แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง เผยพรุ่งนี้จะมีการประชุมสมัชชาเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย หารือเรื่องกรมป่าไม้บรรจุไม้ยางพาราอยู่ในบัญชีท้าย พ.ร.บ. สวนป่า ชี้เปิดช่องเจ้าหน้าที่ป่าไม้รีดไถ แถมพ่อค้ากดราคาชาวสวนยางซ้ำเติมไปอีก พร้อมหารือราคายางตกต่ำ ขอเยียวยาคนกรีดยางและชาวสวนรายย่อยไร้เอกสารสิทธิ 6 แสนครอบครัว ก่อนยื่นหนังสือถึงนายกฯ ที่บ้านมนังคศิลา
วันนี้ (11 ม.ค.) นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (12 ม.ค.) เวลา 09.30 น. จะมีการประชุมสมัชชาเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ที่สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย สี่แยกพิชัย โดยตัวแทนสมาคม สถาบันเกษตรกร และแกนนำเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางจากทั่วประเทศ จะมาประชุมร่วมกันอย่างพร้อมเพรียงเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ของการทำสวนยางพาราไทย โดยมีเรื่องที่จะหารือและประชุมเพื่อพิจารณาคือ 1. เรื่องที่กรมป่าไม้ได้บรรจุไม้ยางพาราอยู่ในบัญชีท้าย พ.ร.บ. สวนป่า ปี 2535 ฉบับแก้ไข ซึ่งผ่านมติในขั้นกรรมาธิการแล้ว และกำลังเข้าสู่วาระ 2 ของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประเด็นดังกล่าวได้สร้างความไม่สบายใจและไม่พอใจแก่เกษตรกรสวนยางพาราอย่างมาก
2. เรื่องวิกฤติยางพาราตกต่ำ และมาตรการของรัฐบาล 3. เรื่องที่แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง จะเสนอของบประมาณฉุกเฉินจากรัฐบาล จากคณะทำงานบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบผ่านนายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในการแก้ปัญหาและเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนกรีดยางสัญชาติไทย และชาวสวนยางรายย่อยที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 6 แสนครอบครัว ซึ่งไม่ได้รับความช่วยเหลือ 1,000 บาทต่อไร่จากรัฐ โดยให้รัฐบาลจ่ายเงินฉุกเฉินในช่วงฤดูปิดกรีดยางพาราคือ ตั้งแต่เดือน ก.พ. ถึง พ.ค. 58 4. เรื่องการปฏิรูปยางพาราทั้งระบบ โดยภาคประชาชนมีส่วนร่วม และ 5. เรื่อง พ.ร.บ.ยางพาราแห่งประเทศไทย ที่กำลังพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ
จากนั้น เวลา 11.00 น.ของวันเดียวกัน สมัชชาเกษตรกรชาวสวนยางฯ จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่บ้านมนังคศิลา โดยให้หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อให้ถอนรายชื่อไม้ยางพาราออกจากบัญชีท้าย พ.ร.บ. สวนป่า ปี 2535 ฉบับแก้ไขโดยด่วน เพราะเป็นการซ้ำเติมและเพิ่มความทุกข์ยากของชาวสวนยาง เพราะการทำสวนยางมีความยากลำบากมาก ต้นยางกว่าจะมีอายุ 25 ปี ซึ่งต้องตัดโค่นเพื่อปลูกใหม่ นั่นหมายถึงการลงทุนใหม่ที่จะไม่มีรายได้เข้าครอบครัว อีกเป็นเวลา 7 ปี จนกว่าจะได้กรีดยาง ซึ่งการตัดโค่น และเคลื่อนย้ายไม้ยางพารา ที่ผ่านมาเป็นไปโดยเสรี ไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่หรือจากกรมป่าไม้ โดยเฉพาะไม้ยางพารา จากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบได้เลย
"หาก พ.ร.บ. สวนป่า ปี 2535 ฉบับแก้ไข ที่มีไม้ยางพาราอยู่ในบัญชีท้าย พ.ร.บ. ผ่าน สนช. แล้วมีชาวสวนยางรายใดไปจดทะเบียนสวนป่า โดยเฉพาะองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ แค่มีสวนยางเพียง 1 ไร่ ไปจดทะเบียนอยู่ใน พ.ร.บ. สวนป่าฉบับนี้ มีผลทำให้สวนยางอีก 21 ล้านไร่ จะกลายเป็นผู้ต้องสงสัย ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้สามารถเรียกตรวจสอบไม้ยางพารา เมื่อตอนตัดโค่นได้ทันที อันจะเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ ขูดรีด รีดไถ และสร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพราะเมื่อพ่อค้ารับซื้อไม้ยางพารา ต้องจ่ายส่วยไม้ยางพารา ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น มีผลทำให้พ่อค้าไปกดราคารับซื้อไม้ยางพาราจากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง” นายสุนทร กล่าว