xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังบุกภาคใต้ คนไทยควรร้องเอ๊ะ! / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้เสนอข่าวว่าชาวบ้าน 3 จังหวัดในภาคใต้ คือกระบี่ สงขลา และนครศรีธรรมราช ได้มายื่นหนังสือแสดงการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผมจำไม่ได้ว่ายื่นต่อหน่วยงานใด รวมทั้งประเด็นสำคัญที่ข่าวชิ้นนี้พยายามนำเสนอผมก็จำไม่ได้แล้ว

ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 เว็บไซต์ของ The Nation ได้เสนอบทความที่ชื่อว่า “โรงไฟฟ้าถ่านหินคือทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับปัจจุบัน” ผมได้ตัดภาพของหน้าเว็บดังกล่าวพร้อมชื่อผู้เขียน และภาพถ่ายโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนีซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำผู้สื่อข่าวไปเยี่ยมชมมาไว้ในที่นี้ด้วย
 

 
คำบรรยายใต้ภาพว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ด้วยความอยากรู้ว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้อยู่ตรงไหนของกรุงเบอร์ลิน ผมจึงตรวจสอบจากกูเกิลเอิร์ท พบว่า อยู่ห่างจากใจกลางกรุงเบอร์ลินถึง 127 กิโลเมตร ในขณะที่โรงไฟฟ้าราชบุรีของไทยอยู่ห่างจากใจกลางกรุงเทพมหานคร 71 กิโลเมตร

ประเด็นตำแหน่งที่ตั้งของโรงไฟฟ้าไม่ใช่ประเด็นที่ผมให้ความสนใจในวันนี้นะครับ แต่เป็นนิสัยของผมที่มักจะถูกสอนให้ร้อง เอ๊ะ! (พจนานุกรมฉบับหนึ่งอธิบายว่า คำที่เปล่งออกมาแสดงความฉงน ไม่เข้าใจ) มากกว่าที่จะร้อง อ๋อ (คำที่เปล่งออกมาแสดงว่ารู้แล้ว เข้าใจแล้ว หรือนึกได้)

ในบทความข้างต้นได้ยกเอาคำพูดซึ่งเป็นความเห็นของผู้บริหาร กฟผ.ที่เป็นเจ้าภาพนำผู้สื่อข่าวข้ามน้ำข้ามทะเลไปดูถึงประเทศเยอรมนี โดยที่ผู้รายงานข่าวไม่ได้ร้อง เอ๊ะ หรือแสดงความฉงนสงสัย หรือไม่เข้าใจแต่อย่างใด แม้ไม่ได้ร้อง อ๋อ แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่าผู้เขียนเห็นด้วยจึงได้นำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะตามเจตนาของเจ้าภาพ

ประเด็นสำคัญที่อยู่ในเนื้อข่าวมีหลายประเด็น ทั้งที่แฝงไว้โดยปริยาย เช่น ชาวเยอรมันให้การยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน แม้แต่ชาวกรุงเบอร์ลินซึ่งอยู่ในเมืองหลวง และตรงไปตรงมา (แต่ไม่รู้ว่าเป็นความจริงหรือเท็จ) เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบัน และอนาคตอีก 10 ถึง 20 ปีข้างหน้าเป็นเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ต้นทุนโรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มีราคา 8-9 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า ในบางวันแสงแดดมีแค่ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้นและไม่มีความเสถียร

“ถ้าได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีด้วยงบประมาณ 50,000 ล้านบาท การก่อสร้างจะเริ่มต้นในปี 2559 และแล้วเสร็จในปี 2562” (หมายถึงโรงไฟฟ้ากระบี่ขนาด 800 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มระบบการขนส่งถ่านหิน 800 ล้านบาท)

สำหรับที่จังหวัดสงขลา มีโครงการก่อสร้างที่อำเภอเทพาขนาด 2,000 เมกะวัตต์ และที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมี 2 โรงๆ ละ 800 เมกะวัตต์ แต่ไม่ได้กล่าวถึงในบทความที่ผมยกมานี้

ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์มานานถึง 38 ปี (และนานกว่านั้นอีก 1 ปีในฐานะนักศึกษาอาสาสมัคร) ผมชอบเน้นการสอนให้คนใช้ความคิดซึ่งก็คือ การเปล่ง เอ๊ะ คือเริ่มต้นด้วยการสงสัย และตั้งคำถาม จากนั้นก็ขวนขวายค้นคว้าเพื่อหาคำตอบ

