xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.กระบี่รณรงค์ฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยักเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
กระบี่ - สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ รณรงค์ประชาชนฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตั้งเป้าเดือนเมษายนกลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนครบ

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนพรรษา 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2558 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำ “โครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา เพื่อคุ้มครองคนไทยจากโรคร้ายด้วยวัคซีน ปี 2558” เพื่อเทิดพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน โดยจะเน้นการจัดให้มีกิจกรรมการรณรงค์วัคซีนที่จำเป็นครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมายให้ได้ตามเกณฑ์กำหนด

อันจะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยห่างไกลจากโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นกำลังสำคัญที่จะร่วมกันพัฒนาประเทศชาติไทยให้เข้มแข็งสืบไป ในปี 2558 ได้วางแผนรณรงค์ให้วัคซีนคอตีบ ในผู้ใหญ่อายุ 20-50 ปี ระหว่างเดือนมกราคม ถึงเมษายน 2558 เนื่องจากในภาคใต้ยังไม่ได้รณรงค์ให้วัคซีนดังกล่าวในกลุ่มผู้ใหญ่

สำหรับจังหวัดกระบี่ มีกำหนดการรณรงค์วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2558 โดย 1 เดือนแรกเป็นช่วงที่มีการรณรงค์แบบเข้มข้นในเชิงรุก และ 2 เดือนหลังเป็นช่วงเก็บตก ประชากรเป้าหมายคือ ประชากรที่มีอายุ 20 -50 ปี ทุกคนในจังหวัดกระบี่ (ผู้ที่เกิดระหว่างมกราคม 2508 ถึง ธันวาคม 2538) จำนวนเป้าหมายทั้งหมด 190,442 คน จากการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ประชาชนในจังหวัดกระบี่ ได้รับวัคซีนคอตีบไปแล้วร้อยละ 27 หรือประมาณ 50,000 คน คาดว่าภายในเดือนเมษายน 2558 พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดกระบี่ ที่มีอายุ 20-50 ปี ก็จะได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน

การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเป็นกลวิธีในการป้องกันควบคุมโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่ามากที่สุด ในปี 2552-2553 พบว่า มีการระบาดของโรคคอตีบเกิดขึ้นใน 4 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ล่าสุด ในปี 2555 เกิดการระบาดของโรคคอตีบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง ปี 2556 เกิดการระบาดของโรคคอตีบในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช ปี 2557 เกิดระบาดใน อ.เมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งมีแนวโน้มที่จะระบาดไปยังจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ ความเสี่ยงการระบาดของโรคคอตีบ

พบว่าผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีนในอดีต หรือผู้ที่เกิดก่อนเริ่มแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และเด็กที่ได้รับวัคซีนแต่ไม่ครบถ้วนตามเกณฑ์ หรือไม่ได้รับการกระตุ้นให้มีระดับภูมิคุ้มกันที่สาสมารถป้องกันโรคได้ สำหรับปี 2556 มีรายงานผู้ป่วยสงสัยว่า ป่วยด้วยโรคคอตีบ จำนวน 28 ราย เสียชีวิต 6 ราย และผู้ป่วยยืนยัน 21 ราย สำหรับในปี 2557 นี้ยังพบผู้ป่วยโรคคอตีบ และมีการเสียชีวิตด้วย

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น