10 ประเด็นเด่นนวัตกรรมการเมืองไทย” เขาจัดทุกวันเสาร์ครับ ยังเหลืออีก 3 ประเด็น คือ การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการศึกษา และสุดท้าย “การปฏิรูปเกษตรและอุตสาหกรรมบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง”
ถือโอกาสช่วยประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าให้เลยครับ เวลา 13-17 น. ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล
กลับมาที่เรื่องผมไปพูดครับ ผมได้เขียนบทความยาว 11 หน้า เรื่อง “ทำพลังงานให้เป็นประชาธิปไตยด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน” ผมขอนำประเด็นสำคัญมาเสนอท่านผู้อ่านในที่นี้ครับ เอาที่สำคัญจริงๆ และเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทยและสังคมโลกเลยทีเดียวครับ
โดยภาพรวมแล้ว โลกของเรากำลังมี 2 กระแสใหญ่ๆ ที่ขัดแย้ง และเคลื่อนสวนทางกันอยู่
กระแสหนึ่งกำลังเคลื่อนไปสู่ความหายนะของทั้งโลก คือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผมได้นำเสนอกราฟความเหลื่อมล้ำทางรายได้ต่อหัวของประชากรในทวีปต่างๆ ของโลก พบว่า ความเหลื่อมล้ำของโลกเพิ่งเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อปลายๆ ศตวรรษ 19 ต้นศตวรรษที่ 20 นี้เอง
ผมตั้งชื่อภาพว่า “โลกนี้เพิ่งเอียง!”
ผมได้ภาพนี้มาจาก Wikipedia ครับ เป็นรายได้ต่อหัวของประชากรรายทวีป และกลุ่ม เช่น ยุโรปตะวันตก ที่รวยมาก และ Western Offshots ซึ่งหมายถึง 4 ประเทศคือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวยโด่งโดยไม่รู้จักเกรงใจเพื่อนร่วมโลก
สาเหตุที่โลกเอียงก็เพราะการนำพลังงาน หรือน้ำมันดิบขึ้นมาใช้อย่างผูกขาด (โดยธรรมชาติ) นั่นเอง
ผมได้นำเสนออย่างสรุปสั้นๆ ในตอนท้ายว่า จากรายงานของ Oxfam เมื่อเดือนมกราคม 2015 ว่า มหาเศรษฐีโลก 80 คนมีทรัพย์สินรวมกันเท่ากับคนชั้นล่าง 3,500 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของโลก ในขณะที่ปีก่อนนี้ต้องใช้มหาเศรษฐี 85 คน นั่นคือสถานการณ์มันเคลื่อนตัวไปเร็วมากครับ
นี่คือความเหลื่อมล้ำในระดับโลก ซึ่งนักวิชาการจากอังกฤษสรุปว่า “ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นต้นตอบ่อเกิดของความชั่วร้ายทั้งปวง” (ที่มา “The Spirit Level: Why Greater Equality Makes Societies Stronger” เขียนโดย Richard Wilkinson and Kate Pickett) นักวิชาการสองท่านนี้ ยังอธิบายถึงสิ่งที่เราคาดไม่ถึงเลยว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่ไว้วางใจซึ่งกันละกันของผู้คนปัญหาโรคอ้วนในเด็ก และการตั้งท้องในวัยเรียน!
