ปัตตานี - ทัพภาค 4 เปิดเวทีหาทางออกประมงพื้นบ้านกับกลุ่มทุนเพาะเลี้ยงหอยอ่าวปัตตานีรอบ 2 หวิดล่ม คู่ขัดแย้งฟัดกันหนัก ต้องใช้เวลาถึง 7 ชม.จึงได้ข้อสรุป ชี้ให้เดินหน้าเฉพาะแผนงานที่ไม่เป็นปัญหา แต่ส่วนที่ยังคาราคาซังก็มีแนวโน้มจะคลี่คลาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 ม.ค.) ตัวแทนจากกำนันผู้ใหญ่บ้านจาก 9 ชุมชนในและนอกอ่าวปัตตานี ตัวแทนสหกรณ์จังหวัดปัตตานี ตัวแทนสภาเกษตรแห่งชาติ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี นักวิชาการ และนักวิจัยอ่าวปัตตานีจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ได้ร่วมกันประชุมเพื่อหารือการดำเนินงานตาม “โครงการพสกนิกรรอบอ่าวปัตตานีสู่สันติสุข” เป็นครั้งที่ 2 ที่ห้องประชุมกองพล ร.15 ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยมี พล.ท.ณ พล คชแก้ว หัวหน้าคณะทำงานกิจการพลเรือนและมวลชน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเป็นประธานการประชุม
วาระของการประชุมหลักๆ แล้วเป็นการหารือเพื่อแก้ปัญหาตัวแทนประมงพื้นบ้าน นักวิชาการ และองค์กรภาคเอกชนได้แสดงข้อมูลทางวิจัยของ ม.อ. และผลการทำวิจัยปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการเลี้ยงหอนแครง กับการทำประมงของชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี โดยสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งก็ได้นำไปสู่การโต้เถียงแบบเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั้งใน และนอกพื้นที่รอบอ่าว โดยบางคนเคยเป็นอดีตนายทุนผู้ประกอบการเลี้ยงหอยในอ่าวปัตตานี บางคนเป็นโจทก์ฟ้องชาวประมงพื้นบ้านจากปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อการที่จะเดินหน้าโครงการเป็นนักวิชาการที่เคยทำงานวิจัยเรื่องอ่าวปัตตานีมานาน รวมถึงนายกสมาคมประมงพื้นบ้าน ตัวแทนจากสภาเกษตรและประชาชนที่ประกอบอาชีพทำประมงในอ่าวปัตตานี ซึ่งล้วนมีฐานะยากจน และในจำนวนนี้ 9 คน เคยตกเป็นจำเลยจากต่อสู้เรื่องเรื่องอ่าวปัตตานีเพื่อให้เป็นสมบัติของชาติ ไม่ยอมให้ผู้ประกอบการ หรือนายทุนยึดครองใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงหอยอีกต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บางช่วงของการประชุมถึงขั้นกล่าวหากันไปมา มากกว่าที่จะเป็นเวทีหารือกันด้วยเหตุและผล มีการใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ใช้คำพูดคุกคามกัน จนฝ่ายทหารถึงกับต้องเรียกมาจับมือกันเพื่อไม่ให้เรื่องบานปลาย
อย่างไรก็ตาม หลังใช้เวลาหารือกันนาน 7 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุปร่วมกันว่า การดำเนินการในด้านอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งที่ประชุมเห็นด้วยที่จะมีการดำเนินการตามแผนงาน ยกเว้นแผนงานการจัดแบ่งพื้นที่ประมง (fishing Ground) และออกใบอนุญาต (Fishing Permit) ให้แก่สหกรณ์แต่ละแห่ง ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการร่วมระหว่างรัฐและชุมชนต่อไป โดยมีแนวโน้มว่าต่อไปการเลี้ยงหอยแครงให้เปลี่ยนเป็นการปล่อยพันธุ์หอยแครงแบบธรรมชาติ
นายมุกตา สะแม ประธานประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี กล่าวถึงบรรยากาศการร่วมประชุมครั้งนี้ว่า ถือว่าแย่มาก เพราะการวางตัวของประธานในที่ประชุมไม่เป็นกลาง พยายามชี้นำตลอด และปล่อยให้เวทีการประชุมกลายเป็นเวทีประเชิญหน้ากัน ทั้งๆ ที่รับรู้อยู่แล้วว่าฝ่ายกำนันผู้ใหญ่บ้านที่มาร่วมประชุมส่วนใหญ่ก็ถูกชี้นำมาแล้ว และไม่เคยสนใจความเดือดร้อนของประมงพื้นบ้านซ้ำไป
“โครงการเกี่ยวกับอ่าวปัตตานีโดยตรง แต่กลับไม่ยอมพูดคุยกับชาวประมงพื้นบ้านในอ่าวปัตตานี บอกชาวบ้านเพียงว่า โครงการนี้เขาจะให้เงินพวกเรา ดังนั้น พวกเราต้องยอมรับ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็รู้สึกดีที่สามารถอธิบายถึงเจตนาที่พวกเราไม่เห็นด้วย เพราะเราเชื่อว่ายังมีไม่น้อยที่พร้อมจะรับฟังข้อเท็จจริง และพร้อมที่จะรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นจริง”
สำหรับโครงการพสกนิกรรอบอ่าวปัตตานีสู่สันติสุข เกิดจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับคณะทำงานด้านกิจการพลเรือนและมวลชน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อยกฐานะและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนชุมชนในรอบอ่าวให้มีชีวิตที่ดีขึ้น แต่มีบางแผนงานของโครงการดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวประมงพื้นบ้าน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำประมงได้ในอนาคต โดยเฉพาะแผนงานการจัดแบ่งพื้นที่ประมง (fishing Ground) และออกใบอนุญาต (Fishing Permit) ให้แก่สหกรณ์แต่ละแห่ง ซึ่งจะนำไปสู่การเลี้ยงหอยแครง ทางกลุ่มประมงพื้นบ้านจึงออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านไม่เห็นด้วยต่อแผนงานดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ ทางนายกสมาคมประมงพื้นบ้านได้ทำหนังสือถึง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ.ในระหว่างลงพื้นที่ปฏิบัติราชการใน จ.ปัตตานี เพื่อให้ทบทวนโครงการดังกล่าว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางตัวแทนประมงพื้นบ้านได้เข้าร่วมประชุมที่ห้องประชุมค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ร่วมกับ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ โดยมีตัวแทนจากนักวิชาการ และนักวิจัยเรื่องอ่าวปัตตานี จาก ม.อ. ประมงจังหวัดปัตตานี และตัวแทนสหกรณ์จังหวัดปัตตานีเข้าร่วม ซึ่งเมื่อทางแม่ทัพภาคที่ 4 รับทราบปัญหาข้อเท็จจริงจากทั้งสองผ่าย จึงเสนอให้มีการชะลอแผนงานดังกล่าวไว้ก่อน