xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางสุราษฎร์ฯ โอดงบ 6 พันล้าน ไม่ถึงมือเกษตรกรเอื้อนายทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - เกษตรกรชาวสวนยางสุราษฎร์ธานี โอดรัฐอัดงบโครงการมูลภัณฑ์กันชนฯ จำนวน 6,000 ล้านบาท ไม่ถึงชาวสวนจริงๆ เอื้อนายทุน เพราะยางร้อยละ 95 อยู่ในมือนายทุนทั้งสิ้น

นางสิริรัตน์ รัตนมนตรี เจ้าหน้าที่งานการเกษตรชำนาญงาน รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพารา จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ตลาดกลางยางพารา ( โค-อ๊อฟ ) สุราษฎร์ธานี ได้เปิดประมูลรับซื้อยางพาราตามปกติ โดยราคายางแผ่นดิบรมควัน ชั้น 1 ราคาอยู่ที่ 58.55 บาทต่อกิโลกรัม และไล่ลงมาตามระดับความชื้น แต่หลังจากเงินจากงบประมาณ โครงการมูลภัณฑ์กันชนฯ จำนวน 6,000 ล้านบาท หมดไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ยังมียางแผ่นจากเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มสหกรณ์ และกลุ่มพ่อค้าคนกลางที่นำมารอคิวขายอีก 5,700,000 กิโลกรัม รับบาลจึงได้มีคำสั่งให้ อ.ส.ย.รับซื้อยางทั้งหมดไว้ แต่ยังไม่จ่ายเงินแก่บุคคลใด โดยให้รับเป็นตั๋วเงินไปก่อนเพื่อรอเงินงบประมาณรอบใหม่ที่ทางรัฐบาลจะอนุมัติออกมาแก้ปัญหา จึงทำให้มียางแผ่นจำนวนมากตกค้างอยู่ที่ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี และมีบางส่วน อ.ส.ย.ได้ขนย้ายไปเก็บรักษาที่โกดังของเอกชนที่บริเวณปากน้ำตาปี อำเภอเมือง

ขณะนี้กลุ่มที่นำยางมาขายเริ่มไม่พอใจ เนื่องจากเวลาเนิ่นนานมามากแล้ว และทุกวันนี้ก็ยังมียางแผ่นไหลเข้าสู่ตลาดวันละประมาณ 500 ตัน แต่ติดขัดที่ไม่มีไม้รองรองรับยาง (พาเลต) จึงไม่สามารถลงยางได้ ทำให้มีรถต้องจอดรอคอยคิวลงยางเป็นจำนวนมาก


นางสิริรัตน์ ยังระบุอีกว่า โครงการมูลภัณฑ์กันชนฯ จำนวน 6,000 ล้านบาท ที่รัฐอนุมัติเงินมานั้น เกษตรกรได้นำยางส่วนใหญ่ไปขายให้พ่อค้าคนกลาง จึงทำยางอยู่ในมือของกลุ่มนายทุนร้อยละ 95 มีส่วนน้อยยังอยู่กับเกษตรกร ประกอบกับในช่วงนี้เกษตรกรเริ่มปิดหน้ากรีดยาง ดังนั้น ยางแผ่นส่วนใหญ่ที่ไหลเข้าสู่ตลาดกลางเป็นของกลุ่มทุน จะเห็นว่าโครงการของรัฐที่ออกมาเท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุน ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางอย่างที่รัฐตั้งความหวังไว้

ด้าน นายเทิด สุทธิ อายุ 46 ปี เกษตรกรชาวสวนยางอำเภอท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ระบุว่า ตนเป็นเกษตรกรตัวจริง มีบัตรเกษตรกร ไม่ใช่เกษตรกรรับจ้างนายทุน ได้นำยางมาขายแต่ต้องเข้าคิวนอนรอมา 2 วันแล้ว ยังไม่สามารถขายยางในตลาดกลางได้ รถของเกษตรมีแค่ 13 คันที่มาเข้าคิว และเป็นรถกระบะ มียางอยู่ประมาณคันละ 1,500 กิโลกรัม แต่ก็ไม่สามารถลงขายได้ เนื่องจากคนงานติดลงยางแผ่นของกลุ่มพ่อค้าคนกลาง ทำให้ชาวสวนได้รับความเดือดร้อนหนัก เนื่องจากเสียเวลามานอนรอคิวขายยาง

นายเทิด ยังระบุว่า โครงการดังกล่าวที่รัฐบาลออกมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง แต่ในทางกลับกันเป็นการช่วยเหลือกลุ่มนายทุน เนื่องยางแผ่นกว่าร้อยละ 95 อยู่ในมือของพ่อค้าคนกลาง ส่วนยางที่อยู่ในมือของเกษตรกรเหลือเพียงร้อย 5 เท่านั้น และคาดว่าไม่เกิน 1 อาทิตย์ เกษตรกรต้องหยุดกรีดยางกันแล้ว เหตุต้นยางผลัดใบ ต้นยางไม่มีน้ำยางออก




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น