คุณอานันท์ ปันยารชุน เคยตั้งข้อสังเกตว่า คนไทยเรามีอาการน่าเป็นห่วง 3 ประการ คือ (1) ไม่เคารพความเห็นของกันและกัน (2) ค้นหาความจริงน้อยไป และ (3) ชอบเชื่อผู้มีปริญญามากกว่าความรู้

สิ่งที่ผมพยายามจะทำก็คือ หลังจากได้ร้องเอ๊ะแล้วต้องค้นหาความจริงตามที่คุณอานันท์แนะนำผมขอลำดับเป็นข้อๆ รวม 6 ข้อดังนี้

ข้อที่หนึ่ง ประเด็นการชี้นำแฝง

ว่าไปแล้วในช่วง 100 กว่าปีมานี้ การผลิตไฟฟ้าของประเทศที่เรียกว่า “พัฒนาแล้ว” ก็ใช้ถ่านหินกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเทคโนโลยีอื่นได้รับการพัฒนาขึ้น การใช้เชื้อเพลิงถ่านหินก็ค่อยๆ ลดลงมากบ้างน้อยบ้าง ตามความจำเป็นของแต่ละประเทศ

ตัวเลขข้างล่างนี้เป็นการเปรียบเทียบในช่วง 11 เดือนของปี 2557 กับช่วงเดียวกันของปี 2556 พบว่า การใช้ถ่านหิน (Hard Coal) ลดลงสัมพัทธ์ถึง 11.1% ลิกไนต์ (Brown Coal) ลดลง 3% ในขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์ และชีวะมวลเพิ่มขึ้นถึง 7.4% และ 12.6%
 

 
นี่เป็นกระแสของโลกด้วยครับ ไม่ใช่เฉพาะแต่ประเทศเยอรมนีเท่านั้น จริงอยู่ครับในแง่ปริมาณการผลิต ลิกไนต์ยังคงสูงสุด ตามด้วยถ่านหิน แต่แนวโน้มในอนาคตจะถูกลดลงอย่างค่อนข้างรวดเร็ว

ความพยายามที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในเยอรมนีก็มีครับ ไม่ใช่ไม่มี แต่ก็ได้รับการคัดค้านจากกระแสสังคม ภาพข้างล่างนี้เพื่อนคนไทยในเยอรมนีส่งมาให้ผมครับ ที่เห็นเครื่องหมายกากบาท (ซึ่งมีจำนวน 15 ที่) ได้ข้อสรุปแล้วว่า ประชาชนไม่ยอมให้สร้าง และได้ยุติโครงการไป ส่วนที่เป็นเครื่องหมายคำถามยังไม่มีความแน่นอน
 

 
นี่แสดงว่า ประชาชนเข้มแข็ง และได้รับบทเรียนมาแล้ว ในขณะที่รัฐบาลก็รับฟังเสียงของประชาชน

เสียงคัดค้านของประชาชนไม่ใช่มาจากเรื่องมลพิษ และสุขภาพที่จะได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่ยังมีอีก 3 เหตุผลที่สำคัญมากๆ คือ (1) เทคโนโลยีถ่านหิน เป็นการใช้ถ่านหินต้มน้ำให้เป็นไอ ก่อนที่จะได้ไฟฟ้าพลังงานสูญเสียไปเป็นความร้อนซึ่งไม่ได้ประโยชน์ถึง 60% (2) ก่อปัญหาสภาวะโลกร้อนที่นำมาสู่ภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลก และ (3) พลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นมีความเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่ถ่านหินและปิโตรเลียมเป็นการผูกขาด และเผด็จการ

ข้อที่สอง ประเด็นถ่านหินสะอาด

เรื่อง “ถ่านหินสะอาด” เป็นวาทกรรมซึ่งคุณอัลกอร์ (Al Gore) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแย้งว่า คล้ายกับ “บุหรี่เพื่อสุขภาพ” ซึ่งไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ ขึ้นชื่อว่าบุหรี่แล้วก็ทำลายสุขภาพทั้งนั้นแหละ จะมากหรือน้อยเท่านั้น แต่ที่ต่างกันคือ คนสูบบุหรี่เป็นผู้ตัดสินใจเอง แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินพวกพ่อค้าถ่านหินเป็นผู้ตัดสินใจตามลำพัง และไม่คำนึงถึงปัญหาของผู้อื่น

ข้อที่สาม ภาคใต้ขาดโรงไฟฟ้าจริงหรือ

ความจริงแล้วข้อนี้ควรจะเป็นคำถามแรก หรือร้องเอ๊ะก่อนอย่างอื่นแต่ไม่มีใครถามไม่ว่าจะเป็นนักข่าวไทยพีบีเอส หรือผู้เขียนบทความใน The Nation

