xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.เดินหน้าแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ยะลา - ศอ.บต.ประชุมคณะที่ปรึกษา คณะกรรมการและคณะทำงานประสานงานการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เร่งหารือแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน

วันนี้ (11ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 1 (ห้องโถง) อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานการประชุมคณะที่ปรึกษา คณะกรรมการและคณะทำงานประสานงานการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เพื่อหารือแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน โดยมีคณะที่ปรึกษา คณะกรรมการ และคณะทำงานประสานงานการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เข้าร่วมการประชุม

 
สำหรับการประชุมคณะที่ปรึกษา คณะกรรมการ และคณะทำงานประสานงานการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เป็นการหารือใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก การประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ทับที่ดินของประชาชนที่ขอหารือมานั้น หากมีหลักฐานการพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานฯ มีผลบังคับ ประชาชนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามมาตรา 3 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หรือมีการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่โดยชอบ ประชาชนสามารถตัดต้นยางพาราได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนเขตอุทยานฯ ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิของประชาชนจึงควรมีการดำเนินการเพิกถอนพื้นที่อุทยานออกจากที่ดินที่ประชาชนมีกรรมสิทธิ์ หรือครอบครองโดยชอบกฎหมายอยู่ก่อนมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานฯ

ในประเด็นที่ 2 คือ กรณีตัดโค่นยางตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรีนั้น โดยที่หลังจากมีการตัดยางพาราแล้วจะต้องมีการนำออกไปซึ่งไม้ยางพาราที่ได้ดำเนินการตัดออกไปจากเขตอุทยานฯ การปลูกใหม่ทดแทนยางพาราที่ถูกตัดออกซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องห้ามตามมาตรา 16(1)(2) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตัดต้นยางพาราสามารถดำเนินการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องเร่งดำเนินการพิสูจน์สิทธิของราษฎร และตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนเขตอุทยานฯ ที่มีการทับซ้อนกับที่ดินที่ราษฎรมีกรรมสิทธิ์ หรือครอบครองอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551

 
ดังนั้น คณะที่ปรึกษา คณะกรรมการ และคณะทำงานประสานงานการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี หารือแนวทางดำเนินการกรณีการตัดโค่นยางที่หมดอายุเพื่อปลูกใหม่ทดแทนในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 4 ของพื้นที่ปัญหาที่ดิน เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามแผนภูมิที่เสนอ พร้อมทั้งติดตามผลความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรค การตรวจสอบพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎรในเขตอุทยานฯ โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช และโครงการเดินสำรวจเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินบริเวณพื้นที่นอกเขตอุทยานฯ
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น