เมื่อพูดถึงดักแด้ มันก็คือหนอนไหม ที่เป็นผลพลอยได้จากการเลี้ยงไหม ที่ผ่านมา ดักแด้จะถูกขายให้พ่อค้าแม่ค้านำไปทอดขายเป็นอาหารทานเล่นบ้านๆแต่วันนี้ ดักแด้ได้กลายเป็นเมนูอาหารทานเล่น ภายใต้แพ็คเกจจิ้งที่สวยทันสมัยไปแล้ว แบรนด์ “Phu Farm” จากความคิดสร้างสรรค์ของ “พัทธพงษ์ พงษ์เพชร” ผู้ประกอบการเลี้ยงไหมจากจังหวัดกาฬสินธุ์ เจ้าของ “พงษ์เพชรฟาร์ม”
ก่อนหน้านี้ พัทธพงษ์ก็เหมือนผู้ประกอบการในธุรกิจเลี้ยงตัวไหมทั่วๆไป คือ มีรายได้หลักมาจากขายรังไหมให้แก่บริษัทขนาดใหญ่ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นเส้นไหม ที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
ต่อมาในภาคอีสาน เริ่มมีคนหันมาทำธุรกิจเลี้ยงไหมกันมากขึ้น เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ จนต้องตัดสินใจปิดกิจการพงษ์เพชรฟาร์ม ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวลง
พัทธพงษ์เล่าว่า การปิดตัวลงในครั้งนั้น ก็เพื่อกลับไปศึกษา และเรียนรู้ตลาดให้รอบด้านมากขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อกลับเข้าสู่ธุรกิจเลี้ยงไหมอีกครั้ง
“หลังจากปิดกิจการไป ผมไม่ได้ถอดใจ เพียงแต่ตอนนั้นมองว่าเมื่อเกิดปัญหา เราต้องหยุด ต้องหาทางแก้ปัญหาให้ได้ก่อน ผมกลับไปศึกษาข้อมูล เพื่อหาวิธีเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจเลี้ยงไหม ตั้งแต่ในปี 2549 จนสามารถกลับมาเปิดกิจการพงษ์เพชรฟาร์มขึ้นใหม่อีกครั้งได้ในปี 2552 โดยครั้งนี้ผมเข้ามาลงมือทำเต็มตัว จากที่ในช่วงแรกนั้น คุณพ่อคุณแม่จะเป็นตัวหลักในการดำเนินธุรกิจ”
“จากเดิมที่เราเคยเลี้ยงหนอนไหมสายพันธุ์ที่กินใบหม่อน หรือที่เรียกกันว่าหนอนใบหม่อน ซึ่งมีระยะเวลาในการเลี้ยง ตั้งแต่แรกฟักไปจนถึงวัยสุกอยู่ที่ประมาณ 24 วัน เปลี่ยนมาเป็นการเลี้ยงไหมสายพันธุ์ไหมป่าอีรี่ ที่กินใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร ซึ่งภาคอีสานบ้านเรามีการปลูกมันสำปะหลังกันเยอะมาก ง่ายในการหาวัตถุดิบ ต้นทุนต่ำลง ที่สำคัญไหมสายพันธุ์นี้มีระยะเวลาในการเลี้ยงที่สั้นกว่าไหมสายพันธุ์เดิม เกิดจากการที่เรามีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์มาเรื่อยๆ จนตอนนี้ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 15 วัน ช่วยให้เราได้เปรียบทางการแข่งขัน ได้รับผลตอบรับที่ดีขึ้น”
แม้จะได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่ลดลง แต่การเลี้ยงไหมเพื่อขายรังไหมก็ยังอยู่ยาก เนื่องจากรังไหมถูกกดราคามาก และยังมีคู่แข่งในตลาดที่ผูกขาดกับบริษัทขนาดใหญ่ไปแล้วเกือบหมด ทางออกของพัทธพงษ์ คือ การส่งรังไหมไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น อีกส่วนหนึ่งขายให้กับนักวิจัยไทยใช้ในการศึกษา ถึงแม้ราคาที่ได้จะต่ำ แต่ยังถือว่าสูงกว่าการขายให้กับบริษัทในไทย
ส่วนที่กลายมาเป็นรายได้หลักของฟาร์มจริงๆนั้น กลับอยู่ที่ตัวหนอนไหมหรือดักแด้ ที่ได้รับความนิยม และเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้บางครั้งอาจขาดแคลนในส่วนของวัตถุดิบ พัทธพงษ์จึงสร้างเครือข่ายผู้เลี้ยงไหมอีรี่ทางภาคอีสานขึ้น ครอบคลุมทั้งจังหวัดกาฬสินธุ์, อำนาจเจริญ, อุดรธานี และขอนแก่น
โดยการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ชาวบ้าน จากที่เคยปลูกหนอนไหมใบหม่อน ให้เปลี่ยนมาปลูกหนอนไหมอีรี่ เพราะเลี้ยงง่ายด้วยใบมันสำปะหลัง ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้นลง และยังได้ปริมาณตัวดักแด้มากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