ข้อมูลข้างล่างนี้มาจากปลัดกระทรวงพลังงาน (ตัวเลขถึงเดือนสิงหาคม 2557) โปรดสังเกตนะครับว่า ข้อมูลกำลังการผลิตในภาคใต้ทั้งหมดมีจำนวน 2,415.7 เมกะวัตต์ โดยยังไม่รวม 3 สิ่งที่สำคัญคือ (1) โรงไฟฟ้าสงขลาแห่งที่ 2 ขนาด 766 เมกะวัตต์ (ซึ่งสร้างเสร็จแล้วเมื่อกรกฎาคม 2557) (2) ระบบสายส่งมาจากภาคกลางจำนวน 650 เมกะวัตต์ และ (3) โรงไฟฟ้าฉุกเฉินจังหวัดสุราษฎร์ธานี อีก 234 เมกะวัตต์
 

 
ถ้ารวมเข้าไปก็จะเป็น 4,065.7 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้ปี 2556 เท่ากับ 2,683 เมกะวัตต์

นั่นแปลว่าในภาคใต้มีกำลังผลิตสำรองถึงประมาณ 52% ซึ่งสูงเกินระดับมาตรฐานที่ 15%

ผมขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาตอบคำถามว่า (1) ทำไมโรงไฟฟ้าฉุกเฉินจังหวัดสุราษฎร์ธานีหายไปไหน ทำไมไม่อยู่ในตารางนี้ และ (2) ทำไมไม่คิดว่าระบบสายส่งจากภาคกลางให้เป็นส่วนหนึ่งของกำลังการผลิตเพราะได้ลงทุนไว้แล้วถึง 5 หมื่นล้านบาท

อาจมีคำอธิบายจากภาครัฐว่า ต้องมองไปข้างหน้า กว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เสร็จก็ต้องใช้เวลาหลายปี นี่เป็นแค่หลักการเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วการคาดการณ์อนาคตเกี่ยวกับไฟฟ้านั้นเกินความเป็นจริงมาตลอด

นักพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยอิงกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (หรือจีดีพี) แต่เมื่อเศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกซึ่งผันผวน ผลการพยากรณ์จึงยากที่จะถูกต้อง หรือใกล้เคียงกับอนาคตที่จะเกิดขึ้น

คนในวงการเศรษฐศาสตร์เขาแซวกันว่า นักเศรษฐศาสตร์มีสองจำพวกเท่านั้น คือ พวกที่พยากรณ์อนาคตไม่ถูก กับพวกที่ไม่รู้ตัวเองว่าตนพยากรณ์ไม่ถูก

ตารางข้างล่างนี้คือผลการพยากรณ์ซึ่งทำขึ้นเมื่อปี 2553 (2010) ผลการพยากรณ์บอกว่า ในปี 2556 และ 2557 อัตราเติบโตของจีดีพีจะเท่ากับ 5.1 และ 5.7 ตามลำดับ แต่ปรากฏว่า โตได้เพียง 2.9% และไม่ถึง 1% ดังตาราง (ตารางบนเป็นการพยากรณ์โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และตารางล่างเป็นของจริง)
 

 
การพยากรณ์ที่เกินความเป็นจริงจะส่งผลเสียหายอะไร คำตอบก็คือ ประเทศจะมีโรงไฟฟ้าที่มากเกินไป ผลเสียคือ ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง โดยผู้พยากรณ์ไม่ต้องรับผิดชอบ รวมทั้ง กฟผ.ด้วย เพราะมีระเบียบรับประกันกำไรสุทธิขั้นต่ำไว้เรียบร้อยแล้ว ถ้าผมจำไม่ผิดกำไรสุทธิขั้นต่ำก็ต้องไม่น้อยกว่า 8.4%

เรื่องราวมันก็เป็นอย่างนี้เองครับ นี่ยังไม่นับผลประโยชน์อื่นของบางกลุ่มอีกต่างหาก

ข้อที่สี่ ต้นทุนโซลาร์เซลล์แพงถึง 8-9 บาทต่อหน่วย

ข้อมูลที่ผู้บริหาร กฟผ. (เจ้าภาพทัวร์) ได้ให้แก่ผู้สื่อข่าวเมื่อเดือนธันวาคม 2557 คงมาจากเอกสารชิ้นนี้ของกระทรวงพลังงาน (ซึ่งก็เอามาจาก กฟผ.เมื่อปี 2555)
 

