ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สาธารณสุขกะทู้ จัดโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ เพื่อคุ้มครองคนไทยจากโรคร้ายด้วยวัคซีนปี 2558
นายสายัณห์ ชนะชัยวงศ์ นายอำเภอกะทู้ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ เพื่อคุ้มครองคนไทยจากโรคร้ายด้วยวัคซีนปี มี นายอภิชัย โมหะหมัด สาธารณสุขอำเภอกะทู้ แขกผู้มีเกียรติ นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมในครั้งนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ก.พ.58 ที่วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
นายอภิชัย โมหะหมัด สาธารณสุขอำเภอกะทู้ กล่าวถึงการจัดกิจกรรมโครงการฯ ดังกล่าวว่า เนื่องจากในปี 2556 ได้มีการระบาดของโรคคอตีบเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ บริเวณพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช และปี 2557 ในจังหวัดชุมพร โดยมีแนวโน้มขยายไปจังหวัดอื่นๆ กระทรวงสาธารณสุขประเมินความเสี่ยงของการระบาดด้วยโรคคอตีบในกลุ่มนี้ พบว่าเกิดจากการที่ประชาชนยังไม่มีภูมิต้านทานโรค หรือมีภูมิคุ้มกันโรคแต่อยู่ในระดับที่ไม่เพียงพอ ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้ใหญ่ที่เกิดก่อน หรือเกิดในช่วงต้นของแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนครบถ้วนตามเกณฑ์ ซึ่งมักเป็นกลุ่มแรงงานย้ายถิ่น หรืออยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร
นอกจากนี้ มีผลการศึกษาหลายแห่งให้ผลตรงกันว่า ระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคคอตีบในประชากรไทยกลุ่มอายุต่างๆ มีแนวโน้มลดลงในกลุ่มอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอายุประมาณ 20-50 ปี ทำให้ต้องรณรงค์ให้วัคซีน dT เพื่อควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีการระบาดในผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก
ในปี 2558 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 ได้วางแผนรณรงค์ให้วัคซีน dT ในผู้ใหญ่อายุ 20-50 ปี ในภาคใต้ตอนบน โดยรณรงค์ให้วัคซีน dT ในเดือนมกราคม 2558 ถึงเมษายน 2558 เนื่องจากในภาคใต้ยังไม่ได้รณรงค์ให้วัคซีน dT ในกลุ่มผู้ใหญ่เป็นวงกว้าง อีกทั้งจำนวนประชากรกลุ่มเป้าหมายมีจำนวนที่เหมาะสมต่อการดำเนินโครงการ
ซึ่งในปี 2557 กรมควบคุมโรค ได้รณรงค์ในจังหวัดมุกดาหาร และผลการรณรงค์ให้วัคซีน dT ในภาพรวมของจังหวัดมุกดาหาร พบว่า ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารของจังหวัดและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ รวมทั้งบุคลากรที่สังกัดใน และนอกกระทรวงสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำชุมชน ตลอดจนประชาชนเป็นอย่างดียิ่ง ทำให้สามารถดำเนินการได้ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในประชากรกลุ่มเป้าหมายในภาพรวม คิดเป็นร้อยละ 90 และไม่พบอาการข้างเคียงภายหลังได้รับวัคซีนที่รุนแรง เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการสำรวจกลุ่มเป้าหมาย ประชาสัมพันธ์ บริหารจัดการวัคซีน จัดการรณรงค์ ติดตามกลุ่มเป้าหมายให้มารับวัคซีน และรายงานผลการดำเนินงานได้ตามแผน และเป้าหมายที่กำหนด นายอภิชัย กล่าวในที่สุด