ด้วยความบังเอิญ เช้าวันนี้เว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการ ได้นำเสนออันดับมหาเศรษฐีเมืองไทย พบว่า คนไทยติดอันดับที่ 81 ของโลก (หลุดโผของ Oxfam เป็นรายแรก) ผมขอตัดข้อมูลมาใส่ให้ดูบางส่วนในที่นี้ด้วยครับ (หมายเหตุ อันดับ 3 น่าจะมีการพิมพ์ผิด)
สำหรับกระแสที่นำไปสู่หายนะอีกอย่างหนึ่งก็คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของโลกกว่า 500 คน เห็นตรงกันว่า สาเหตุใหญ่กว่า 70% เกิดจากการใช้พลังงานฟอสซิล
ผมได้เล่าให้ที่ประชุมฟังว่า ผมเป็นศิษย์เก่าวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2505 จากนั้นอีกเกือบ 30 ปี กว่าจะมีพายุเกย์ ที่จังหวัดชุมพร แต่เดี๋ยวนี้โลกเราเจอพายุ และแผ่นดินไหวกันบ่อยมาก ถี่ยิบเหมือนลูกระนาดแล้ว
โลกกำลังจะแตกอยู่แล้ว ผมพูดในเชิงสรุปด้วยความห่วงใย และขู่นิดๆ ว่า “ผมไม่แน่ใจว่าโลกนี้จะมีศตวรรษที่ 22 หรือไม่” (หมายเหตุ ผมเคยเขียนเรื่อง 3-6-9 รหัสหายนะโลก มาแล้ว ไม่ได้ขู่นะครับ)
การรีบขุดเจาะปิโตรเลียมซึ่งเป็นสมบัติร่วมของมนุษย์เมื่อ 200 ล้านปีมาแล้ว และรุ่นอนาคตให้หมดลงในยุคของคนรุ่นเราเพียง 40-50 ปีนั้น มันไม่เป็นธรรม มันใจดำมาก เสียดายที่ผมลืมพูดไปว่า “ป่านนี้ในโลกของเราอาจจะพรุนเหมือนกับลูกบวบตากแห้งแล้วก็ได้”
ผมได้สรุปว่าจริงๆ แล้ว ต่อให้เรามีน้ำมันมากราวกับน้ำทะเล แต่เราก็ไม่สามารถนำมาใช้ให้ได้มากกว่านี้อีกแล้ว และจริงๆ แล้ว เรามีแหล่งพลังงานอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อโลกซึ่งจะกล่าวต่อไปในกระแสที่สอง
กระแสที่สอง เป็นกระแสที่สวนทางกับกระแสแรกที่ขับเคลื่อนด้วยความโลภของคนไม่กี่คน กระแสที่สอง เป็นกระแสที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความอยู่รอดร่วมกัน นั่นคือกระแสที่เรียกว่า “การปฏิวัติใหญ่ครั้งที่ 3 ของมนุษยชาติ”
นักวิชาการเชื่อกันว่า การปฏิวัติใหญ่ 2 ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปอย่างมาก ครั้งแรกคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 ครั้งที่ 2 คือ การปฏิวัติเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารในศตวรรษที่ 20 ซึ่งคนทั่วไปต่างรับทราบ และได้รับประโยชน์โดยทั่วแม้จะมากบ้างน้อยบ้าง
เมื่อประมาณ 30 ปี มหาวิทยาลัยที่ผมเคยสอนได้เตรียมอาคารเพื่อรองรับเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่กว่าตู้เย็นขนาดใหญ่ แต่เมื่อสร้างอาคารเสร็จ ในที่สุดเรากลับมีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะขนาดเล็ก ราคาถูก และประสิทธิภาพสูงกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้เลยกับที่เคยคิด
เรื่องนี้ผู้คนต่างยอมรับกันดี ไม่มีใครเถียง จากโทรศัพท์มือถือรุ่นกระดูกหมา ราคากว่าแสนบาทเมื่อเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 มาเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่มีทั้งโทรทัศน์ กล้องถ่ายรูป นาฬิกาปลุก คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ในราคาไม่กี่พันบาท
แต่การปฏิวัติใหญ่ครั้งที่ 3 ซึ่งนักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่า ได้เกิดขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 21 แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยได้รับรู้กัน คือ การปฏิวัติพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Revolution) โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานแสงอาทิตย์
ผมได้กระตุกให้ที่ประชุมคิดว่า เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ที่เรียกว่า “โซลาร์เซลล์” เป็นเทคโนโลยีมาจากผลงานระดับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ถึง 2 คน (หมายเหตุ แต่เป็นหลักการเดียวกับที่พืชใช้สังเคราะห์แสง) และล่าสุด ชาวญี่ปุ่น 3 คนก็ได้รางวัลโนเบลที่ใกล้เคียงกับเรื่องนี้อีก คือเรื่องหลอดไฟ LED ทำไมเรื่องนี้จึงจะไม่มีคุณค่าพอที่คนไทยควรจะสนใจ และนำมาใช้ประโยชน์
