xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอขอนแก่นคาดลงทุนไตรมาสแรกปี 58 ทรงตัว เหตุกำลังซื้อต่ำ-หนี้ครัวเรือนพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - บีโอไอ ภาคที่ 3 เผยไตรมาสสุดท้ายปี 57 นักลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมมากเป็นประวัติการณ์ถึง 109 โครงการ มูลค่าเฉียด 5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นอุตฯ แปรรูปสินค้าเกษตร ขณะที่แนวโน้มการลงทุนไตรมาสแรกปีนี้คาดว่าทรงตัว เหตุกำลังซื้ออยู่ในระดับต่ำ ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่ม

นางสาวรัตนวิมล นารี ศุกรีเขตร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 (บีโอไอ) จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยภาวะส่งเสริมการลงทุนไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ว่า มีนักลงทุนสนใจขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ทั้งหมด 109 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 49,885 ล้านบาท มีการจ้างงาน 8,778 คน โดยมากเป็นโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรและวัตถุดิบเหลือใช้จากภาคการเกษตรผลิตเป็นเชื้อเพลิงพลังงานทางเลือก จำนวน 60 โครงการ เงินลงทุน 22,759 ล้านบาท การจ้างงาน 7,148 คน

ตามด้วยกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จำนวน 30 โครงการ เงินลงทุน 16,532 ล้านบาท การจ้างงาน 149 คน จากศักยภาพการเป็นแหล่งผลิตสินค้าการเกษตรจำนวนมากของพื้นที่ ทำให้มีวัตถุดิบมากเพียงพอป้อนโรงงานแปรรูป รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมเป็นที่ต้องการของตลาดในพื้นที่และนอกพื้นที่อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม โครงการที่ผ่านการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 9 โครงการ เป็นกิจการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร จำนวน 5 โครงการ กิจการบริการและสาธารณูปโภคจำนวน 2 โครงการ กิจการเหมืองแร่ เซรามิก และโลหะขั้นมูลฐาน และกิจการเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก หมวดละ 1 โครงการ

สำหรับนโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมใหม่นั้น นางสาวรัตนวิมลกล่าวว่า บีโอไอจะให้ความสำคัญต่อประเภทกิจการที่เป็นประโยชน์ เช่น กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กิจการเชิงสร้างสรรค์ กิจการหรือบริการเพื่อรองรับการพัฒนา Digital Economy กิจการที่พัฒนาจากทรัพยากรในประเทศ

แบ่งกิจการที่จะได้รับส่งเสริมออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม A จำนวนประมาณ 180 กิจการ เป็นกิจการที่มีความสำคัญสูงต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และมีความจำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

ขณะที่กลุ่ม B จำนวนประมาณ 50 กิจการ เป็นกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีการใช้เทคโนโลยีไม่สูงนัก และกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน แต่ยังมีความสำคัญต่อห่วงโซ่มูลค่า โดยจะไม่ให้ได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่จะอำนวยความสะดวกผ่านสิทธิประโยชน์ด้านเครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี

ทั้งนี้ ยังมีโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงไม่ต่างจากนโยบายเดิม หากเสนอแผนลงทุนเพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) ผู้ประกอบการจะสามารถยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มจากสิทธิพื้นฐานตามแต่ละประเภทอุตสาหกรรมได้อีกด้วย

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในไตรมาสแรกของปี 2558 คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากนักลงทุนได้ยื่นคำขอในช่วงปลายปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งความสามารถในการซื้ออยู่ในระดับต่ำ ภาระหนี้สินของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาคการส่งออกที่ปรับตัวลดลงตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องยังคงเป็นอุตสาหกรรมเกษตร เพราะภาคอีสานเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสินค้าการเกษตรที่สำคัญ

ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 จ.ขอนแก่น (บีโอไอ) มีพื้นที่รับผิดชอบ 12 จังหวัดในภาคอีสานตอนบน ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย เลย สกลนคร นครพนม มหาสารคาม กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และบึงกาฬ
กำลังโหลดความคิดเห็น