xs
xsm
sm
md
lg

ม.ราชมงคลศรีวิชัยฯ จ.ตรัง มอบพันธุ์หอยนางรม 1 แสนตัวแก่เกษตรในพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตรัง - ม.ราชมงคลศรีวิชัยฯ จ.ตรัง มอบพันธุ์หอยนางรม 1 แสนตัว ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงในชุมชนบ่อหินฟาร์มสเตย์ ชี้หากเกษตรกรดูแลดีมีอัตรารอดของหอยถึง 90% และสามารถสร้างรายได้นับแสนต่อเดือน

วันนี้ (5 มี.ค.) ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด อ.สิเกา จ.ตรัง คณะผู้บริหาร นักศึกษาฯ ผู้นำท้องถิ่น ร่วมกันจัดกิจกรรมการเพาะเลี้ยงหอยนางรมสู่ชุมชนต้นแบบ โครงการบริการวิชาการถ่ายทอดงานวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโนยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งเป็นการทำงานเชิงวิชาการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย และสังคม บนพันธกิจหลักทุกด้านของมหาวิทยาลัย ภายใต้แนวคิดการร่วมคิดร่วมทำแบบหุ้นส่วน ร่วมรับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนระหว่างกันและกัน และร่วมแก้ปัญหา และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

รองศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเลี้ยงหอยนางรมมานานกว่า 100 ปี นับเป็นสัตว์น้ำที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และทำรายได้สูงให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยง โดยผลผลิตของหอยนางรมที่ได้จะมาจากการเลี้ยงโดยอาศัยลูกหอยจากธรรมชาติเป็นปัจจุบันปริมาณลูกหอยจากธรรมชาติมีผลผลิตที่ลดลงอย่างต่อเนื่องอันเป็นสาเหตุมาจากปัญหาทางด้านมลพิษทางน้ำ รวมถึงปัญหาการนำทรัพยากรพ่อแม่พันธุ์จากแหล่งธรรมชาติมาใช้มากเกินไป

ความต้องการลูกหอยนางรมถึงขั้นวิกฤตอย่างหนัก เมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี พ.ศ.2550 ทำให้แหล่งเลี้ยงหอยนางรมอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เสียหายทั้งหมด แม้จะนำลูกหอยจากแหล่งอื่นเข้าไปเลี้ยงในพื้นที่เดิม แต่ก็ไม่สามารถผลิตลูกหอยตามธรรมชาติเพื่อการเลี้ยงในรุ่นต่อไปได้อย่างเพียงพอ จนกระทั่งปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากจำเป็นต้องเลิกกิจการ และจากการออกสำรวจในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นแหล่งผลิตลูกหอยนางรมจากธรรมชาติ

โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตรัง และจังหวัดพังงา พบว่า ปริมาณลูกหอยจากธรรมชาติมีปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับในอดีตทำให้ราคาลูกหอยขยับสูงขึ้น 2-3 เท่าตัว ดังนั้น การเพาะพันธุ์เพื่อผลิตลูกหอยนางรมจากโรงเพาะฟักเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาการขาดแคลนลูกพันธุ์จากธรรมชาติ เนื่องจากสามารถควบคุมการผลิตทั้งในด้านปริมาณ และคุณภาพ

ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย ได้ดำเนินการศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคนิคการเพาะพันธุ์หอยนางรมอย่างต่อเนื่อง และประสบผลสำเร็จในการเพาะพันธุ์หอยนางรมจากระบบโรงเพาะฟังเป็นอย่างดี และได้เลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด เป็นกลุ่มต้นแบบในการทดลองขยายผลในการนำลูกพันธุ์หอยนางรมขนาดเล็ก ที่ผลิตได้จากโรงเพาะฟักไปเลี้ยงอนุบาลในพื้นที่ของชุมชน โดยหวังเป็นแหล่งผลิตลูกพันธุ์หอยนางรมเพื่อส่งต่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรมในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการลูกพันธุ์หอยสำหรับการเลี้ยงปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านตัว ขณะที่ปริมาณลูกพันธุ์หอยนางรมในธรรมชาติกลับมีปริมาณลดน้อยลง จึงจำเป็นต้องส่งเสริมอาชีพการเพาะเลี้ยงลูกพันธุ์หอยนางรมให้แก่เกษตรกร เพื่อเป็นต้นแบบในการผลิตลูกพันธุ์หอยนางรมจากโรงเพาะฟัก ก่อนที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยต่อไป สำหรับระยะเวลาการเลี่ยงหลังจากปล่อยลูกพันธุ์หอยลงสู่ฟาร์มแล้วถัดไปประมาณ 4 เดือน ลูกหอยจะโตขนาด 4 เซนติเมตร ถ้าปล่อย จำนวน 1 แสนตัวต่อฟาร์ม เกษตรกรมีการจัดการดูแลที่ดี อัตราการรอด 90% จะสามารถสร้างรายได้เดือนละ 1 แสนบาทต่อฟาร์ม


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น