แม้ผมจะได้ยกเอาความสำเร็จของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของหลายประเทศมาเล่าให้ฟัง แต่ก็มีผู้ฟังบางคนแสดงความรู้สึกว่า “พลังงานแสงอาทิตย์มีไม่มากพอ”
ผมได้สะท้อนให้ที่ประชุมฟังว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเชื่อเช่นนั้น เพราะขณะนี้คนบางกลุ่มในประเทศอังกฤษ ยังมีความเชื่อว่าโลกแบนอยู่เลย
เมื่อ 7-8 ปีก่อน ผมสอนวิชา “วิทยาเขตสีเขียว” ซึ่งเป็นวิชาที่เน้นการทำวิจัย และปฏิบัติการเพื่อให้มหาวิทยาลัยของตนเองน่าอยู่ น่าเรียน และประหยัดพลังงาน ประหยัดวัสดุ ในตอนนั้นผมยังไม่สนใจเรื่องโซลาร์เซลล์ เพราะมันแพง ความสนใจของผมอยู่ที่ความแรงของลม ไปที่ไหนก็สนใจแต่แรงลมตามยอดไม้ผมเคยออกแบบ และทำกังหันลมไปวางบนดาดฟ้าอาคาร พบว่าลมแรงมากจนกังหันลมพัง
มาวันนี้ ผมมองแต่หลังคาอาคารว่าทำอย่างไรหนอจึงจะมีโซลาร์เซลล์มาติดให้เยอะ เหมือนกับบางรัฐในออสเตรเลียใต้ ที่ทุกๆ บ้าน 4 หลัง จะติดตั้ง 1 หลัง และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผมได้เรียนวงเสวนาไปว่า อย่าว่าแต่คนทั่วไปเลยครับที่ไม่เชื่อว่า พลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีความเป็นไปได้ แม้แต่ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ ดร.พอล ครุกแมน ที่ได้รับรางวัลโนเบล ก็ยังไม่เชื่อ จนต้องออกมาสารภาพในภายหลังว่า “ผมคิดผิดไปแล้ว” ดังแผ่นภาพที่ผมได้สรุปมา
ผมพยายามนำเสนอข้อมูลความสำเร็จของประเทศเยอรมนี เพื่อสร้างความมั่นใจว่า จริงๆ แล้วการปฏิวัติใหญ่ครั้งที่ 3 ของมนุษยชาติได้เกิดขึ้นแล้ว
ในปี 2557 ประเทศเยอรมนี สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ได้แก่ พลังงานน้ำ ชีวมวล ลม และแสงแดด) รวมกันได้ถึง 157,400 ล้านหน่วย ในขณะที่คนในประเทศไทยใช้ทั้งหมดรวมกัน 168,620 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นร้อยละ 93 ของที่เยอรมนีผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเพียงอย่างเดียว (ที่มา http://www.volker-quaschning.de/datserv/ren-Strom-D/index_e.php)
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเริ่มก้าวกระโดดในปี 2000 อันเป็นผลมาจากการผลักดันกฎหมายของ ส.ส.เสียงข้างน้อยของพรรค SDP
ทั้งๆ ที่ความเข้มของพลังงานแสงแดดต่อตารางเมตรในประเทศเยอรมนีมีประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย แต่พลังงานไฟฟ้าที่เยอรมนีผลิตจากแสงแดดเพียงอย่างเดียวได้ถึง 35,200 ล้านหน่วย มากกว่าการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดใน 20 จังหวัดภาคอีสาน และ 17 จังหวัดภาคเหนือรวมกันเสียอีก
นี่หรือที่เรียกว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นได้แค่อาหารเสริม แค่วิตามิน แต่จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่า พลังงานที่มนุษยชาติในปัจจุบันทั้งโลกใช้ทั้งปีนั้นเท่ากับพลังงานดวงอาทิตย์ส่องมาถึงผิวโลกในเวลาแค่ 8 นาทีเท่านั้น
หัวใจสำคัญความสำเร็จของประเทศเยอรมนีอยู่ที่การตรากฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายเพื่อให้พลังงานหมุนเวียนก่อน (Law for the Priority of Renewable Energies)” ซึ่งมีหลักการสำคัญว่า
“ใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งเพื่อขายได้ก่อน โดยไม่จำกัดจำนวน ค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้นบ้างถือเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ”
ในปี 2557 พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในเยอรมนีมีสัดส่วนคิดเป็น 27.3% ของไฟฟ้าที่ใช้ทั้งประเทศ เพิ่มจากร้อยละ 6.3 เมื่อ 15 ปีก่อน ในขณะที่เป้าหมายในอนาคตคือ ปี 2563 พรรคร่วมรัฐบาลตั้งไว้ที่ 35% แต่พรรคสังคมประชาธิปไตย และพรรคกรีนตั้งไว้ที่ 45% และ 75% ตามลำดับ
