ตรัง - เกษตรกรชาวสวนยางเมืองตรังเริ่มเปลี่ยนวิธีการทำสวนยาง จากขายน้ำยางสด แล้วหันมาผลิตเป็นยางแผ่น หลังจากมีส่วนต่างด้านราคาสูงมาก กก.ละ 5-10 บาท เผยแม้จะยุ่งยาก แต่ก็คุ้มค่าต่อรายได้
ผู้สื่อข่าวจังหวัดตรังรายงานว่า หลังจากสถานการณ์ราคาน้ำยางสดกับยางแผ่น มีความห่างต่างกันถึงกิโลกรัมละ 5-10 บาท ทำให้ลูกจ้างกรีดยาง หรือที่คนใต้เรียกว่า คนกรีดยางหวะ หลายรายต้องตัดสินใจนำน้ำยางที่กรีดได้แต่ละวันเปลี่ยนมาทำยางแผ่นแทน ถึงแม้ขั้นตอนต่างๆ จะยุ่งยาก และต้องใช้ระยะเวลาที่นานขึ้น แต่หากเทียบความคุ้มค่าต่อราคาที่แตกต่างไปจากการขายน้ำยางสด ลูกจ้างกรีดยางทุกคนก็ยอมรับได้ เพราะทำให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น เพียงพอต่อการนำมาใช้จ่ายในยุคที่ค่าครองชีพสูงอย่างทุกวันนี้
น.ส.ภูมิจิต ศรีแก้ว ผู้จัดการสวนยางแห่งหนึ่งในพื้นที่หมู่ที่ 9 ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง กล่าวว่า ตนเองมีพื้นที่สวนยางประมาณ 300 ไร่ และมีลูกจ้างกรีดยาง จำนวน 30 คน แต่หลังจากที่ราคาน้ำยางสดตกต่ำลงอย่างมาก ตนเองได้ปรับเปลี่ยนมาทำยางแผ่นแทน เพื่อจะได้มีเงินเก็บ เพราะราคาน้ำยางสดกับยางแผ่นมีความต่างกันมาก หรือห่างกันอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 5-10 บาท ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ตนเองต้องสูญรายได้ไปวันละนับหมื่นๆ บาทเลยทีเดียว
นอกจากนั้น ต้นทุนในการทำสวนยางยุคปัจจุบันก็มากสูงมาก ขณะเดียวกัน ในปีหนึ่งๆ ก็สามารถกรีดยางได้เพียง 7-8 เดือนเท่านั้น โดยจะต้องหยุดกรีดในช่วงหน้าแล้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน รวมทั้งในช่วงหน้าฝน ทั้งนี้ เมื่อราคายางตกต่ำจึงทำให้เจ้าของสวนบางราย มีการปรับเปลี่ยนไปปลูกปาล์มแทน เนื่องจากเห็นว่าหากอนาคตการทำสวนยางยังไม่แน่นอน ก็ควรจะต้องมีการปลูกพืชแบบผสมผสานเพื่อลดโอกาสเสี่ยง และมั่นใจว่าราคายางคงไม่กลับมาถึงกิโลกรัมละ 100 บาท เหมือนในอดีตอีกแล้ว