xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนา “แมลงวันทองเป็นหมัน” ให้ผสมพันธุ์ได้เหนือกว่าแมลงวันในธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แมลงวันทองเป็นหมันสายพันธุ์ใหม่
สทน.- สทน.พัฒนาแมลงวันทองสายพันธุ์ใหม่ “หลังขาวที่เป็นหมัน” เพิ่มประสิทธิภาพการผสมพันธุ์ เหนือกว่าแมลงวันในธรรมชาติ ลดความเสียหายเพิ่มผลผลิตเกษตรกรไทย

จดหมายข่าวจาก สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ระบุว่า แมลงวันผลไม้เป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของผลไม้ในประเทศไทย นอกจากหนอนแมลงวันผลไม้ที่ฟักตัวออกมาจะกัดกินภายในผลไม้ทำให้เน่าเสียแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาที่ต่างประเทศกีดกันไม่ให้นำผลไม้จากประเทศไทยผ่านเข้าประเทศปลายทางได้ ยกเว้นผลไม้ที่ผ่านการกำจัดแมลงทางกักกันพืช เช่น การอบไอน้ำ การฉายรังสี การรมด้วยสารเคมี เป็นต้น

“การควบคุมแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติ ด้วยแมลงวันผลไม้เป็นหมันด้วยรังสีในพื้นที่กว้างร่วมกับวิธีอื่น เป็นวิธีการควบคุมแมลงเชิงรุกตั้งแต่ในแปลงปลูกที่ใช้ได้ผลในหลายประเทศมาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา (ฟลอริดา) เม็กซิโก ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา เปรู ชิลี อิสราเอล และในประเทศไทยมีการนำเทคนิคนี้มาใช้ในหลายพื้นที่เช่นเดียวกัน ได้แก่ ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี อ.บ้านฉาง จ.ระยอง อ.สามเหล็ก จ.พิจิตร อ.ขลุง จ.จันทบุรี และ อ.ลอง จ.แพร่  พบว่าสามารถลดความเสียหายผลไม้ของเกษตรกรที่ถูกทำลายโดยแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติได้มาก” จดหมายข่าวจาก สทน.ระบุ

การควบคุมแมลงวันผลไม้โดยใช้เทคนิคการปล่อยแมลงวันที่เป็นหมันผสมกับวิธีอื่นนี้ ต้องมีการตรวจสอบติดตามจำนวนแมลงวันในธรรมชาติและแมลงวันเป็นหมันที่ปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่อจำแนกแมลงวันที่เป็นหมันออกจากแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติ อาจจะต้องทำเครื่องหมายให้แตกต่าง โดยใช้วิธีการนำดักแด้แมลงวันมาคลุกด้วยผงสีสะท้อนแสงเพื่อให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ปัญหาที่พบในภายหลัง คือ สีสะท้อนแสงเป็นอันตรายต่อผู้เก็บผลการติดตามได้ เช่น เกิดอาการแพ้ เป็นโรคผิวหนัง หรือเป็นโรคทางเดินหายใจได้ เมื่อมีการสัมผัสกับแมลงวันผลไม้ที่มีสีสะท้อนแสงติดอยู่โดยตรง และผลของการติดตามแมลงวันที่เป็นหมันของ สทน.อาจจะได้ผลที่ไม่ชัดเจนหรือคลาดเคลื่อนได้

“กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ สทน.จึงทำการศึกษาพัฒนาแมลงวันผลไม้ (oriental fruit fly, Bactrocera dorsalis (Hendel)) สายพันธุ์หลังขาว เพื่อใช้ในการตรวจสอบแทนการผสมด้วยสีสะท้อนแสง ผลการทดลองพบว่า เมื่อทำการเพาะเลี้ยงแมลงวันสายพันธุ์หลังขาวเป็นจำนวนมากโดยวิธีการมาตรฐาน จำนวนดักแด้ที่ได้ จะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับดักแด้สายพันธุ์ปกติ แต่คุณภาพของแมลงดีขึ้น”

จากการปล่อยแมลงวันผลไม้สายพันธุ์หลังขาวที่เป็นหมันร่วมกับวิธีอื่น ในพื้นที่ควบคุมแมลงวันผลไม้ ต.ตรอกนอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี พบว่า จำนวนแมลงวันผลไม้สายพันธุ์ปกติลดลง 96.02% เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการควบคุมแมลงวัน และการใช้แมลงวันสายพันธุ์หลังขาวในการตรวจสอบติดตามประชากรแมลงวัน พบว่า มีความถูกต้องในการจำแนกแมลงที่เป็นหมันออกจากแมลงในธรรมชาติมากกว่า ใช้เวลา และต้นทุนวัสดุน้อยกว่าวิธีการทำเครื่องหมายดักแด้ด้วยผงสีสะท้อนแสง

เมื่อกลุ่มวิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงแมลงวันผลไม้สายพันธุ์หลังขาวเป็นผลสำเร็จแล้ว ขั้นตอนการทำให้เป็นหมัน ก็คือ การฉายรังสี ในระยะดักแด้ของแมลงวันด้วยเครื่องฉายรังสี Gamma chamber 5000 ที่ปริมาณรังสี 90 เกรย์ ทำให้ตัวเต็มวัยที่ออกมาจากดักแด้ที่ได้รับปริมาณรังสีต่ำสุดและสูงสุดเป็นหมันอย่างสมบูรณ์ทั้งสองเพศ คือ เมื่อเพศผู้ที่เป็นหมันจากการฉายรังสีผสมพันธุ์กับเพศเมียปกติ พบว่า เพศเมียวางไข่น้อยลงและไข่ที่วางไม่ฟัก ส่วนเพศเมียที่เป็นหมันจากการฉายรังสีเมื่อผสมพันธุ์กับเพศผู้ปกติ พบว่า เพศเมียไม่วางไข่

“ในสภาวะที่มีการแข่งขันการผสมพันธุ์ของแมลงวัน ศักยภาพในการแข่งขันผสมพันธุ์ของแมลงวันสายพันธุ์หลังขาวสูงกว่าสายพันธุ์ปกติ เนื่องจากมีความพร้อมในการผสมพันธุ์เร็วกว่านั่นเอง ให้ปริมาณแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติผสมพันธุ์กับแมลงเป็นหมันมากขึ้น สามารถลดปริมาณการทำลายพืชผลจากการเจาะของแมลงวันผลไม้ตามธรรมชาติได้เป็นจำนวนมาก”

ทั้งนี้ สทน.แจ้งว่าเป็นแห่งเดียวในประเทศที่ใช้เทคนิคนี้และพร้อมให้บริการแก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยพื้นที่การปลูกผลไม้ของไทยยังมีอีกมากในทุกภูมิภาคของประเทศ และมีการถูกรุกทำลายจากแมลงวันผลไม้ตามธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตผลไม้ที่ได้ เกิดความเสียหาย มีรายได้ไม่คุ้มกับรายจ่าย การควบคุมแมลงวันผลไม้ในพื้นที่กว้าง โดยใช้แมลงวันที่เป็นหมันด้วยการฉายรังสีของ สทน. ร่วมกับวิธีอื่น จึงเป็นอีกช่องทางการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร
แมลงวันทองหลังขาวในธรรมชาติ
เครื่องฉายรังสีทำหมันแมลง






กำลังโหลดความคิดเห็น