กำแพงเพชร - เกษตรจังหวัดตามตรวจ “ผีเสื้อหน้าคน” ระบุเป็น “ผีเสื้อเหยี่ยวหัวกะโหลก” พบมากในภาคใต้ แต่ไม่เคยเจอที่กำแพงเพชร ยันไม่ทำลายผลผลิตลำไย แต่มีส่วนช่วยระบบนิเวศ
วันนี้ (28 ก.ค.) นายสมจิตร ธีระบุญชัยกุล เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมนักวิชาการ ไปตรวจสอบผีเสื้อหน้าคน ที่นางพัตรา คำเมฆ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 93/1 หมู่ 9 ต.เพชรชมพู อ.โกสัมพีนคร จ.กำแพงเพชร พบในสวนลำไย และจับมาเลี้ยงไว้ในกล่องพลาสติก
โดยนางพัตราได้นำผีเสื้อหน้าคนที่ยังเลี้ยงไว้ในกล่อง มีผ้าห่อรองไว้ใต้กล่องมาให้ตรวจสอบ พร้อมกับพาชมสวนลำไยรอบๆ บ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบผีเสื้อดังกล่าวด้วย
นายสมจิตรกล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการ พบว่าเป็นผีเสื้อเหยี่ยวหัวกะโหลก เป็นผีเสื้อที่มีขนาดกลาง ลำตัวป้อมยาว มีขนคล้ายพรมกำมะหยี่ปกคลุมลำตัว หัวสีน้ำตาลเข้มมีขนบางๆ สีน้ำตาลอ่อน อกมีลักษณะคล้ายหัวกะโหลก เป็นผีเสื้อกลางคืนวงศ์ผีเสื้อจรวด พบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน เป็นผีเสื้อที่มีชื่อเสียง และนักดูผีเสื้อทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะลวดลายเหนือปีกหลังคล้ายกับรูปหัวกะโหลก ที่ใช้สำหรับพรางตัวเพื่อหลบหลีกศัตรู เช่น นก ค้างคาว และสัตว์เลื้อยคลาน
ผีเสื้อประเภทนี้บินค่อนข้างเร็ว มีพฤติกรรมหาอาหารตอนเย็นและใกล้ค่ำ เวลากินน้ำหวานจากดอกไม้จะบินนิ่งอยู่กับที่ แล้วสอดงวงเข้าไปดูดกิน ในเวลากลางวันจะพักนอนตามพุ่มไม้ หรือบนต้นไม้ใหญ่ ขณะเป็นตัวหนอนมีลำตัวอ้วน เกลี้ยง สีเขียวหรือน้ำตาลเป็นส่วนมาก ปลายตัวมีหนามยื่นยาวออกมา จึงได้ชื่อว่า “หนอนหงอน” เวลาถูกรบกวนจะยกส่วนหน้าของลำตัวชูขึ้นมา เข้าดักแด้ในดิน เมื่อเติบใหญ่จะเป็นผีเสื้อหัวกะโหลก (Acherontia styx) ชอบกินใบมันเทศและยาสูบ
ส่วนใหญ่พบตามป่าดงดิบชื้นทางภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีข้อมูลการพบใน จ.กำแพงเพชร อาจจะบินพลัดหลงมาจากถิ่นอื่น
นายสมจิตรกล่าวว่า ผีเสื้อนี้ไม่ทำลายผลไม้จำพวกลำไย แต่จะดูดกินเพียงน้ำหวานจากผลที่แตกร่วง มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ คือ ช่วยผสมเกสร ถ้าพบมากสามารถจับทำลายได้ในเวลากลางคืน โดยการใช้ไฟฉายส่องไปตามต้น ถ้ามีผีเสื้อจะเห็นเป็นตาสีแดงแล้วใช้สวิงจับ หรือทำลายตัวหนอนโดยตรงเมื่อพบ