xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “นกฮัมมิ่งเบิร์ดเมืองไทย” แต่ต้องเข้าใจว่ามันไม่ใช่นก (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจาก Mongkol Keawtep
โดย..ณขจร จันทวงศ์

เย็นวันหนึ่งผมได้เห็นนกที่คิดว่าตัวเล็กที่สุดที่เท่าที่เคยเห็นมาในชีวิต มันบินมากินน้ำหวานจากดอกโมกริมคลองระบายน้ำเล็กๆ ละแวกบ้าน ลักษณะลำตัวของมันมีสีดำ สลับกับสีเหลือง ท่วงท่าการบิน และการกินน้ำหวานเหมือนนกฮัมมิ่งเบิร์ดทุกอย่าง แต่คงเป็นเพราะว่ามันมีขนาดเล็ก และบินฉวัดเฉวียนได้เร็ว ผมจึงไม่เคยบันทึกภาพมันได้เลยสักครั้ง แค่คิดจะไปหยิบกล้องถ่าย มันก็บินหายไปเสียแล้ว

ผมเล่าเรื่องนี้ให้ญาติๆ กับเพื่อนๆ แถวนั้นฟัง เพราะเชื่อว่ามันจะต้องเป็นนกที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก บางคนบอกว่า เขาเคยเห็นเหมือนกัน บางคนก็บอกว่าไม่เคยเห็น เลยทำให้สงสัยว่ามีการบันทึกเรื่องนกตัวเล็กนี้ไว้ในรายชื่อนกที่พบในเมืองไทยหรือไม่ เริ่มจากการตั้งคำถามเป็นอันดับแรกว่า เมืองไทยมีนกฮัมมิ่งเบิร์ดด้วยหรือไม่ นอกจากกระจิบ หรือนกกินปลี ตัวสีเหลืองๆ ที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ ซึ่งมันก็มีขนาดเล็กเหมือนกัน แต่เจ้าตัวที่เราเพิ่งเห็นนี้เป็นนกที่มีขนาดเล็กกว่าประมาณ 3 เท่า
ขอบคุณภาพจาก Mongkol Keawtep
 
ผมลองค้นหาในกูเกิล โดยใช้คำว่านกฮัมมิ่งเบิร์ดเมืองไทย ก็พบว่าใน www.pantip.com มีกระทู้หนึ่งพูดถึงเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ตามลิงก์ http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2010/06/X9413523/X9413523.html คุณสมาชิกผู้ใช้นามแฝงว่า flycatcher ผู้สันทัดกรณีเรื่องนกไขข้อข้องใจให้ทราบว่า “ก่อนอื่นก็ต้องบอกก่อนว่า นกฮัมมิ่งเบิร์ดในบ้านเราไม่มีครับ แต่หลายคนคงเคยเห็นแมลงชนิดหนึ่งซึ่งบินเหมือนนกฮัมมิ่งเบิร์ด เรามารู้จักชื่อเค้าก่อนละกัน ผีเสื้อเหยี่ยวปีกใส (Family : Sphingidae)

ผีเสื้อกลางคืนที่บินหากินตอนกลางวัน รูปร่างคล้ายผึ้ง หรือผีเสื้อปีกใส (Family Sesiidae) ถ่ายตอนกำลังบินกินน้ำหวานจากดอกไม้ ลักษณะการบินคล้ายกับนกฮัมมิ่งเบิร์ด คือ บินอยู่กับที่และกระพือปีกตลอดเวลา ซึ่งผีเสื้อเหยี่ยวส่วนใหญ่ หรือผีเสื้อทั่วไปบินในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้

 
ขอบคุณภาพจาก Mongkol Keawtep
 
ผีเสื้อชนิดนี้ตอนออกจากดักแด้ใหม่ๆ มีเกล็ดที่ปีกเช่นเดียวกับผีเสื้อธรรมดา แต่เมื่อออกบินเกล็ดจะหลุดไป เนื่องจากการกระพือปีกที่เร็วมาก (อ้างอิงจาก http://www.ru.ac.th/butterfly/butterfly/newupdate/update011143/otherinsects/sphingidae.htm)

“ช่วงเวลาที่พบผีเสื้อชนิดนี้ตั้งแต่บ่ายถึงตอนค่ำๆ ครับ คุณ flycatcher ระบุ
 



นอกจากไขข้อข้องใจให้แล้ว ยังมีภาพนิ่ง และคลิปวิดีโอมาให้ชมด้วย ซึ่งจากภาพถ่ายทำให้ได้เห็นว่า เจ้าผีเสื้อชนิดนี้แท้จริงแล้วมีส่วนที่แตกต่างกับนกฮัมมิ่งเบิร์ดอยู่มากพอสมควร ทั้งส่วนหาง ส่วนหัว แต่ส่วนปีก และลำตัวนั้นลักษณะเหมือนนกมาก แต่ความปราดเปรียวและความเร็วนั้นเทียบไม่ติดกับความเร็วของนกฮัมมิ่งเบิร์ด แต่หากมองด้วยตาเปล่าคงจะแยกแยะได้ยากว่ามันคือ นก หรือผีเสื้อ



ต่อไปนี้หากใครพบเห็นเจ้าสัตว์ชนิดนี้ก็คงไม่เข้าใจผิดเหมือนผมอีกว่ามันคือ นกฮัมมิ่งเบิร์ด เพราะตามข้อเท็จจริงนกฮัมมิ่งเบิร์ด ไม่มีอยู่ในเมืองไทย แต่พบมากในทวีปอเมริกา อย่างไรก็ตาม สำหรับเจ้าผีเสื้อเหยี่ยวปีกใสตัวนี้ หากใครจะเรียกชื่อมันเล่นๆ ว่านกฮัมมิ่งเบิร์ดเมืองไทย ก็คงจะไม่แปลก โทษฐานที่มันมีลักษณะคล้ายกันมากจนเกือบจะแยกไม่ออกนั่นเอง
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น