“รายได้หลักของเรามาจากการขายดักแด้ไหมสดๆ ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อนำไปทอดขายเป็นอาหารกินเล่น เพราะคนอิสานเกือบทุกคนกินแมลง กินดักแด้กันอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ และคนอีสานก็มีจำนวนมาก กระจายตัวกันอยู่ในทุกภูมิภาค”
“ทีนี้พอเรามีเครือข่ายผู้เลี้ยงไหมอิรี่ทางภาคอีสาน ก็ทำให้วัตถุดิบดักแด้สดของเรามีมาก อยู่ที่เฉลี่ยเดือนละ 9 ตัน เลยเกิดไอเดียที่จะนำดักแด้เหล่านี้มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจ โดยการขอเข้ารับคำปรึกษาจากมหาวิทยาลัยของรัฐบาล ทั้งจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสกลนคร”
“เมื่อเรียนรู้ถึงกระบวนการแปรรูป และได้ตัวต้นแบบมาแล้ว ก็นำมาพัฒนาต่อที่ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในโครงการอบรมทักษะประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ คิดหากระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนกลายเป็นดักแด้ไหมอีรี่อัดกระป๋องภายใต้แบรนด์ Phu Farm”
ในช่วงแรกนั้น กระบวนการผลิตยังมีปัญหาอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุการผลิตที่ไม่รู้วันหมดอายุที่แน่ชัด ไปจนถึงกลิ่นเหม็นหืนของดักแด้กระป๋อง จนกระทั่งได้รับความร่วมมือจาก ดร.อัศวิน อมรสิน อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยี เป็นผู้ให้คำแนะนำ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และมีอายุการเก็บรักษาที่นานขึ้น
“จริงๆแล้วความยากของมัน เริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์หนอน เพราะสายพันธุ์ที่กินใบสำปะหลังนั้นจะมีตระกูลหวานกับตระกูลขม ซึ่งเราจะคัดเลือกเฉพาะสายพันธุ์ตระกูลหวานมาเลี้ยง เพื่อให้ดักแด้ที่ได้มีรสออกหวาน รวมไปถึงกระบวนการเลี้ยง ที่ต้องเพาะเลี้ยงในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี เพราะถ้าอากาศร้อนหรืออากาศไม่ดี ดักแด้ไม่สามารถชักเส้นใยเพื่อทำรังได้เต็มที่ ส่งผลให้ดักแด้ที่ได้กลายเป็นดักแด้ที่มีเกรตต่ำ เป็นอีกเกรดหนึ่งไปเลย อย่างในช่วงหน้าร้อน ก็จะมีปัญหาเยอะ เราก็ต้องให้ความรู้แก่เครือข่ายชาวบ้าน เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ โดยการให้เขานำไปเลี้ยงใต้ต้นไม้ หรือหากเลี้ยงในร่มก็ต้องเปิดน้ำลักษณะเป็นสเปรย์พ่นหลังคา เพื่อควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ร้อนจนเกินไป ไม่อย่างนั้นหนอนจะชักใยไม่ได้
เมื่อได้ตัวดักแด้มาแล้วก็นำไปเข้าช่องทำน้ำแข็งในตู้เย็นนาน 24 ชั่วโมง สาเหตุที่ต้องนำดักแด้ไปแช่แข็งก่อนทอด ก็เพื่อให้ดักแด้มีความกรอบทั่วกันทั้งตัว หากนำไปทอดโดยไม่ผ่านการแช่แข็ง ดักแด้ที่ทอดออกมาก็จะเหนียว
จากนั้นนำไปทอดในขณะที่ดักแด้ยังแข็งตัว โดยตั้งกระทะรอจนน้ำมันได้อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส จึงใส่ดักแด้ลงไปทอดจนเหลืองกรอบ แล้วนำขึ้นมาซับน้ำมันออก เสร็จแล้วนำไปเข้าตู้อบแห้งลมร้อนที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส นานครึ่งชั่วโมง เมื่อออกจากตู้อบก็นำมาปรุงรส โดยการคลุกเคล้ากับผงปรุงรสให้ทั่ว แล้วนำไปบรรจุในกระป๋องดีไซน์ทันสมัย เพื่อให้ดึงดูดใจผู้บริโภค”
