xs
xsm
sm
md
lg

ท่าเรือน้ำลึกปากบาราใน “ระบอบประชาธิปไตยที่ได้อับปางแล้ว (RECD)” / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
คำว่า “RECD” เป็นตัวย่อจากวลีในภาษาอังกฤษที่ศาสตราจารย์นอมชอมสกี้ (วัย 77 ปี) นักภาษาศาสตร์ นักปรัชญา และนักกิจกรรมเพื่อความเป็นธรรมในสังคมระดับโลกได้ประดิษฐ์ขึ้น ในบางครั้งท่านผู้นี้ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งภาษาศาสตร์สมัยใหม่” ผมจะยังไม่บอกในตอนนี้ว่าย่อมาจากอะไร แต่บังเอิญออกเสียงเหมือนกับคำว่า “wrecked” ซึ่งแปลว่า “ได้อับปางแล้ว”

จากคำนำสั้นๆ ที่ได้กล่าวมานี้ ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงจะคาดหมายได้แล้วว่าบทความนี้จะกล่าวถึงอะไร และท่านสมควรจะยอมสละเวลาอันมีค่าของท่านอ่านบทความนี้เพื่อความเข้าใจต่อไปหรือไม่

เพื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติรู้สึกสบายใจ ผมขอเรียนตั้งแต่ตอนต้นเลยว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้อับปางในสมัยรัฐประหารครั้งนี้เท่านั้นหรอกครับ มันเป็นมานานแล้ว และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ได้แต่เกิดขึ้นแม้กระทั่งในประเทศสหรัฐอเมริกา (ที่วิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหารของไทย) และอีกหลายประเทศในสหภาพยุโรป หรือจะเรียกว่าเกิดขึ้นเกือบทั่วโลกก็ว่าได้

และเพื่อให้เหตุผลของผมเข้าประเด็นเรื่อง “RECD” ในทันที ผมขอเริ่มต้นจากคำพูดของท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ (17 เมษายน 58)

“นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล อันนี้ก็ขอความกรุณาว่าอย่าขัดแย้งกันมากเลย เราพยายามที่จะดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ เยียวยาให้สบายใจ ถ้าเราไม่สร้างตรงนี้ก็เป็นปัญหาอีก ประตูการค้าฝั่งอันดามัน เราจะไม่มีแล้วก็เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าสู่ทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกาไม่ได้” 

จากคำพูดของท่านนายกฯ ดังกล่าวมี 2 ประเด็นสำคัญมากๆ ที่สังคมไทยต้องให้ความสนใจ

ประเด็นแรก ผมพบว่า วัตถุประสงค์ของท่าเรือน้ำลึกปากบารามีอยู่แล้วในวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างท่าเรือระนอง (ตามมติ ครม. 25 มีนาคม 2546 พร้อมกับท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) และได้สร้างเสร็จแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ที่ผมคัดลอกมาดังนี้ “เพื่อเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามันของไทย เชื่อมโยงเส้นทางการค้ากับประเทศในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา”(http://www.rnp.port.co.th/dataset1/data1.html) 

มันช่างเหมือนกับที่ท่านนายกฯ พูดเมื่อสัปดาห์ก่อนเปี๊ยบเลยครับ พร้อมกันนี้ ผมขอนำภาพจากวิดีโอเผยแพร่มาให้ดูด้วยครับ โปรดสังเกตนะครับว่า ท่าเรือระนอง สามารถเชื่อมประเทศในกลุ่มหลายเหลี่ยมสีแดง (บังกลาเทศ-อินเดีย-พม่า-ศรีลังกา-ไทย, BIMSTEC) และสามเหลี่ยมสีฟ้าแล้ว ยังสามารถต่อเลยไปถึงทวีปแอฟริกา (ทางซ้ายมือของประเทศศรีลังกา) และแล้วตีโค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สู่ทวีปยุโรปได้ด้วย
 

 
แต่จากรายงานปีล่าสุด ที่ทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย พบว่า ในปี 2555 มีเรือมาใช้บริการทั้งปี จำนวน 210 เที่ยวเท่านั้น (หรือประมาณ 2 วันต่อเที่ยว โดยที่ในปี 2551 มีการใช้สูงสุด 385 เที่ยว ในขณะที่ท่าเรือเชียงแสน มีเรือมาใช้บริการ 2,346 เที่ยว) โดยมีสินค้าขาออกเฉลี่ยเที่ยวละ 208 เมตริกตัน ทั้งๆ ที่ท่าเรือนี้สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 500 ตันกรอส โดยสามารถให้บริการเรือสินค้าได้ครั้งละ 2 ลำพร้อมกัน

