xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยจนกว่าที่จีดีพีบอกเยอะเลย!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ตัวชี้วัดหนึ่งที่ทางรัฐบาลส่วนใหญ่ของโลกนิยมยึดเป็นสรณะก็คือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า จีดีพี โดยที่ในทุกต้นปีรัฐบาลมักจะรายงานตัวเลขต่อประชาชน เพราะเชื่อกันว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีคือตัวชี้วัดความก้าวหน้าและความพึงพอใจของประเทศ

จีดีพีคือรายได้ทั้งหมดที่เกิดจากคนที่อาศัยอยู่ภายในประเทศ (โดยไม่นับซ้ำซ้อนกัน) เมื่อนำจีดีพีมาหารด้วยจำนวนประชากรภายในประเทศก็จะออกมาเป็นจีดีพีต่อหัว ผมได้พยายามค้นหาข้อมูลปี 2557 ซึ่งเป็นปีล่าสุดมาหลายวันแล้วก็ยังไม่พบ ขณะเขียนบทความนี้ผมอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ จึงขออนุญาตใช้ข้อมูลปีก่อนหน้านั้นไปก่อน

กระบวนการวัดและคำนวณค่าจีดีพีต่อหัวกระทำโดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจถึงวิธีการคำนวณค่าดังกล่าวโดยละเอียด แต่ผมทราบจากเพื่อนอาจารย์นักเศรษฐศาสตร์ว่าจะต้องไม่ให้เกิดการนำมาคิดซับซ้อนกัน เช่น เมื่อคำนวณรายได้ของแม่ค้าขายกล้วยแขก ก็ต้องไม่นำมูลค่าของกล้วย และน้ำมันทอดกล้วยมาคิดอีก เป็นต้น ดังนั้น ผมคิดเอาเองว่ารายได้ของชาวต่างชาติที่มีอยู่ไม่น้อยกว่า 2-3 ล้านคน น่าจะถูกรวมไปเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าของกิจการแล้ว

จากข้อมูลจากแหล่งต่างๆ สามารถคำนวณได้ว่าจีดีพีต่อหัวของประเทศไทยในปี 2550 และ 2556 เท่ากับ 1.29 และ 1.74 แสนบาท ตามลำดับ (ดังตาราง บรรทัด (ก))

ปัญหาการวัดความก้าวหน้าของประเทศด้วยตัวชี้วัดด้วยจีดีพีต่อหัว มันทำให้เกิดปัญหาที่สำคัญก็คือ มันไม่สามารถวัดการกระจายตัวของรายได้ วัดได้แต่ค่าเฉลี่ยของรายได้เพียงอย่างเดียว

เช่น ถ้าสมมติว่าสังคมประกอบด้วยคน 2 คน คนหนึ่งไม่มีรายได้เลย แต่อีกคนหนึ่งมีรายได้ปีละ 1 ล้านบาท เมื่อวัดจีดีพีต่อหัวหรือรายได้ต่อหัวเท่ากับ 5 แสนบาทต่อปี แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าในสังคมนั้นมีคนจนอยู่มากน้อยแค่ไหน

ผมเคยแซวผู้ที่ยึดจีดีพีต่อหัวเป็นตัวชี้วัดสังคมว่า คล้ายกับการที่คนคนหนึ่งเอาขาข้างหนึ่งไปแช่น้ำแข็งแล้วก็เอาขาอีกข้างไปแช่น้ำเดือดในเวลาเดียวกัน แล้วสรุปว่าคนนี้มีอุณหภูมิเฉลี่ยเท่าเดิมไม่มีปัญหาอะไร ปกติดี ไม่ต้องไปหาหมอเพื่อแก้ปัญหา

เมื่อการยึดจีดีพีต่อหัวเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสะท้อนปัญหาภายในสังคมได้ นักวิชาการก็พยายามหาตัวชี้วัดอื่นมาเทียบเคียง หรือมาเสริมสำหรับประเทศไทยเราจึงใช้ตัวชี้วัดรายได้และหนี้สินรายครัวเรือนเพิ่มขึ้น หน่วยงานที่รับผิดชอบในการประเมินรายได้และหนี้สินรายครัวเรือนก็คือสำนักงานสถิติแห่งชาติ หลักการทำงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติก็คือการสุ่มตัวอย่าง (เพื่อประหยัดงบประมาณในการจัดการ) ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้อาจจะมีความคลาดเคลื่อนขึ้นได้บ้างแต่ก็อยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้เช่น ไม่เกิน 5% เป็นต้น

แต่น่าเสียดายที่การรายงานผลของรายได้รายครัวเรือนออกมาในรูป “รายได้รายครัวเรือนต่อเดือน” ซึ่งนำไปเทียบกับจีดีพีต่อหัวให้เข้าใจได้ยาก เพราะจีดีพีต่อหัวเป็นการคิดรายปี และไม่ทราบว่าโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละครัวเรือนมีกี่คน ข้อมูลที่อยู่ในตารางข้างต้น ผมได้ปรับให้ทั้งจีดีพีและรายได้รายครัวเรือนสอดคล้องกันและสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นแล้ว (เพื่อความเข้าใจของผู้อ่าน)

ก่อนที่จะไปดูประเด็นสำคัญของบทความนี้ โปรดสังเกตว่าขนาดของครัวเรือนในประเทศไทยได้ลดลงจากครัวเรือนละ 3.6 คนในปี 2550 เป็น 3.4 คนในปี 2556 ซึ่งก็สอดคล้องกับความรู้สึกของคนทั่วไป ญาติผู้ใหญ่ของผมคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ทวดของผมซึ่งมีอาชีพเสริมเป็นหมอตำแยเคยพยากรณ์ไว้เมื่อเกือบ 100 ปีมาแล้วว่า “ต่อไปภายภาคหน้า ถนนหนทางจะสะดวก คนจะกินข้าวด้วย 2 มือ บ้านช่องจะสวยงามและใหญ่กว่าเดิมแต่ไม่มีคนอยู่อาศัย” มาบัดนี้ ผมว่าบ้านเมืองกำลังมีแนวโน้มไปตามที่ทวดผมพยากรณ์นะครับ

