ปัตตานี - โครงการพสกนิกรรอบอ่าวปัตตานีสู่สันติสุข ที่กำหนดกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนา 7 ด้าน เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชนรอบอ่าว แต่พบว่าโครงการนี้ส่อมีปัญหาเนื่องจากยุทธศาสตร์บางด้านขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ด้านชาวประมงพื้นบ้านเตือนไม่อยากเห็นความขัดแย้งซ้ำรอยกรณี “ซีฟูดแบงก์” ยุครัฐบาลทักษิณ เตือนอาจนำไปสู่ความรุนแรงในพื้นที่
วันนี้ (7 ม.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดปัตตานี นายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้นั่งประธานที่ประชุม มีหัวหน้ายุทธศาสตร์จังหวัด ตัวแทนจากสภาเกษตรแห่งชาติ ตัวแทนประมงพื้นบ้าน สหกรณ์จังหวัดปัตตานี และหน่วยงาน บุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหารือโครงการพสกนิกรรอบอ่าวปัตตานีสู่สันติสุข ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับคณะทำงานด้านกิจการพลเรือนและมวลชน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้นำเสนอเพื่อขอสนับสนุนกรอบวงเงินงบประมาณเกือบ 100 ล้านบาทจากรัฐบาล กำหนดเริ่มแผนงานในวันที่ 1 ต.ค.2558 นี้
โดยวัตถุประสงค์ 1.เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงพื้นบ้าน และประชาชนในพื้นที่ให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง มั่นคง สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ 2.สร้างความสุข ความอบอุ่นให้แก่ครอบครัวชาวประมงพื้นบ้าน 3.เพื่อให้การใช้ และการผลิตทดแทนของทรัพยากรสัตว์น้ำมีความสมดุลและสร้างความยั่งยืนในการใช้ทั้งเพื่อการบริโภค และการค้า 4.เพื่อคุ้มครองเฝ้าระหว่างและฟื้นฟูอ่าวปัตตานีให้เป็นแหล่งประกอบอาชีพของชาวประมงพื้นบ้าน และประชาชนให้ยั่งยืนสืบไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการดังกล่าวมีแผนงาน 7 ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องต่อการจัดการทรัพยากรในอ่าวปัตตานี ที่จะนำประโยชน์ไปสู่ประชาชนรอบอ่าวปัตตานี แต่พบว่าในแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 7 ด้านนั้น พบว่า มีบางยุทธศาสตร์ที่เป็นประเด็นขัดแย้งต่อชาวประมงพื้นบ้าน สร้างผลกระทบ และสร้างความไม่พอใจแก่ชาวประมงพื้นบ้าน อาจนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงใหญ่ได้
โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ประเด็นที่ 6 ที่ได้ระบุแผนการจัดแบ่งพื้นที่ประมง (fishing Ground) และออกใบอนุญาต (Fishing Permit) ให้แก่สหกรณ์แต่ละแห่ง ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการร่วมระหว่างรัฐ และชุมชน ซึ่งการจัดการในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่รู้จักในนามซีฟูดแบงก์ เมื่อปี พ.ศ.2546-2548 แต่กลับถูกยกเลิก เพราะมีปัญหาขัดแย้งต่อชุมชนชาวประมงพื้นบ้านอย่างรุนแรง และเสี่ยงขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ให้การคุ้มครองโดยรัฐไม่สามารถยกพื้นที่สาธารณะให้ตกเป็นของส่วนบุคคลได้
นอกจากนี้ ในพื้นที่อ่าวปัตตานีได้เกิดปัญหาความขัดแย้งมาก่อนหน้านี้แล้วระหว่างผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครง กับชาวประมงพื้นบ้าน ที่ผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครงได้เข้าจับจองพื้นที่อ่าวปัตตานี เพื่อใช้เป็นที่เลี้ยงหอยแครงจนเกิดการประท้วงมาแล้วเมื่อปี 2553 ซึ่งมีการฟ้องร้องกันโดยผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครงเป็นโจทก์ฟ้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านตกเป็นจำเลย และศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องมาแล้วเมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เมื่อปี 2554 นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีในขณะนั้น ได้ร่วมทำพิธีปล่อยพันธุ์หอยแครง จำนวน 12,600 กิโลกรัม ลงสู่อ่าวปัตตานี เพื่อยืนยันให้ประชาชนรอบอ่าวรับรู้ว่า สถานภาพของอ่าวปัตตานี เป็นพื้นที่สาธารณะไม่มีใครสามารถจับจองครอบครองเป็นสมบัติส่วนตัวได้
ด้านนายมูหามะสุกรี มะสะนิง นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า นับเป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายเข้ามาให้ความสำคัญต่อประมงพื้นบ้าน ที่มีจิตใจที่จะเข้ามาช่วยกันพัฒนา เพื่อนำมาซึ่งความผาสุกให้แก่ประชาชนในรอบอ่าวปัตตานี แต่ต้องไม่เป็นการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งมาสู่ประชาชนรอบอ่าวอีก หลังจากที่ชาวประมงพื้นบ้านต้องอยู่อย่างหวาดผวามาหลายสิบปี จากการเคลื่อนไหวต่อสู้กับนายทุนในพื้นที่ตามลำพัง จนสามารถบริหารจัดการอ่าวปัตตานี ให้เป็นสมบัติสาธารณะได้ในที่สุด
“ชาวประมงเพิ่งได้รับความชื่นมื่นจากความเป็นธรรมที่ศาลได้ผดุงคุณธรรมให้ หลังต้องต่อสู้คดีมาหลายปีเพื่อปกป้องทรัพยากรของชาติ ที่ผ่านมา เมื่อทราบข่าวการดำเนินการโครงการพสกนิกรรอบอ่าวปัตตานีสู่สันติสุข จึงได้มีการยื่นหนังสือให้แก่ ผบ.ทบ.และ รมช.กลาโหม ผ่านเสนาธิการ ในระหว่างคณะเดินทางมาติดตามความคืบหน้าของโครงการฯ เพื่อให้มีการทบทวนโครงการดังกล่าวให้สอดคลองต่อวิถีชีวิตของประชาชนในรอบอ่าวปัตตานีอย่างแท้จริง” นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี กล่าว