คำถามคือ ทำไมจึงต่ำกว่าเป้าหมายมากมายถึงขนาดนี้

ไม่เพียงแต่ท่าเรือระนองเท่านั้นที่มีปัญหาดังกล่าว จากผลงานวิจัยของสถาบันขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องศักยภาพท่าเรือไทย (2551) โดย นางสุมาลี สุขตานนท์ และคณะพบว่า “ท่าเรือไทยยังไม่สามารถใช้ท่าเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ …ขาดกลไกการตรวจสอบ และประเมินผลท่าเรือ” 

นอกจากนี้ งานวิจัยในปี 2546 ของอาจารย์ท่านเดิมยังได้กล่าวถึงปัญหาของท่าเรือน้ำลึกสงขลาซึ่งตั้งอยู่ในฝั่งอ่าวไทย ว่า “ผู้ส่งออกนิยมส่งสินค้าผ่านท่าเรือปีนัง เพราะค่าขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าเรือปีนังโดยรวมต่ำกว่าท่าเรือสงขลา” (หมายเหตุ ผมค้นดูจากเว็บไซต์ พบว่า ท่าเรือปีนัง ดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วันในสัปดาห์ และตลอด 365 วัน โดยไม่มีวันหยุด ในปี 2555 มีสินค้าผ่าน 4.3 ล้านตัน)

เรียนตามตรงครับว่า ผมรู้สึกเห็นใจท่านนายกฯ ท่านนี้มานานแล้ว เพราะประเทศไทยมีปัญหาเยอะจริงๆ เหมือนที่ท่านเพิ่งบ่นไปเมื่อไม่นานมานี้ แต่การมีปัญหาเยอะไม่ใช่ข้อแก้ตัวนะครับ ความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ท่านได้ข้อมูลครบถ้วน และท่านมีความคิดที่ถูกต้องหรือไม่

กลับมาที่ท่าเรือน้ำลึกปากบาราครับ ก่อนที่ท่านจะเดินหน้า ท่านต้องตอบคำถามให้ได้เสียก่อนว่า ทำไมท่าเรือระนอง จึงอยู่ในสภาพเกือบร้าง ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์ก็เหมือนกับท่าเรือน้ำลึกปากบาราทุกประการ ต่างกันแต่คำว่า “น้ำลึก” เท่านั้น แต่เมื่อตรวจสอบท่าเรือระนอง กับท่าเรือน้ำลึกสงขลาแล้ว ก็มีความลึกเกือบเท่ากันคือ 8 ถึง 9 เมตรเท่านั้น ที่ปากบารา ยิ่งมีสภาพเป็นน้ำตื้นมากกว่าอย่างชัดเจน โดยเวลาน้ำลงชาวบ้านสามารถเดินเท้าออกไปจากชายฝั่งนับเป็นกว่าหนึ่งกิโลเมตร

นอกจากนี้ ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ก็มีอยู่แล้ว แต่ได้กลายสภาพเป็นท่าเรือนักท่องเที่ยว นี่คงเป็นเหตุผลให้งานวิจัยที่อ้างแล้วได้ข้อสรุปว่า “การพัฒนาท่าเรือไทยเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง” 

คนไทยเราได้สูญเสียเงินภาษีไปกับโครงการที่ไม่ค่อยได้เรื่องมามากแล้ว ปากบาราเองก็อยู่ห่างจากระนอง ประมาณ 350 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ไปใช้ที่ระนองสิครับ นักธุรกิจเจ้าของสินค้าได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เขายอมไปใช้ท่าเรือปีนังซึ่งอยู่ไกลกว่า ดีกว่าการใช้ท่าเรือสงขลาที่อยู่ใกล้แต่กลับคิดค่าบริการแพงกว่า

ประเด็นที่ผมได้กล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลของกิจการท่าเรือในประเทศไทย โดยคำนึงถึงความคุ้มทุน และความจำเป็นของโครงการเพียงอย่างเดียว เรายังไม่ได้กล่าวถึงผลกระทบของโครงการที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิตของชุมชน รวมทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามที่มีชื่อเสียงระดับโลก 

แต่สิ่งที่มีความสำคัญมากกว่านั้นคือ ใครเป็นผู้ริเริ่มโครงการ ริเริ่มเพื่อใคร และโครงการนี้จะสอดคล้องต่อวิถีชีวิต และทักษะการประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่นหรือไม่ กรุณาอย่าหาว่าผมย้อนท่านนายกฯ เลยนะครับ โครงการพัฒนามันก็เหมือนกับการตัดเสื้อใส่ที่ท่านนายกฯ กล่าวถึงบางประเทศแต่ได้ใจคนไทยมาก มันต้องให้ผู้สวมใส่ยอมรับด้วย จะบังคับกันไม่ได้

