xs
xsm
sm
md
lg

จนท.สนธิกำลังบุกตัดโค่นต้นยาง-ปาล์ม ของกลุ่มบุกรุก “ป่าดงใหญ่” กว่า 300 ไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บุรีรัมย์ - จนท.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 สนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตัดโค่นต้นยางพารา และต้นปาล์มที่กลุ่มผู้บุกรุกลักลอบปลูกในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ผืนป่ามรดกโลกกว่า 300 ไร่ ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เพื่อฟื้นฟู และผนวกเป็นเขตรักษาพันธุ์ป่า

วันนี้ (23 ม.ค.) เจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ได้สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) เจ้าหน้าที่สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ.บุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจ.บุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่ป้องกันรักษาป่าที่ บร.5 โนนดินแดง ทหารจากจังหวัดทหารบกบุรีรัมย์ ฝ่ายปกรองอ.โนนดินแดง เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โนนดินแดง และตำรวจตระเวนชายแดน เข้าทำการตัดโค่นต้นยางพารา และต้นปาล์มที่กลุ่มผู้บุกรุกได้ลักลอบเข้าไปปลูกในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ด้านทิศตะวันตก บ้านโคกเพชร ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง รวมเนื้อที่กว่า 300 ไร่

โดยเป็นการดำเนินการตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งให้กลุ่มผู้บุกรุก ผู้ครอบครองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พืชผลอาสินออกจากป่าสงวนแห่งชาติภายใน 30 วัน ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้บุกรุกดังกล่าว

ภายหลังเจ้าหน้าที่ตัดโค่นรื้อถอนพืชผลการเกษตรออกจากพื้นที่บุกรุกดังกล่าวแล้ว จะทำการฟื้นฟูให้กลับเป็นสภาพป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้ผนวกเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่แล้ว ประกอบกับป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ดังกล่าว มีพื้นที่ติดต่อกับป่าทับลานปางสีดา และตาพระยา และผนวกเข้าเป็นผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 2 ของไทย เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2548

นายสรรเพ็ชร เรืองรอง หัวหน้าป้องกันรักษาป่าที่ บร.5 อ.โนนดินแดง กล่าวว่า การเข้าทำการตัดโค่นต้นยาง และต้นปาล์มในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามมาตร 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เนื่องจากกลุ่มผู้บุกรุกได้ลักลอบปลูกในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ทั้งนี้จะมีการฟื้นฟู และผนวกเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ พร้อมทั้งจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน และสกัดกั้นไม่ให้มีการลักลอบเข้ามาบุกรุกจับจองปลูกสร้างที่อยู่อาศัย หรือปลูกพืชผลการเกษตรในพื้นที่ป่าสงวนดงใหญ่ดังกล่าวซ้ำอีก






กำลังโหลดความคิดเห็น