นับตั้งแต่ที่โรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.จะนะ จ.สงขลา ได้เปิดเดินเครื่องเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้นับเป็นเวลา 10 ปีของการดำเนินการ ส่วนโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาดกำลังการผลิต 732 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เดียวกันก็ได้เปิดดำเนินการมาแล้ว 6 ปีเศษ และมีโรงไฟฟ้าลักษณะเดียวกันเปิดดำเนินการอีก 1 เฟส ในพื้นที่เดียวกัน โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 750 เมกะวัตต์
ตลอดระยะเวลา 10 ปีของการมีโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าในพื้นที่ อ.จะนะ ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทที่มาดำเนินการมีผลกำไรเติบโตขึ้นมหาศาล แต่อีกด้านหนึ่งกลับสร้างความหายนะให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งปัญหามลพิษทางน้ำ มลพิษทางเสียง มลพิษทางอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้านอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ และแทบจะไม่มีใครให้ความสนใจในโชคชะตาที่ชาวบ้านกลุ่มนี้ต้องเผชิญ
อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่ศึกษาเรื่องนี้ และได้นำตัวอย่างจากการสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าจะนะ มาเผยแพร่ทางสื่อช่อง “TV 1 D” หรือ “ทีวีวันดี” ผ่านโซเชียลมีเดีย ออนไลน์ และเป็นที่น่าสนใจว่า ผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเคยเป็นผู้สนับสนุนโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ไม่คาดคิดว่าจะมีผลกระทบถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวได้ขนาดนี้ กว่าจะรู้ตัว ทุกอย่างก็สายไปเสียแล้ว
ขณะที่ความเดือดร้อนของชาวบ้านจากโครงการโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และโครงการที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา ภาครัฐกลับพยายามผลักดันโครงการที่จะก่อมลพิษเข้ามาในพื้นที่บริเวณนี้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด คือแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรง รวมเป็น 2,000 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ อ.เทพา ติดกับ อ.จะนะ จ.สงขลา
โดยในวันที่ 2 พ.ย.นี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.จะมาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 หรือเวที ค.1 ที่ อ.เทพา ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีการมาจัดตั้งมวลชนสำหรับสนับสนุนโครงการนี้เอาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รูปแบบการทำมวลชนของ กฟผ.ครั้งนี้ ไม่แตกต่างกับครั้งที่จะมีการก่อสร้างโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าจะนะ แต่อย่างใด
ก่อนที่ประชาชนใน อ.เทพา จะตัดสินใจใดๆ ต่อการเชิญชวนของ กฟผ.ที่นำวาทกรรม “ถ่านหินสะอาด” มากล่อมชาวบ้านในพื้นที่ เสียงสะท้อนจากชาวบ้านที่เคยสนับสนุนโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าจะนะ น่าจะเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่ง และเสมือนเป็นบทเรียนให้ประชาชนได้ตระหนักว่า การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐนั้น มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ติดตามได้จากคลิปวิดีโอ