 
มีข้อน่าสังเกต 2 ประการกับข้อมูลดังกล่าว คือ (1) ไม่มีแหล่งอ้างอิง ยกมาลอยๆ (2) ข้อมูลนี้ล้าสมัยอย่างน้อย 2 ปีครึ่ง ซึ่งในแต่ละปีต้นทุนของแผงโซลาร์เซลล์ลดลงประมาณ 3%

แต่ถ้าผู้บริหารท่านนี้มีความจริงใจจริง ก็น่าจะทราบว่า ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในราคา 6.85 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ไม่ใช่ 8-9 บาท

ข้อมูลของต่างประเทศ จากเว็บไซต์ Clean Technica ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 2557 พบว่า ที่เมือง Austin ในรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา (ซึ่งมีความเข้มของแดดพอๆ กับประเทศไทย สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดได้ในราคาหน่วยละ 5 เซ็นต์ หรือประมาณ 1.60 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน นิวเคลียร์ หรือก๊าซธรรมชาติ
 

 
ข้อมูลจากโรงเรียนศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งลงทุนติดตั้งด้วยตนเอง ขนาด 6 กิโลวัตต์พบว่า หากทางการไฟฟ้าฯ รับซื้อไฟฟ้าเฉพาะส่วนที่เหลือใช้ ทางโรงเรียนจะได้ทุนคืนภายในเวลา 4 ปี โดยรัฐไม่ต้องอุดหนุนใดๆ 

ข้อที่หก แสงแดดไม่เสถียร

มีข้อกล่าวหาว่าแดดไม่เสถียร บางวันมีแดดแค่ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น

ถ้าเรารู้จักร้องเอ๊ะ! เราก็ควรตั้งคำถามว่า เอ๊ะ! ทำไมมนุษย์พยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้คราวละ 4-5 วันอย่างค่อนข้างแม่นยำ แล้วทำไมเราจะพยากรณ์แสงแดด และลมไม่ได้

และนี่คือผลการพยากรณ์ (กราฟบน) และความเป็นจริง (กราฟล่าง) ของประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม เป็นฤดูร้อน ซึ่งพบว่าใกล้เคียงกันมาก

เมื่อเราสามารถทราบเหตุการณ์ล่วงหน้า เราก็สามารถวางแผนได้ว่าในอีก 1-2 วันข้างหน้าจะเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงชนิดใดบ้าง กำลังเท่าใด และเวลาไหนบ้างตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง

ปัจจุบัน ทาง กฟผ.ก็ทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่า ในช่วงตอนดึกๆ จะมีความต้องการไฟฟ้าแค่ไหน และเตรียมเดินเครื่องตัวไหน เท่าใด

จากกราฟจะเห็นว่า เชื้อเพลิงหลักเกือบจะคงที่ตลอด 24 ชั่วโมง พอในช่วงพีกไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ก็เข้ามาเสริม ผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่ามันจะมีปัญหาตรงไหน
 

 
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน พลังงานลม และแสงแดดไม่สามารถเป็นไฟฟ้าฐานได้ (ปัจจุบันก็ทำได้แล้ว แต่ต้นทุนยังคงแพงอยู่) ดังนั้น แทนที่จะใช้ไฟฟ้าจากก๊าซมาเป็นไฟฟ้าฐานในช่วงพีก ก็แทนที่ด้วยแสงแดดในช่วงพีก แล้วเก็บก๊าซที่กันไว้ได้เอาไว้ใช้ได้นานๆ เป็นการยืดอายุการใช้ก๊าซออกไป

จากการประมาณด้วยสายตาอย่างคร่าวๆ พบว่า ด้วยการส่งเสริมการใช้แสงแดด และลม (ที่ไม่มีวันหมด) สามารถประหยัดเชื้อเพลิงชนิดอื่น (ที่สิ้นเปลือง) ได้ถึง 30% หรือยืดการใช้งานไปได้ 1 ใน 3

แล้วไม่ดีเหรอครับ


สรุป

เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติเพิ่งผ่านไป ซึ่งเป็นวันที่นายกรัฐมนตรีจะมีคำขวัญมาสอนเด็กๆ คำขวัญประจำปีนี้คือ “ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต” เมื่อไหร่เราจะมีคำขวัญสำหรับคนหลังวัยเด็กบ้าง

ถ้ามีจริง ผมจะขอตั้งว่า “เป็นคนควรร้องเอ๊ะ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่” ครับ อย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่สังคมไทยแห้งแล้งคุณธรรม รวมทั้ง กฟผ. และผู้สื่อข่าวด้วยครับ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น