ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - บีโอไอ ลงใต้ จัดสัมมนา “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมกาลงทุนใหม่ : เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” มั่นใจยุทธศาสตร์ใหม่ส่งเสริมการลงทุนช่วยฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ ดันประเทศจาก “รายได้ปานกลาง” สู่ “รายได้สูง” เพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และรองรับ AEC
วันนี้ (4 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรม บูรีศรีบูติก โฮเต็ล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จัดสัมมนา“ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ : เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมให้ความสนใจทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน นักธุรกิจ นักลงทุน รวมทั้งประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก โดยเป็นการเสวนาถึงทิศทางการส่งเสริมการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ในปี 2558 นี้ มีผู้บริหาร ผู้ประกอบการ ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 500 คน
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยในงานสัมมนาว่า การจัดงานสัมมนาครั้งนี้เป็นหนึ่งในงานสัมมนาบีโอไอกำหนดจัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจถึงรายละเอียดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่แก่ผู้ประกอบการในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยจากการจัดงานสัมมนาที่ผ่านมาในจังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ได้รับความสนใจการนักลงทุนเข้าร่วมกิจกรรมรวมแล้วกว่า 2,000 คน
ส่วนใหญ่ได้สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทกิจการ สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ตลอดจนขั้นตอนระเบียบต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เพื่อนำไปใช้ในการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอต่อไป อันมีจุดมุ่งหมายในระยะยาวคือ การนำพาประเทศก้าวข้ามจากประเทศที่มีสถานะ “รายได้ปานกลาง” ไปสู่ประเทศที่มีสถานนะ “รายได้สูง” เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับการสัมมนาชี้แจงแก่นักลงทุนภาคใต้ในครั้งนี้ บีโอไอมั่นใจว่ายุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่จะช่วยสนับสนุนนักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศโดยเฉพาะผู้ประกอบการในภาคใต้ในสามารถยกระดับ และพัฒนาโครงการลงทุนให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรในพื้นที่ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่พื้นที่ภาคใต้ในสาขาต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา ปาล์มน้ำมัน อาหาร ตลอดจนอุตสาหกรรมด้านการบริการและสาธารณูปโภค เช่น กิจการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว และโครงการไฟฟ้า เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล รวมทั้งพื้นที่ใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.สะบ้าย้อย และ อ.เทพา บีโอไอจึงให้สิทธิประโยชน์สูงสุด เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล) ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบ ร้อยละ 75 สำหรับวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นเวลา 5 ปี หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา 2 เท่าของค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นเวลา 15 ปี หักเงินลงทุนในการติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ร้อยละ 25 ของเงินลงทุน เป็นต้น
ประกอบกับทางบีโอไอได้ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่สนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบการธุรกิจที่ลงทุนในลักษณะของกิจการดังต่อไปนี้ คือ 1.กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าให้แก่พืชผลทางการเกษตร 2.ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน 3.ธุรกิจที่ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มระหว่างกัน (cluster) 4.ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ(พื้นที่ค้าขายทางด้านชายแดน) 5.ส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ 6.ส่งเสริมผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ อันมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจ และการลงทุน รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
นายพิชิต เดชนีรนาท ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 5 (บีโอไอสงลา) กล่าวอีกว่า สถิติโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมใน 14 จังหวัดภาคใต้ ตลอดปี 2557 (มกราคม-ธันวาคม) มีจำนวน 93 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 18,753 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 3,821 คน
โดยกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอับดับ 1 คือ กิจการบริการ และสาธารณูปโภค จำนวน 46 โครงการ มูลค่ารวม 12,869 ล้านบาท เช่น กิจการพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลพลังงานไฟฟ้าจากขยะ สวนสนุก และโรงแรม เป็นต้น
อันดับ 2 คือ กิจการเกษตรกรรม และผลิตผลทางการเกษตร จำนวน 29 โครงการ มูลค่ารวม 4,346 ล้านบาท เช่น น้ำมันปาล์ม ถุงมือยาง ก๊าซชีวภาพ อาหารสัตว์ เป็นต้น และอันดับ 3 กิจการเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก จำนวน 6 โครงการ มูลค่ารวม 846 ล้านบาท เช่น การผลิตขวดพลาสติก ถุงมือยาง เป็นต้น
สำหรับสถิติการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนใน 14 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2553-2557 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 468 โครงการ เงินลงทุน 136,587 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 47,581 คน ส่วนใหญ่จะตั้งโครงการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดกระบี่ และนครศรีธรรมราช ตามลำดับ