จากตารางในข้อ (ง) พบว่าในปี 2556 รายได้ที่คิดจากรายครัวเรือนของคนไทยโดยเฉลี่ยแล้วเท่ากับ 89,466 บาทต่อปีต่อคน ในขณะที่รายได้เฉลี่ยที่คิดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเท่ากับ 174,338 บาทหรือรายได้ต่อคนที่คิดจากครัวเรือนมีค่าประมาณครึ่งหนึ่งของจีดีพีต่อหัวเท่านั้น

พูดให้ชัดกว่าเดิมก็คือสถานะทางการเงินของคนไทยน้อยกว่าที่ทางราชการนำมาบอกผ่านจีดีพีต่อหัวเยอะเลย

คำถามก็คือ แล้วรายได้อีกครึ่งหนึ่ง (หรือ49%) ของรายได้หายไปไหนคำตอบง่ายๆ และตรงไปตรงมาก็คือ รายได้ที่เหลือได้ไหลไปสู่กระเป๋าของคนที่นอกครัวเรือนหรืออยู่บริษัท ห้างร้านที่เป็นนิติบุคคลทั้งจากภายในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ตารางดังกล่าวได้นำเสนอเรื่องหนี้สินด้วย พบว่าหนี้สินรายครัวเรือนต่อหัวมีประมาณ 54% ของรายได้

ลองมาพิจารณาตัวเลขรายได้และหนี้สินที่คิดจากครัวเรือน พอสรุปได้ว่า โดยเฉลี่ยแต่ละคนมีรายได้เดือนละแค่ประมาณ 7,500 บาทเท่านั้น แต่มีหนี้สินเฉลี่ยเดือนละ 4,000 บาทโดยที่รายได้ (จากปี 2554 ถึง 2556) เพิ่มขึ้นแค่ปีละ 4% ในขณะที่หนี้สินเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10%

ดังนั้น ในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ หนี้สินของคนไทยทั่วไปๆ จะท่วมหัวมากกว่ารายได้แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร และถ้าเราไม่คิดแก้ปัญหากันเสียตั้งแต่วันนี้แล้วอย่าหวังเลยว่าสังคมจะเคลื่อนไปสู่สังคมที่มีความสุขได้

ผมเสียดายที่ไม่สามารถนำรายละเอียดมาเสนอในที่นี้ได้ว่ารายได้ประมาณครึ่งหนึ่งของจีดีพีหรือประมาณ 5.8 ล้านล้านบาทไปอยู่ในมือของใครกี่คน ในขณะที่อีก 5.8 ล้านล้านบาทที่ผมได้กล่าวมาแล้วนั้นอยู่ในมือของคนไทยถึง 67 ล้านคน

แต่โดยธรรมเนียมในการเขียนบทความในเอเอสทีวีของผมมักจะเขียนยาว ผมจึงขอกล่าวถึงผลการศึกษาขององค์กร Oxfam เมื่อเดือนมกราคม 2558 เรื่อง “Wealth: Having It All And Wanting More” (ความมั่งคั่ง : มีทุกอย่างแล้ว แต่ยังต้องการอีก) ซึ่งเป็นความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีในโลก

จากรายงานพบว่า มหาเศรษฐีจำนวนเพียง 80 คน มีทรัพย์สินรวมกันเท่ากับจำนวนคนที่อยู่เบื้องล่างที่สุดจำนวนรวมกันถึงครึ่งหนึ่งของโลก หรือ 3,500 ล้านคน

แผ่นภาพข้างล่างนี้คือรายชื่อมหาเศรษฐีจำนวน 10 อันดับแรกของโลก พร้อมประเภทธุรกิจและสัญชาติ พบว่า 3 คนแรกเป็นของชาวอเมริกัน อันดับที่ 4 เป็นนักลงทุนชาวซาอุดีระเบีย

ธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมี 4 ประเภท คือ การเงินและประกันภัย รวมทั้งธุรกิจผลิตยาและการดูแลสุขภาพ

งานศึกษาของ Oxfam ชิ้นนี้ยังระบุอีกว่า ในปี 2556 เฉพาะธุรกิจการเงินในสหรัฐอเมริกาอย่างเดียวใช้เงินล็อบบี้ถึง 400 ล้านดอลลาร์ และในการเลือกตั้งในปี 2555 ใช้เงินล็อบบี้ไปถึง 571 ล้านเหรียญ

ในสหภาพยุโรปก็มีการล็อบบี้ในภาคการเงินถึงปีละ 130 ล้านเหรียญ ในธุรกิจยาในสหภาพยุโรปก็มีการล็อบบี้อย่างน้อยปีละ 50 ล้านเหรียญทุกปี

ด้วยเหตุที่มีการล็อบบี้กันเช่นนี้นี่เอง ผมจึงไม่แปลกใจที่พืชมหัศจรรย์อย่างกัญชาที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคมะเร็ง โรคพาร์กินสัน และอื่นๆ จึงได้ถูกทำให้เป็นสิ่งถูกกฎหมายในประเทศไทย

ผมเขียนเรื่องการหลอกลวงเรื่องตัวชี้วัดเรื่องรายได้ ทำไปทำมาจึงมาออกที่การหลอกลวงเรื่องกัญชาพืชมหัศจรรย์เฉยเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น