xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้เขต ศก.พิเศษ เพิ่มศักยภาพแข่งขันให้ SMEsไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุการตั้งเขต ศก.พิเศษ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันแก่ SMEsไทย คาดมูลค่าเงินสะพัด 1 ล้านล้านบาทในปี 59 เชื่อระยะแรกได้ประโยชน์การค้า ชี้ธุรกิจเติบโตได้ดี เช่น สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง และอิเล็กทรอนิกส์ ห่วงนโยบายหนุนจากภาครัฐยังไม่ชัด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (K SME Analysis) เผยบทความ เรื่อง "โอกาสทอง SMEs ไทย รุกตลาดเพื่อนบ้านผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน" ว่า หนึ่งในนโยบายที่ทางการไทยเร่งผลักดันและเป็นโอกาสทองของ SMEs ไทยในขณะนี้ คือ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) โดยในระยะแรกประกอบด้วย 5 พื้นที่นำร่อง ซึ่งอยู่ในจังหวัดตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร และสงขลา

ทั้งนี้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวอาจเป็นได้ทั้งในรูปแบบของเขตอุตสาหกรรม เขตการค้า หรือเขตการบริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทย ผ่านการแลกเปลี่ยนทรัพยากร ปัจจัยการผลิต แรงงาน และเทคโนโลยี นอกจากนั้น SMEs ไทยยังมีโอกาสทางการค้าและการลงทุนจากแนวโน้มการค้าชายแดนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นที่คาดว่าการค้าชายแดนจะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นภายหลังจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนไทยในภาพรวมซึ่งน่าจะแตะระดับ 1 ล้านล้านบาทในปี 2559 ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่บริเวณพื้นที่ชายแดนที่มีศักยภาพในทางการค้าและการลงทุน โดยอยู่ใกล้ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีแรงงานจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสในการพัฒนากิจการ/อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive Industry) รวมถึงการเป็นจุดแวะพักสินค้า เพื่อส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศใกล้เคียงอย่าง สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และจีนตอนใต้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS)

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก ธุรกิจไทยน่าจะได้ประโยชน์จากด้านการค้าเป็นหลัก เนื่องจากด้านการลงทุนยังต้องอาศัยอีกหลายปัจจัยสนับสนุน เช่น ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และระบบการจัดการด่านชายแดน เป็นต้น โดยธุรกิจเด่นที่คาดว่าน่าจะมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ การก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุน ผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ SMEs ได้รับจากการดำเนินกิจการภายในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนต่างๆอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนนัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้ทำการศึกษาแผนแม่บทจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด (ฉบับเดิม) ประกอบกับข้อมูลอ้างอิงจากแหล่งต่างๆ ซึ่งคาดว่า SMEs น่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเทียบเท่ากับกรอบสิทธิประโยชน์ของเขตส่งเสริมการลงทุนเขต 3 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือมากกว่า (บีโอไอ เขต 3 พลัส) ตลอดจนได้รับผลประโยชน์อื่นๆ อาทิ มาตรการสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว การให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ เป็นต้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น