xs
xsm
sm
md
lg

ยอดเยี่ยม!! ฟีลกู๊ดและงดงามในความเป็นมนุษย์ : Like Father Like Son

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


โคริเอดะ ฮิโรคาสึ เคยทำหนังที่ถือได้ว่าอยู่ในความทรงจำของคนดูจำนวนไม่น้อย รวมถึงที่บ้านเรา นั่นก็คือ หนังหม่นเศร้าร้าวลึก อย่าง Nobody Knows และ พ.ศ.นี้ เขามีผลงานใหม่มาให้คนไทยเราได้ชมกันแล้ว และขออนุญาตออกตัวตั้งแต่บรรทัดแรกนี้เลยครับว่า เป็นหนังที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

คงเหมือนกับหนังรักที่มักจะมากับหน้าหนาว ผมมองว่า การที่มงคลเมเจอร์ เลือกวันฉายของ Like Father, Like Son ได้เหมาะเจาะกับช่วงเวลาอย่างยิ่ง เพราะกล่าวสำหรับคนไทยแล้ว ช่วงเดือนธันวาคม หรือนับตั้งแต่วันพ่อเป็นต้นไปนั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่เป็นมหามงคลยิ่งสำหรับคนไทย และLike Father, Like Son ก็เป็นหนังที่กล่าวถึงพ่อและหัวจิตหัวใจของความเป็นพ่อได้แบบซาบซึ้งกินใจ

แต่ด้วยสไตล์ของผู้กำกับโคริเอดะ จะพูดอะไรที่พื้นๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะลำพังแค่เปิดไพ่หงายพล็อต ก็น่าจะช็อตความรู้สึกของหลายคนได้แล้ว ดังนั้น ต่อให้ยังไม่ได้รับรู้อะไรเกี่ยวกับหนังเลย เอาแค่คำถามตั้งต้นที่ว่า ถ้าคุณเป็นพ่อซึ่งเลี้ยงลูกคนหนึ่งมาได้หกปี และได้รู้ความจริงว่าเด็กที่คุณเลี้ยงดูมานั้น ไม่ใช่ลูกที่แท้จริงของคุณ คุณจะทำอย่างไร? คุณจะรักเขาเท่ากับที่เคยรักเหมือนเมื่อวานได้หรือไม่? เพียงเท่านี้ก็ดูจะหนักอึ้งในความรู้สึกแล้ว

กระนั้นก็ตาม ถึงแม้กำลังจะบอกเล่าเรื่องซีเรียสชนิดที่ไม่ต่างอะไรกับการกำลังเผชิญหน้ากับสภาวะโลกแตก แต่ทว่าโคริเอดะกลับสามารถจัดวางอารมณ์ความรู้สึกของเรื่องได้หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์ขัน และความน่ารักของเด็กๆ ซึ่งตามข่าวนั้นบอกว่าแจ้งเกิดกันครบทุกคนจากผลงานชิ้นนี้

Like Father, Like Son ได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ เห็นป้ายรางวัลแล้วหลายคนอาจจะบอกว่ามันจะดูยากหรือเปล่า เพราะภาพจำจากหนังของเทศกาลนี้สำหรับคนดูหนังส่วนใหญ่ของบ้านเรา คือมันมักจะเป็นหนังที่ดูหนืดๆ เนือยๆ ดูไม่ค่อยเข้าใจ ขอบอกว่าตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงเลยครับ นี่เป็นหนังที่ดูง่าย ตรึงความสนใจของเราได้ตั้งแต่ต้นจนจบ นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า เรื่องราวที่อยู่ในหนังนั้น แม้จะดูหม่นๆ เศร้าๆ แต่ก็เป็นความเศร้าที่สวยงาม ตามแนวทางของหนังฟีลกู๊ด

สังเกตนะครับว่า เวลาที่คนญี่ปุ่นเขาทำหนังอะไรทำนองนี้ คือหนังประเภทที่แตะต้องและท้าทายความเป็นมนุษย์ ส่วนใหญ่เขาจะทำออกมาได้ถึงและน่าประทับใจ ไล่มาตั้งแต่ยุคของปรมาจารย์อย่าง “ยาสึจิโร โอสุ” กับเรื่อง Tokyo Story มาจนถึงยุคใหม่ๆ อย่าง Always : Sunset on the Third Street ไล่มากระทั่ง Departures หรือ Tokyo Sonata ฯลฯ เนื้อหาที่สื่อ ล้วนแล้วแต่บาดลึกคมคาย และไม่ใช่การกล่าวที่เกินเลยแม้แต่น้อย หากจะบอกว่า Like Father, Like Son ก็อยู่ในจักวาลเดียวกันกับหนังงามๆ เหล่านั้นที่ว่ามา