หมู่บ้านหนึ่งในเยอรมนี (ชื่อ Wildpolsried) ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้มากกว่าที่ตนเองใช้ถึง 500% มูลค่าที่ขายได้กว่า 180 ล้านบาท รองนายกเทศมนตรีคนหนึ่งได้สะท้อนความรู้สึกว่า “ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่การมีส่วนร่วมของชาวบ้านกับเทศบาล ผมคิดว่า ประชาชนประหลาดใจที่พลังงานหมุนเวียนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับคนที่พิจารณาเรื่องนี้ในระดับชาติ แต่สำหรับชาว Wildpolsried แล้ว เป็นตัวอย่างที่น่าอัศจรรย์ของสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น เมื่อชาวบ้าน และเทศบาลได้ลงมือทำเรื่องนี้ด้วยตนเอง”
สภาปฏิรูปแห่งชาติของประเทศไทยได้ผ่านมติที่เรียกว่า “Quick Win” ในลักษณะเดียวกันกับที่ประเทศเยอรมนีใช้ เพื่อให้รัฐบาลนำไปออกระเบียบตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าทั้งๆ ที่เรียกว่า “Quick”
สำหรับเรื่องต้นทุนสูงก็ไม่เป็นความจริง จากการศึกษาของนักวิชาการที่อ้างแล้วพบว่า ค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ที่ติดบนหลังคาบ้านได้ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว จนต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่บริษัทไฟฟ้าผลิตตั้งแต่ประมาณปี 2012 และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงกว่านี้อีก
การปฏิวัติใหญ่ครั้งที่ 3 เป็นการเปลี่ยนแปลงจากการผูกขาดในกิจการไฟฟ้าซึ่งเคยเป็นมาตลอด 130 ปีของประวัติศาสตร์ของกิจการไฟฟ้าในโลก ผู้ผลิตรายใหญ่รายเดียวให้การบริการผู้บริโภคหลายล้านคน แต่นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา แนวโน้มในอนาคตชี้ว่า สิ่งที่เคยเป็นในอดีตนั้นจะไม่เป็นจริงอีกต่อไปแล้ว
เหตุผลก็คือ เรามีเทคโนโลยีใหม่ทั้งระบบการผลิต และระบบสายส่ง จากเดิมที่มีแหล่งผลิตขนาดใหญ่ ให้บริการนับล้านราย ได้เปลี่ยนมาสู่การผลิตรายเล็ก และใช้ในบริเวณกลุ่มเล็กๆ จนสามารถเรียกได้ว่า จากสังคมเผด็จการด้านพลังงานไปสู่การกระจายอำนาจ หรือประชาธิปไตยพลังงาน (Energy Democracy) ที่เทคโนโลยีได้ก้าวหน้ามาถึงแล้ว
นอกจากนี้ ผมยังได้นำเสนอรายงานของกรมพลังงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งออกเมื่อเดือนกันยายน 2013 เรื่อง “ปฏิวัติเดี๋ยวนี้” ดังสาระสำคัญในแผ่นภาพครับ
คำถามที่ท้าท้ายผู้ที่กำลังออกแบบการ “ปฏิรูปการเมือง” ไทยในครั้งนี้ก็คือ ทำอย่างไรให้คนไทยซึ่งได้ถูกทำให้กลายเป็น “ผู้บริโภค (Consumer) อย่างเดียว” จึงได้กลับมาเป็น “Prosumer” ซึ่งหมายถึงเป็นทั้งผู้ผลิต (Producer) และ Consumer ในคนคนเดียวกันด้วย
ถ้าในเชิงการเมือง ทำอย่างไรให้คนไทยซึ่งเคย “หย่อนบัตรเลือกตั้งอย่างเดียว” หรือ “ผู้จ่ายเงินค่าไฟฟ้าอย่างเดียว” กลายมาเป็น “พลเมืองที่มีส่วนร่วมในการผลิต” ร่วมกำหนดความเป็นไปของประเทศทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติ
ทำอย่างไรให้ค่าไฟฟ้าทั้งประเทศปีละเกือบ 6 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 25 ของค่าพลังงานทั้งหมด) กลับมาอยู่ในมือของประชาชนให้มากที่สุด
นักปราชญ์ชาวเยอรมันท่านหนึ่ง เคยวิเคราะห์ว่า โดยปกติแล้วเมื่อมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นในสังคม คนจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประเภทแรก จะไม่สนใจ เฉยๆ ประเภทที่สอง จะไม่เห็นด้วยและร่วมถกเถียง และประเภทที่สาม จะเห็นด้วย
ความน่าสนใจจะอยู่ที่คนประเภทที่สอง ถ้าเป็นเรื่องอื่นๆ เมื่อเขาได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนจนเชื่อแล้ว เขาจะเปลี่ยนจากผู้คัดค้านมาเป็นผู้เข้าร่วมสนับสนุน และรณรงค์อย่างแข็งขันด้วย แต่ในกิจการพลังงานแล้วจะเกิดคนประเภทที่สี่ขึ้นมา คือ พวกที่คอยขัดขวางสิ่งที่เกิดใหม่ เพราะสิ่งที่เกิดใหม่ไปขัดขวางผลประโยชน์ของบริษัทพลังงานครับ
สองภาพสุดท้ายนี้คือ สิ่งที่ผมได้สรุปให้วงเสวนา ดูบทความนี้ยาวก็จริง แต่ก็มีการ์ตูนประกอบเพลินๆ ถือว่าเป็นบทความฉบับการ์ตูนก็แล้วกันนะครับ