ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 3 (ศรชล.เขต 3) ประชุมกำหนดความร่วมมือยกระดับเป็นศูนย์อำนวยการ เผยการลอบขนโรฮิญายังมีต่อเนื่อง แต่เปลี่ยนรูปแบบนำขึ้นจากเรือมาพัก ก่อนขนต่อไปทางรถ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (6 ก.พ.) พล.ร.ท.สายันต์ ประสงค์สำเร็จ ผู้บังคับบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 3 (ศรชล.เขต 3) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ร่วมกันแถลงข่าวการจัดประชุม ศรชล.เขต 3 ประจำปี 2558 ซึ่งจัดให้มีการประชุมขึ้นที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต
พล.ร.ท.สายันต์ กล่าวว่า ตามแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (พ.ศ.2558-2564) ที่กำหนดให้ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติทางทะเล โดยมีศูนย์ประสานการปฏิบัติในการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยปฏิบัติการหลัก 6 หน่วย ประกอบด้วย กองทัพเรือ กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า กรมประมง และกรมทัพยากรทางทะเลชายฝั่ง รวมทั้งหน่วยสนับสนุนทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในการประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อชี้แนวทางการดำเนินการร่วมกันตามกรอบความร่วมมือตามยุทธศาสตร์แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (พ.ศ.2558-2564) และนโยบาย ผอ.ศรชล. ประจำปีงบประมาณ 2558 ซึ่งในปี 2558 นั้นได้มีการปรับ ศรชล. จากศูนย์ประสานงาน เป็นศูนย์อำนวยการ ซึ่งจะทำให้หน่วยงานใน ศรชล.มีอำนาจ และการบริหารจัดการด้านความมั่นคงทางทะเลมากขึ้น โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ต.ค.2558 เป็นต้นไป
นอกจากนั้น ในการประชุมในครั้งนี้จะเป็นการหารือร่วมกันถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ได้แก่ การป้องกันการค้ามนุษย์บนเรือประมง การกระทำผิดกฎหมายบนเรือประมง การกระทำผิดกฎหมายทางทะเลอื่นๆ และอุบัติภัยทางทะเล สำหรับปัญหาเรื่องของการค้ามนุษย์นั้นถือว่าเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งเรื่องของกลุ่มแรงงานหลบหนีเข้ามาทางทะเล และเรื่องของโรฮิงญา ซึ่งตลอดปี 2557 ที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้กระทำความผิดหลบหนีเข้าเมือง และทำงานบนเรือได้จำนวนหนึ่ง เช่นเดียวกับในส่วนของกลุ่มโรฮิงญา ที่ยังคงมีการเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ตามนโยบายจะต้องอำนวยความสะดวกเพื่อให้คนกลุ่มนี้เดินทางต่อไปได้
แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในส่วนของกลุ่มโรฮิงญาก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิธีการในขนคนเหล่านี้ จากเดิมที่จะมีการเช่าเหมาเรือจากต้นทาง และเดินทางโดยทางเรือต่อเนื่องไปจนถึงปลายทาง ก็ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการเดินทางโดยทางเรือแค่เพียงบางช่วงเท่านั้น เมื่อใกล้ฝั่งก็จะแวะมาพักรอเพื่อเดินทางต่อโดยทางรถ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องมีการหารือร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามเพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาอาศัยพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันทำการค้ามนุษย์
พล.ร.ท.สายันต์ ยังได้กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่จะหารือกันในการประชุมครั้งนี้ ยังมีเรื่องของการการเฝ้าระวังป้องกันเรื่องของการบุกรุกทำลายทรัพยากรทางทะเล ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าถูกบุกรุกทำลายไปมากแล้ว และแต่ละหน่วยงานมีหน้าที่ในการรับผิดชอบที่แตกต่างกันไป จึงต้องมีการหารือร่วมกันเพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนั้น ในการประชุมวันนี้ ยังได้หารือในเรื่องของความเป็นไปได้ในการกำหนดจุดผ่านเข้า-ออกของเรือในพื้นที่ และการแบ่งเขตทางทะเลของจังหวัดต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการควบคุม และกำกับดูแลความปลอดภัยทางทะเล รวมทั้งการกำหนดช่องทางในการประสานการปฏิบัติในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในการแจ้งเหตุ และประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในเครือข่าย ศรชล.เขต 3
สำหรับการการประชุมในครั้งนี้ มั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการบูรณาการหน่วยงานในการรักษาผลประโยชน์ และความมั่นคงของชาติทางทะเลในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันให้มีประสิทธิภาพ เกิดความเชื่อมั่นต่อประชาชน และผู้ดำเนินกิจกรรมทางทะเล ก่อให้เกิดผลดีต่อภาพลักษณ์ และด้านการทำธุรกิจทางทะเลในพื้นที่ต่อไป ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 3 (ศรชล.เขต.3) ซึ่งเป็นกลไกในการประสานกระปฏิบัติโดยมี พล.ร.ท.สายันต์ ประสงค์สำเร็จ ผู้บังคับบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 3