xs
xsm
sm
md
lg

ระบาดหนัก “แมลงหมัด” เกษตรกรพัทลุงเตรียมทิ้งแปลงผัก (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง - แมลงหมัดผัก กัดกินสวนผักได้รับความเสียหายเกือบ 1,000 ไร่ เกษตรกรหาวิธีกำจัดยังไร้ผล บางรายต้องไถทำลายแปลงผักทิ้งเนื่องจากไม่คุ้มต่อการลงทุน

วันนี้ (25 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุงว่า สภาพอากาศที่แปรปรวน กลางคืนเย็น กลางวันร้อนจัด และมีลมแรง ทำให้เกษตรกรที่ปลูกผักกินใบในพื้นที่ ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน ต.พญาขันต์ ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง พื้นที่เกือบ 1,000 ไร่ ได้รับความเสียหายจากแมลงหมัดผักที่ออกหากินกัดกินใบผักของเกษตรกรในตอนกลางคืน และช่วงเช้าอย่างหนัก แม้เกษตรกรจะพยายามหาวิธีกำจัดแต่ก็ยังไร้ผล จนบางรายต้องไถแปลงผักที่ลงทุนลงแรงทิ้งไป

โดยนายสมหมาย เภาทอง อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 558 ม.1 ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เกษตรกรที่มีประกอบอาชีพปลูกผัดกาดขาว กวางตุ้ง ผัดกาดหอม ผักคะน้า และผักกิน ขายเป็นอาชีพกล่าวว่า แมลงหมัดผักกำลังกัดกินผักที่กำลังเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงนี้หลังจากที่ตนปลูกผักเพื่อส่งขายตลาดในพื้นที่กว่า 3 ไร่ จนได้รับความเสียหาย แม้ตนพยายามใช้สารเคมีในการกำจัดแต่ก็ไม่สามารถควบคุม และทำได้จนต้องปล่อยทิ้ง เนื่องจากไม่คุ้มต่อการลงทุนลงแรง นอกจากนี้แล้ว แปลงผักของเกษตรกรรายอื่นก็โดนหมัดผักออกกัดกินจนได้รับความเสียหายเช่นกันจนต้องไถทำลายทิ้ง

ส่วนสาเหตุตนคาดว่าเกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และลมแรงทำให้แมลงหวัดผักระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งปีที่แล้วแมลงดังกล่าวไม่เข้ามาระบาดในพื้นที่ทำให้เกษตรสามารถมีรายได้จากการขายผักอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ปีนี้เกษตรชาวสวนผักเริ่มแย่ลง วอนทางจังหวัดเร่งให้การช่วยเหลือเป็นการด่วน

ด้านนายไพรวัลย์ ชูใหม่ นักวิชาการสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุงกล่าวว่า แมลงหมัดดำๆ ที่กัดกินผักกวางตุ้งนั้นก็คือ ด้วงหมัดผัก หรือด้วงหมัดกระโดด หรือแมงกระเจ๊า ที่จริงเป็นแมลงปีกแข็ง จึงเรียกเป็นด้วง มีขาแบบที่กระโดดได้ดี จึงเรียกเป็นหมัด และชอบกินใบอ่อนผักกาด ด้วงวัยเจริญพันธุ์เมื่อผสมพันธุ์แล้ววางไข่ในดิน ไข่ฟักออกเป็นตัวหนอน หากินซากพืชและรากอ่อนของผัก ตัวอ่อนจึงทำลายพืชได้ด้วยโดยทำลายราก แต่เมื่อเจริญเต็มที่ตัวอ่อนเข้าดักแด้แล้วลอกคราบออกเป็นตัวเต็มวัยคือ เป็นด้วงหมัดผักอย่างที่เห็น กัดกินใบผักเป็นรูพรุน บางครั้งเสียหายมาก

อยากแนะนำเกษตรกรใช้ภูไมท์ซัลเฟตรองก้นหลุม ใช้หว่านในแปลงผัก 20-40 กก./ไร่ ตั้งแต่ก่อนปลูก ทำให้ด้วงหมัดใช้พื้นที่ดินแปลงนั้นขยายพันธุ์ไม่ได้ ผักกวางตุ้งจะกรอบอร่อย การขยายเชื้อบีทีฉีดพ่นสัปดาห์ละครั้ง นอกจากหนอนผีเสื้อหมดไปแล้ว ด้วงหมัดผักค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนหมดไปในที่สุด เพราะทุกครั้งที่ฉีดพ่นเชื้อบีที กลางคืนหนอนด้วงหมัดจะขึ้นมากินเชื้อที่ผิวดิน

เพราะถูกดึงดูดด้วยกลิ่นน้ำหมักบีทีชีวภาพ กับนำมะพร้าวอ่อน หรือน้ำมะพร้าวแก่และไข่ไก่ หรือนมข้นหวาน การค่อยๆ ฆ่าตัวอ่อนสัปดาห์ละครั้งเป็นการลดตัวแก่ไปเป็นลำดับ จนจำนวนด้วงหมัดเหลือน้อย ไม่เกิดปัญหาอีก การใช้ 2 วิธีร่วมกันได้ผลดีที่สุด และหากมีการระบาดอีก ก็แนะนำเกษตรกรไถทิ้ง และหันมาปลูกพืชผักอื่นทดแทน



 
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น