ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - หลังศึกษารายละเอียดข้อมูล และรายละเอียดของโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล หรือ แลนด์บริดจ์ แล้วพบว่า ชุมชน ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ บริเวณใกล้ป่าสงวน และสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง “น้ำตกโตนงาช้าง” หลีกไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบซ้ำรอย “มาบตาพุด” ชาวบ้านจึงรวมตัวกันในนาม “เครือข่ายทุ่งตำเสารักษ์ถิ่น” ออกแถลงการณ์ค้าน คสช.และภาครัฐยุติโครงการทันที เผยขอดำรงชีวิตบนวิถีเกษตรพอเพียง
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่ห้องประชุมโรงเรียนบ้านหูแร่ ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ชาวบ้านในนามเครือข่ายทุ่งตำเสารักษ์ถิ่น ได้จัดเวทีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล หรือแลนบริดจ์ ที่เลือกเอาเส้นทางผ่าน ต.ทุ่งตำเสา เป็นเส้นทางผ่านของถนนมอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ขนส่งสินค้า และจุดแวะพักสินค้า ซึ่งจะมีการเวนคืนที่ดินหลายพันไร่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่กังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคน จึงได้รวมตัวกันพร้อมออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่อง ขอให้ยุติการผลักดันโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษเชื่อมต่างประเทศ เส้นทางหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย
ตามที่กรมทางหลวง ได้กำหนดเส้นทางที่จะสร้าง “ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายที่ 8” นั้น พบว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างความเดือดร้อน และผลกระทบอย่างมหาศาลต่อชาวบ้าน และชุมชนตลอดเส้นทางการก่อสร้าง เป็นระยะทางกว่า 62 กิโลเมตร และยังพบว่าได้มีการเตรียมพื้นที่รองรับนิคมอุตสาหกรรมไว้แล้วด้วย โดยโครงการดังกล่าวได้มีการดำเนินการศึกษาและออกแบบโครงการไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับเสียงคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก และทางหน่วยงานราชการ และบริษัทที่ปรึกษาได้รับทราบมาโดยตลอด ที่สำคัญโครงการดังกล่าวยังมีข้อบกพร่องในการจัดทำโครงการที่ไม่ได้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อีกทั้งยังมิได้มีการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลผลกระทบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ อย่างทั่วถึง และครบถ้วนให้แก่ประชาชนในพื้นที่
สำหรับพื้นที่ ตำบลทุ่งตำเสา เป็นชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานมาอย่างยาวนาน ดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นบนฐานทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ และมีการปรับวิถีการดำรงชีวิตให้สอดคล้องต่อพื้นที่มานานแล้ว การเข้ามาของโครงการดังกล่าว ทั้งโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษเชื่อมต่างประเทศเส้นทางหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซียและการดำเนินการโครงการนิคมอุตสาหกรรม จะส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งการสูญเสียที่ทำกิน สูญเสียวิถีชีวิต มลพิษทางเสียง มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ การแย่งชิงทรัพยากร การย้ายถิ่นที่อยู่ และอาจนำไปสู่ความล่มสลายของชุมชนอย่างเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในประเทศไทย ทั้งนี้ ชาวทุ่งตำเสา เห็นร่วมกันว่าควรเก็บพื้นที่ทุ่งตำเสาไว้เป็นพื้นที่ผลิตอาหาร เป็นแหล่งรักษาป่าต้นน้ำ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจทั้งสำหรับคนในชุมชน และคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตอากาศที่บริสุทธิ์สำหรับคนจังหวัดสงขลา
เครือข่ายทุ่งตำเสารักษ์ถิ่น จึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ดำเนินการทบทวน และยุติการดำเนินการโครงการดังกล่าวไว้ เพื่อคืนความสงบสุขให้แก่ชุมชน และขอให้มีการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้แนบรายชื่อประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการมา และจะยื่นไปถึงคณะรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ คสช.ต่อไป