ศูนย์ข่าวศรีราชา-สภาเมืองพัทยา จี้ผู้บริหารหวั่นปัญหามลพิษทางน้ำส่งผลกระทบการท่องเที่ยว หลังพบโรงงานนอกเขตปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้านนายกเมืองพัทยา ชี้มาตรการบำบัดน้ำเสียมีมาตรฐาน พร้อมประสานขอความร่วมมือจาก อปท.ใกล้เคียงให้จัดทำระบบ เชื่อจัดการได้
นายมาโนช หนองใหญ่ สมาชิกสภาเมืองพัทยา ตั้งกระทู้ถามผู้บริหารเกี่ยวกับมาตรการจัดการน้ำเสียจากพื้นที่ใกล้เคียง ในวาระที่ 4 ของการประชุมสภาเมืองพัทยา สมัยสามัญ สมัยที่ 4 ครั้งที่ 1 /2557 โดยระบุว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่นอกเขตปกครอง หรือในเขต อปท.หนองปรือ และหนองปลาไหล ซึ่งต่อเชื่อมระบบระบายน้ำตรงสู่เมืองพัทยานั้น พบว่าปัจจุบันมีโรงงานขนาดใหญ่หลายแห่งทำการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่คูคลองธรรมชาติ ส่งผลให้น้ำเสียไหลบ่าเข้ามาในเขตพื้นที่จนทำให้สภาพคลองมีคุณภาพที่ต่ำลงจนระบบนิเวศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ น้ำตามแหล่งน้ำที่สำคัญ ทั้งคลองนาเกลือ และคลองนกยาง ซึ่งรับน้ำมาจากพื้นที่ดังกล่าวก็มีการไหลระบายเข้าสู่เขตเมืองพัทยาก็ผันลงสู่ทะเล ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ในอนาคตอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเหมือนอดีตที่เมืองพัทยาเคยประสบปัญหาน้ำทะเลเน่าเหม็น จึงเห็นควรให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไข
ด้าน นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้ชี้แจงว่า เมืองพัทยาได้มีการบริหารจัดการเรื่องการน้ำที่เป็นมาตรฐานตั้งแต่ปี 2535 หลังได้รับงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมในการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งสามารถรองรับน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม จากการเติบโตของเมือง และเศรษฐกิจ ทำให้การบำบัดอาจมีปัญหาไปบ้าง แต่ปัจจุบันได้มีการจัดสรรงบประมาณในการเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ด้านใต้ บริเวณเทพประสิทธิ์ และจอมเทียน ซึ่งระบบดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 58 นี้ ขณะที่ระบบการรองรับในพื้นที่เมืองพัทยานั้น ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาออกแบบ เพื่อขยายระบบให้มีความสมบูรณ์ และสามารถรองรับน้ำเสียที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีการนำเสนอโครงการต่อสำนักงบประมาณ ในการพิจารณาขอการสนับสนุนเพื่อจัดทำในเร็ววันนี้
นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาการระบายน้ำจากฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะจากเขตเทศบาลหนองปลาไหล และหนองปรือ นั้น ปัจจุบันมีการต่อเชื่อมระบบระบายเข้าสู่ระบบหลักของเมืองพัทยา ซึ่งจะไหลเข้าสู่ระบบระบาย และคลองธรรมชาติใน 6 เส้นทางหลัก ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วหากอยู่ในช่วงเวลาปกตินอกฤดูกาลในหน้าฝน เมืองพัทยา ก็สามารถรองรับน้ำที่ไหลเข้าสู่ระบบเพื่อนำกลับไปบำบัดได้อย่างพอเพียง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคงมาจากช่วงเวลาที่ผ่านมาซึ่งเป็นฤดูฝนจึงทำให้ปริมาณน้ำมีมากกว่าปกติ จนทำให้ไม่สามารถรองรับการบำบัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เมืองพัทยาเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และใกล้ทะเล จึงเป็นจุดรับน้ำที่ไหลมาจากทิศต่างๆ แต่ที่ผ่านมา ก็ได้ประสานพื้นที่ใกล้เคียงเหล่านี้เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขเกี่ยวกับระบบระบายน้ำให้อยู่ในกรอบ และข้อบังคับของกฎหมาย ซึ่งก็พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 2 แห่งก็มีมาตรการในจัดการเรื่องดังกล่าวที่ดีอยู่แล้ว พร้อมทำการประสานผู้ประกอบการในพื้นที่ให้เห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของระบบการจัดการน้ำด้วยเช่นกัน
ในส่วนของเมืองพัทยา ก็ได้มีการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยตลอด และให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถจัดการได้อย่างไม่มีปัญหาแน่นอน