เรื่องราวที่ชวนให้หัวใจสลายของ Like Father, Like Son (ซึ่งตั้งชื่อภาษาไทยได้อ่อนโยนและเศร้ามากๆ ว่า “พ่อครับ...รักผมได้ไหม?”) มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ครอบครัวชาวญี่ปุ่นครอบครัวหนึ่งซึ่งกำลังไปได้สวยในทุกๆ ด้าน หนังวาดภาพพ่อแม่ลูกที่ดูสุขสันต์เพียบพร้อมมาตอนเปิดเรื่อง ก่อนที่ไม่กี่นาทีต่อมา จะโยนพวกเขาเข้าสู่สถานการณ์แบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อทางโรงพยาบาลแจ้งมาว่า ลูกน้อยที่พวกเขาเลี้ยงมาจนอายุหกขวบนั้น ไม่ใช่ลูกที่แท้ของตัวเอง เพราะถูกสลับตัวกับเด็กอีกคนตอนคลอดที่โรงพยาบาลกับอีกครอบครัวหนึ่ง

ในขณะที่ชวนคนดูตั้งคำถามว่า ระหว่าง “ดีเอ็นเอ” กับ “วันเวลาหกปีที่ใช้จ่ายไปด้วยกัน” สิ่งใดจะสำคัญกว่ากัน? ผลงานชิ้นนี้ของโคริเอดะได้ทำหน้าที่ในฐานะของหนังรางวัลอย่างสมบูรณ์แบบ นานพอสมควรแล้วที่ผมไม่ได้ดูหนังจากญี่ปุ่นซึ่งน่าประทับใจและมีแง่มุมหลากหลายให้ขบคิดแบบนี้ มันมีทั้งมิติความเป็นสังคมวัฒนธรรมและความเป็นคนผสมผสานกันไปอย่างกลมกล่อมกลมกลืน รากเหง้าสังคมนั้น เราจะเห็นได้ชัดในตัวของคนที่เป็นพ่อ ซึ่งเป็นดั่งภาพแทนของชายญี่ปุ่นที่มักจะถูกปลูกฝังให้เป็นพวกเพอร์เฟคต์ชั่นนิสต์ หรือ “ชีวิตจะต้องสมบูรณ์แบบ” และไม่มีพื้นที่ให้กับผู้แพ้ ซึ่งแง่มุมนี้ หนังก็ไม่ได้ใส่เข้ามาลอยๆ หากแต่เป็นปัจจัยเงื่อนไขอันสำคัญต่อการตัดสินใจของตัวละครด้วย แน่นอน หากจะตีความว่า นี่คือการเผชิญหน้ากันระหว่างรากเหง้าวัฒนธรรมกับความเป็นมนุษย์ ก็ไม่น่าจะเกินเลย

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร คุณค่าความหมายที่หนักแน่นของหนังยังเป็นเรื่องที่พยายามตอบคำถามเกี่ยวกับความเป็นพ่อ หนังมีตัวละครแวดล้อมเข้ามาอีกจุดสองจุด ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการตอบโจทย์เกี่ยวกับความหมายของความเป็นพ่อ และอย่างไรกันแน่ที่จะทำให้ใครสักคนได้รับการเรียกขานว่าพ่อโดยแท้จริง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุดที่ผมคิดว่าดีมากๆ และอยากให้ตั้งใจดูดีๆ ก็คือฉากที่พ่อของเด็กน้อยเข้าไปในสวนป่าแห่งหนึ่งแล้วมีการกล่าวถึงดักแด้ นั่นคือการเล่นกับอุปมาอุปไมยของหนังที่แยบคายและแหลมคมอย่างยิ่ง

ถ้าไม่นับรวมรางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ซึ่งยืนยันถึงคุณค่าของหนังได้อย่างดี ได้ข่าวมาว่า สตีเว่น สปีลเบิร์ก จะนำหนังเรื่องนี้ไปรีเมคในเวอร์ชั่นฮอลลีวูดแล้ว ซึ่งด้วยข่าวนี้ก็น่าจะการันตีความเยี่ยมยอดของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อีกส่วนหนึ่ง และโดยส่วนตัว ผมก็พูดอะไรไม่ได้มากไปกว่า “นี่คือหนังยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่งของปี 2556 นี้”




กำลังโหลดความคิดเห็น