เป็นเรื่องแปลกแต่เป็นความจริงที่ว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราอยู่ในเอกสารที่ชื่อว่า “ผังประเทศไทย พ.ศ.2600” ซึ่งเป็นผังที่ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้จัดทำขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี 9 กรกฎาคม 2545 โครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นิคมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โครงการผันน้ำ ต่างก็ปรากฏอยู่ในเอกสารฉบับนี้ซึ่งครอบคลุมช่วงอายุประมาณ 50 ปี จนถึงปี พ.ศ.2600 และหลายโครงการที่อยู่ในผังนี้ก็กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ 

ประเด็นที่เป็นปัญหาที่เว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการ ได้นำมาเปิดเผยก็คือ นักวิชาการที่จัดทำแผนไม่มีความอิสระทางวิชาการ มีคนมากำกับสั่งให้รื้อโน่น สั่งนี่ การรับฟังความคิดเห็นไม่หลากลาย และไม่ควรมีแรงกดดันจากใครทั้งสิ้นที่จะบอกว่า ต้องใส่โครงการนั้นนี้ลงไปในผัง

สรุปสั้นๆ ก็คือ ใครคือผู้มีอำนาจในการกำหนดผังประเทศที่มีอายุนานถึง 50 ปี แล้วอย่างนั้นเราจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลที่มีอายุคราวละ 4 ปีไปทำไมกัน การตัดสินใจหย่อนบัตรของประชาชนเพื่อเลือกผู้แทนราษฎรจะมีความหมายอะไร สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่จัดทำแผนคราวละ 5 ปี จะมีความหมายอะไร 

พรรคการเมืองเองที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แท้ที่จริงแล้วเขาขัดแย้งกันแต่ในเรื่องที่ไร้สาระ เรื่องสีเสื้อเท่านั้นเอง ไม่ใช่ปัญหาหลักของประเทศ เพราะเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นอภิมหาโครงการนั้นได้มีไอ้โม่งได้กำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว โครงการจัดการน้ำหลายแสนล้านบาท โครงการทางรถไฟ รวมทั้งนโยบายพลังงานของรัฐบาลชุดนี้ ก็ปรากฏอยู่ในผังประเทศไทย 2600 เช่นเดียวกัน

ความจริงแล้วท่าเรือน้ำลึกปากบาราไม่ได้เป็นโครงการเดี่ยว แต่มันมาเป็นแผงเป็นชุด ทั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ท่อน้ำมัน โรงไฟฟ้า ฯลฯ รวมทั้งแลนด์บริดจ์ (สะพานเศรษฐกิจ) เชื่อมปากบารา กับท่าเรือน้ำลึกใหม่ที่สงขลา (อ่าวไทย) ซึ่งเรียกรวมว่า “แผนพัฒนาภาคใต้” 

เมื่อพูดถึงตรงนี้ก็ต้องย้อนไปถึงโครงการ “แลนด์บริดจ์ขนอม-กระบี่” (ตามมติ ครม.ปี 2536) ได้ก่อสร้างไปแล้วด้วยงบประมาณ 3,500 ล้านบาท และได้กันพื้นที่ไว้เพื่อวางทางรถไฟ และท่อน้ำมัน แต่ได้เฉพาะถนนเพียงอย่างเดียว โครงการก็ต้องล้มเลิกไป เรามีเรื่องในทำนองนี้เยอะมากครับในประเทศเรา

เรื่องแผนพัฒนาภาคใต้นี้ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายไดผ่านมติให้ทบทวนแล้วเมื่อปี 2552 โดยมีมติว่า “การพัฒนาภาคใต้ควรเน้นที่การต่อยอดจากภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และพัฒนาการศึกษา (ซึ่งปรากฏในภายหลังว่าด้อยคุณภาพมากทั้งประทศ) โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผน” แต่แล้วหน่วยงานของรัฐก็เบี้ยวทั้งๆ ที่เป็นมติของคณะรัฐมนตรี

สิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการพัฒนา” ในโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา (ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาภาคใต้) ที่ผมได้เล่ามานั้น สามารถสรุปได้ว่าเป็นแบบ “สามเหลี่ยมอันตราย(Toxic Triangle)” ซึ่งแต่ละด้านประกอบด้วยด้านแรก เกิดจากผลักดันของผู้สนับสนุนพลังงานฟอสซิลที่มุ่งแสวงหาผลกำไรของตนเอง ด้านที่สอง เกิดจากนโยบายเศรษฐกิจที่เห็นแก่ผลประโยชน์ในระยะสั้น หรือของคนสายตาสั้น นิทานเรื่องห่านกับไข่ทองคำ เป็นบทเตือนใจที่ชัดเจนครับ และด้านที่สาม เกิดจากความเฉื่อยชาทางการเมือง (Political inaction) ซึ่งนักการเมืองมักจะเลือกการวางเฉย (Inaction) ต่อความเห็นของชาวบ้าน แต่เลือกเอาเฉพาะความเห็นของบางกลุ่มคนที่ให้ประโยชน์แก่ตนเองเท่านั้น ผมมีภาพประกอบมาให้ดูด้วยครับ
 

 
มาถึงตอนนี้ก็ต้องขอเฉลยวลีของศาสตราจารย์นอมชอมสกี้ นักวิจารณ์เพื่อสังคมที่เป็นธรรม ท่านพูดว่า ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นจริงในหลายพื้นที่ของโลกก็อยู่ใสภาพที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Really Existing Capitalist Democracy” (ประชาธิปไตยของนายทุนที่ดำรงอยู่จริง) หรือ RECD หรือ “Wrecked” ซึ่งแปลว่าอับปางแล้วนั่นเอง

และเพื่อเป็นการยืนยันให้เห็นว่า “RECD” มีพิษสงอย่างไร ผมขอนำเสนอข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งครับ (จากรายงานของ Oxfam, 2015 เรื่อง WEALTH: HAVING IT ALL ANDWANTING MORE) พบว่า ระบบ RECD ได้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงมากขึ้น กล่าวคือ ในปี 2014 มหาเศรษฐี 80 คนแรกของโลกมีทรัพย์สินเท่ากับคนข้างล่างอีกครึ่งโลกรวมกัน

มหาเศรษฐี 80 คนนี้ส่วนใหญ่มาจากประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประเทศร่ำรวย หรือยากจน (รวมทั้งประเทศคอมมิวนิสต์ด้วย) 
 

 
เมื่อระบบดังกล่าวได้ส่งเสริมให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง และข้อมูลได้ข้อสรุปว่า “ความเหลื่อมล้ำคือ ต้นตอบ่อเกิดของความชั่วร้ายทั้งปวงในสังคม” ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องครุ่นคิด และทบทวนต่อแผน “พัฒนา” ต่างๆ อย่างมีสติ มีข้อมูล และมีเป้าหมายเพื่อความสุขของคนในชาติอย่างแท้จริง

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำให้เราได้พบความจริง 2 ข้อ คือ (1) ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวของจังหวัดระยอง (เมืองอุตสาหกรรม) สูงกว่าของคนพัทลุง (เมืองเกษตร) ประมาณ 8 เท่าตัว แต่หนี้สิน และรายได้ครัวเรือนของคน 2 จังหวัดนี้แทบไม่ต่างกันเลย และ (2) จำนวนคนที่มีอายุเกิน 80 ปีขึ้นไปของชาวพัทลุง สูงเป็นเกือบ 2 เท่าของชาวระยอง

คนไทยเราจะเลือกอยู่ในสังคมแบบไหนครับ

ผมขอจบบทความนี้ด้วยการนำคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ มาเสนอให้ท่านผู้อ่านได้ใคร่ครวญดูครับ (รวมถึงท่านนายกฯ ด้วยก็จะเป็นกุศลอย่างยิ่ง เพราะท่านมีอำนาจมาก ชี้อะไรให้เป็นอะไรก็ได้) ผมขอยกมา 2 ข้อครับ

ข้อแรก คำว่า “พัฒนา” นั้นตามตัวหนังสือแล้วหมายถึง “โตขึ้น” เท่านั้น ดีก็ได้ บ้าก็ได้ ที่โตขึ้น ข้อที่สอง “เศรษฐศาสตร์” แปลว่า “ศาสตร์ที่ประเสริฐ” เป็นศาสตร์ที่ทำของมีคุณค่าน้อยให้มีคุณค่ามาก ทำคนดีน้อยให้เป็นคนดีมากขึ้น


ขอบคุณครับที่กรุณาอ่านมาถึงจุดนี้จงอย่าท้อแท้ไปกับ RECD นะครับ เรามีทางออกตามที่ท่านอาจารย์พุทธทาสสอน ขอให้เราจงมั่นใจในพลังของความดีของพลเมือง ธรรมย่อมชนะอธรรม
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น