โดยอายุของดักแด้ไหมอีรี่บรรจุกระป๋องจะอยู่ได้นาน 4 เดือน ราคาขายกระป๋องละ 35 บาท ปริมาณ 20 กรัม มีให้เลือกทั้งหมด 8 รสชาติ แบ่งเป็นรสชาติที่ไม่เผ็ด ได้แก่ เกลือ, โนริสาหร่าย, ชีส และซาวครีมหัวหอม และรสชาติเผ็ด ได้แก่ ต้มยำ, บาร์บิคิว, กระเพรา และรสลาบ
นอกจากดักแด้กระป๋องแล้ว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์อีกตัว เรียกว่ารถด่วนสายไหม ซึ่งก็คือตัวหนอนที่มีการทำรังแล้ว แต่ยังไม่ได้กลายเป็นดักแด้ ซึ่งจะมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าดักแด้ ตอนนี้มีอยู่ 3 รสชาติ คือ เกลือ, ต้มยำ และบาร์บีคิว ราคา ขายอยู่ที่กระป๋องละ 35 บาทเท่ากัน
ล่าสุด กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์สูตรใหม่ ที่เรียกว่าสูตรเปียก ซึ่งจะมีน้ำมันผสมอยู่ ให้สามารถนำไปกินคู่กับข้าวได้ อาจจะปรุงรสเป็นเมนูกับข้าวที่ได้รับความนิยมอย่างรสกระเพรา เพื่อขยายฐานของลูกค้าให้กว้างออกไป เพราะผลิตภัณฑ์แปรรูป 2 ตัวแรกจะเป็นสูตรแห้ง เหมาะกับการกินเป็นอาหารว่าง
“ผลิตภัณฑ์ของเราวางจำหน่ายอย่างไม่เป็นทางการมาได้ปีกว่าแล้ว มีหน้าร้านอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และการไปออกบูทต่างๆร่วมกับทางหน่วยงานราชการ บางคนก็ติดต่อเข้ามาที่ฟาร์มโดยตรง ให้เราส่งไปรษณีย์ไปให้ ที่จริงแล้วในช่วงแรก เราก็วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อถึงขั้นตอนของการขอ อย.(คณะกรรมการอาหารและยา) ก็พบว่ายังมีบางเรื่องที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่ เลยถอยออกมาเพื่อปรับปรุงในเรื่องของกระบวนการการผลิต รวมถึงมาตรฐานในเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย
ตอนนี้ก็มีความพร้อมแล้วอยู่ในขั้นตอนการขอ อย. เพื่อวางขายอย่างเป็นทางการต่อไป เพราะตอนนี้ก็มีตัวแทนจำหน่ายจากจังหวังต่างๆติดต่อเข้ามาเกือบทุกจังหวัดแล้ว โดยมากที่ติดต่อเข้ามาก็จะเป็นร้านค้า พวกร้านขายของที่ระลึกประจำจังหวัด ร้านค้าตามปั้มน้ำมัน และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ตอนนี้ก็รอ อย.เพียงอย่างเดียว ก็จะสามารถรุกตลาดได้อย่างเต็มตัว
กลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้าที่เราวางไว้ คือ คนทั่วๆไปที่ซื้อไปกินเป็นของว่างหรือสแน็ค กลุ่มเป้าหมายรอง คือ เด็กๆ ที่ชอบกินขนมขบเคี้ยว จึงเลือกทำรสชาติที่ไม่เผ็ดควบคู่กันไป อีกทั้งดักแด้ยังมีแคลเซียมสูง ให้ประโยชน์มากกว่าการกินขนมกินเล่นตัวอื่น และมีสารอาหารทั้งโอเมก้า 3 โอเมก้า 6 และโอเมก้า 9
นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจจากตลาดต่างประเทศ ที่ติดต่อเข้ามาทั้งออสเตรเลีย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, พม่า, ไต้หวัน และเกาหลี แต่ยังไม่สามารถส่งไปขายได้เพราะยังรอ อย.อยู่
นอกจากบางประเทศที่เขาไม่เคร่งครัด บอกเลยว่าไม่เอา อย.ขอแค่มีมาตรฐานการผลิต GMP ก็พอแล้ว อย่างเช่น ออสเตรเลีย, พม่า และฝรั่งเศล ก็มีส่งไปขายบ้างแล้ว โดยมากก็เป็นคนไทยที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนั้นๆ ติดต่อเข้ามารับสินค้าเราไปขายอีกทีหนึ่ง”
พัทธพงษ์ มั่นใจว่าโอกาสของธุรกิจดักแด้กระป๋องยังสดใส เพราะยังไม่มีคู่แข่งในตลาดโดยตรงเลย หากสามารถรักษามาตรฐานการผลิต และพัฒนาสินค้าต่อไปเรื่อยๆ ดักแด้กระป๋องแบรนด์ Phu Farm ก็น่าจะสามารถแจ้งเกิดได้ทั้งในไทยและต่างประเทศ
@@@@ ข้อมูลโดย นิตยสาร SMEs PLUS @@@@
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *