xs
xsm
sm
md
lg

“ทับเที่ยง” เล่าเรื่องเมืองร้อยปี..(ตอนที่ 1) / จำนง ศรีนคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

100 ปีเมืองทับเที่ยง
 
เรื่อง/ภาพ : จำนง  ศรีนคร
 
“ทับเที่ยง” ของเมืองตรัง เลื่องลือทั้งเรื่องอาหารการกิน ความสงบ เรียบง่าย เป็นเมืองการค้าการขายมาแต่โบราณ “คนทับเที่ยง” สนใจเหตุบ้านการเมือง มี “สภากาแฟ” ยามเช้าที่นอกจากเอาไว้รองท้องก่อนเริ่มวันแล้ว ยังเป็นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เหตุบ้านการเมือง มี “ตุ๊กตุ๊กหัวกบ” อันเป็นมนต์เสน่ห์ และเป็นเอกลักษณ์ มีชุมชนย่อยๆ มากมายที่มีตำนานและเรื่องราว...
 
และในปี 2558 นี้ ถึงเวลาแล้วที่ “ทับเที่ยง” จะเล่าเรื่องเมืองร้อยปี...
 
ตึกแถวเก่าแก่แบบจีนในทับเที่ยง
 
หลังจากเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ จังหวัดตรัง ถือเป็นการเสด็จฯ ครั้งที่ 2 ได้ทรงทำพิธีเปิดโรงเรียนเพราะปัญญา และพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองตรัง
 
ปูเกริ่นนำแบบสั้นๆ เพื่อเชื่อมโยงให้ไปสู่เรื่องราวของ “ทับเที่ยง” หรือ “ตำบลทับเที่ยง” อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นเมืองหลัก เป็นเมืองศูนย์กลางทั้งการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ของ “ตรัง” จากอดีตสู่ปัจจุบัน
 
ด้วยหลังจากรัชกาลที่ 6 เสด็จฯ กลับในครั้งนั้น สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้กราบบังคมทูลขอย้ายที่ตั้งเมืองตรังมายัง “ตำบลทับเที่ยง” อำเภอบางรักในขณะนั้น ด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่ ที่กันตังไม่ปลอดภัยจากการศึกสงคราม เพราะในขณะนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งยังเกี่ยวกับโรคระบาดเนื่องจากเป็นที่ลุ่ม รวมทั้งพื้นที่คับแคบขยายเมืองได้ยาก และอีกหลายเหตุผลสำคัญ
 
ที่สำคัญ “ตำบลทับเที่ยง” เป็นย่านการค้าขายที่มีความเจริญอยู่เดิม และมีชัยภูมิอยู่จุดศูนย์กลาง เหมาะแก่การปกครอง
 
การย้ายเมืองจึงได้รับพระบรมราชานุญาต และดำเนินการเรียบร้อยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2458 และ “ทับเที่ยง” ได้เป็นที่ตั้งของ “เมืองตรัง” สืบมาจนปัจจุบัน
 
ณ เวลานี้จึงกำลังก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 100 ของการย้ายเมืองจาก “กันตัง” มายัง “ทับเที่ยง” ซึ่งชุมชน “ทับเที่ยง” มีอายุการรวมตัวตั้งถิ่นฐานแต่เดิมมาเกิน 100 ปีแล้ว
 
ตุ๊กๆหัวกบ กับ หอนาฬิกาเมืองตรัง
 
ขอใช้โอกาสนี้เพื่อปูทางสู่การร่วมรำลึกทางความรู้สึกร่วมกันของ “คนทับเที่ยง” “คนตรัง” และ “ผู้สนใจ” ได้เริ่มรู้จักเรื่องราว“เมืองทับเที่ยง” ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ของจังหวัดตรัง แต่กลับมีเสน่ห์มากมาย ทั้งตึกรามบ้านช่องที่ได้รับอิทธิพลมาจากการผสมผสานในแบบ “จีน” กับ “ยุคอาณานิคมอังกฤษ” หลายคนเรียกคุ้นปากว่า “ชิโนโปรตุกีส” อาหารการกิน ประเพณีวัฒนธรรม โดยเฉพาะวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ในภาพความทรงจำของแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกันไป แต่เชื่อว่าภาพความทรงจำหลายส่วนสำหรับผู้เคยมาเยือนที่แห่งนี้ ล้วนเป็นความทรงจำที่ตราตรึง และทรงคุณค่า
 
ปี 2558 นี้ถือเป็นปีแห่งการก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 100 ของการก่อตั้งเมือง “ทับเที่ยง” ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น โดยเฉพาะ “เทศบาลนครตรัง” “ภาคเอกชน” และ “คนตรัง” กำลังเตรียมงานใหญ่เพื่อสืบสานมรดกอันดีงามที่ “คนทับเที่ยง” ร่วมกันคิดร่วมกันสร้างสั่งสมกันมา และเห็นควรที่น่าจะมีการกำหนดเป็น “วาระ” ร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนในมิติต่างๆ ที่สามารถทำได้ เช่น ด้านประวัติศาสตร์ ภูมิหลัง ความภาคภูมิใจ บุคคลผู้มีคุณูปการ สถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า และอื่นๆ อีกมากมาย
 
“ทับเที่ยง” เลื่องลือทั้งเรื่องความสงบ เรียบง่าย แต่เป็นเมืองการค้าการขายมาแต่โบราณ “คนทับเที่ยง” สนใจเหตุบ้านการเมือง มี“สภากาแฟ” ยามเช้าที่นอกจากเอาไว้รองท้องก่อนเริ่มวันแล้ว ยังเป็นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เหตุบ้านการเมือง มี “ตุ๊กตุ๊กหัวกบ” อันเป็นมนต์เสน่ห์ และเป็นเอกลักษณ์ มีชุมชนย่อยๆ มากมายที่มีตำนานและเรื่องราว มีสถานที่ที่เป็นความทรงจำของผู้คนร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น “โรงหนัง” “หอนาฬิกา” “ลำคลองที่ตัดผ่านเป็นโครงข่าย” “เนิน” หรือ “ควน” ที่บ่งบอกเรื่องราว มี“ชมรม” มี “สมาคม” ของทุกศาสนาที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข พึ่งพา และเกื้อกูลกันมายาวนาน
 
“คนทับเที่ยง” มีความตื่นตัวด้านการศึกษาไม่น้อย เดิมที่กันตังมีโรงเรียนตรังภูมิ์ เป็นโรงเรียนตัวอย่างประจำจังหวัด ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับโรงเรียนสุทธิโพธิ์บำรุง ที่วัดโพธาราม ต่อมา พ.ศ.2454 เริ่มมีการตั้งโรงเรียนขึ้นตามวัด รวมทั้งตามชุมชนรอบ “ทับเที่ยง” ได้แก่ วัดโคกหล่อ วัดควนขัน วัดแจ้ง
 
สถาปัตยกรรมเก่าแต่คลาสสิคของทับเที่ยง
 
จนเมื่อ พ.ศ.2456 สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระพันปีหลวง เสด็จฯ จังหวัดตรัง พระราชทานเงินสร้างโรงเรียนขึ้นที่ “ตำบลทับเที่ยง”พระราชทานนามว่า “โรงเรียนวิเชียรมาตุ” เมื่อตอนย้ายเมืองโรงเรียนได้สร้างเสร็จพอดี จึงได้โอนนักเรียนจากโรงเรียนตรังคภูมิ์มา และเมื่อ พ.ศ.2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จฯ เมืองตรังอีกครั้งหนึ่ง ได้ทรงทำพิธีเปิด “โรงเรียนวิเชียรมาตุ”
 
อีกด้านหนึ่งบรรดาพ่อค้าจีนใน “ทับเที่ยง” ได้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่น และได้ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกชื่อ “ซันวาฮกเกา” ขึ้นใน พ.ศ.2462 โดยมีโรงเรียนในเครือซึ่งสืบทอดมาจนปัจจุบันคือ “โรงเรียนทับเที่ยงฮั่วเฉียว” และ “โรงเรียนตรังวิทยา” นอกจากนี้ ชาวจีนในตรังยังนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนชั้นสูงที่ “เกาะหมาก” หรือ “ปีนัง” เพราะการคมนาคมทางเรืองสะดวก มีเรือเมล์เดินทางประจำระหว่าง “กันตัง-ปีนัง” ในยุคนั้น
 
ต่อมา เมื่อมี “เทศบาลเมืองทับเที่ยง” ทางเทศบาลได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่ “วัดควนวิเศษ” เป็น “โรงเรียนเทศบาล 1” จากนั้นต่อมาจึงตั้งที่ “วัดกระพัง” อีกโรงหนึ่ง
 
“ทับเที่ยง” ขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองคนช่างกิน” ในยุคนี้ที่ “เรื่องราว” อร่อยพอๆ กับ“รสชาติ” ดังนั้น อันดับแรกคือ ต้องมากิน มาลิ้มรส มาสัมผัสบรรยากาศที่ตรัง เพราะบางอย่าง เช่น “หมูย่างเหมืองตรัง” ซื้อไปกินกรุงเทพฯ ก็ไม่เหมือนกับกินที่ตรัง การกินน้ำชากินที่กรุงเทพฯ ก็ไม่เหมือน เพราะเป็นการเสพในเรื่องของเรื่องราวไปด้วย
 
ดังตัวอย่างของ “อาหาร” ที่บอก “เรื่องราว” โดยเมื่อปี 2557 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้สำรวจพร้อมขึ้นทะเบียน "หมูย่างเมืองตรัง" เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือที่เรียกว่า GI คือ ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ที่เป็นการให้ความคุ้มครองชื่อหรือสัญลักษณ์ หรือสิ่งที่บ่งบอกแหล่งผลิตสินค้าด้วยลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ ประกอบทักษะ ความชำนาญ และภูมิปัญญาของมนุษย์ ในการผลิตสินค้าตามกระบวนการที่เหมาะสม เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือทางการตลาดคือ “แบรนด์ชุมชน”
 
หมูย่างเมืองตรัง
 
“หมูย่างเมืองตรัง" เป็นเมนูบ่งบอกทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากทั้งสายพันธุ์ที่ท้องถิ่นเรียกกันว่า “หมูขี้พร้า” ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งสภาพภูมิอากาศ ความชื้นของเมืองตรังที่ร้อนชื้นพอดี ได้ส่งผลต่อการเลี้ยงหมูให้มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนที่แห่งใดคือ เนื้อดี มันพอดี หนังบางอย่างอัศจรรย์ แม้บางครั้งจะไม่ใช้หมูขี้พร้า แต่หมูอื่นๆ ไม่ว่าพันธุ์ไหนก็จะต้องเลี้ยงในแถบตรัง-พัทลุง ที่สำคัญการใช้ไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงจะให้กลิ่นหอมเฉพาะตัว ซึ่งดัดแปลงมาจากสูตรเดิมของจีนกวางตุ้งที่ใช้เชื้อเพลงอย่างอื่น เพราะตรังปลูกยางพาราเยอะ การขุดหลุมเพื่อทำเตาย่างเป็นการให้อุณหภูมิแบบเฉพาะ การย่างหมูย่างเมืองตรังแบบดั้งเดิม ทั้งกระบวนการใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมง โดยมีกระบวนการซับซ้อนมากมาย กล่าวคือ
 
1.พักหมูเป็นไว้ 1 วัน งดอาหาร เพื่อให้ลำไส้ของหมูขับถ่ายของเสียออกให้หมด หมูปกติที่กินอาหารเนื้อจะฉ่ำน้ำ หมายถึงกระบวนการทางชีววิทยาของการย่อย และแปรสภาพจากการกิน แต่การพักหมูไว้จะหยุดการฉ่ำน้ำของเนื้อหมูไม่มีกลิ่นสาบ
 
2.ฆ่าหมู ผ่าเอาเครื่องในออก และกรีดริ้วเพื่อให้เครื่องเทศเข้าถึง การกรีดริ้วต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ เพราะกรีดลึกไปหนังก็ขาดมีผลต่อการย่าง เครือเทศจะทะลุหนัง ย่างก็จะไหม้
 
3.คลุกเครื่องเทศหมักครั้งที่ 1 ใช้เวลา 3 ชั่วโมง
 
4.เทเครื่องหมักเก่าออก แล้วคลุกหมักใหม่อีก 1 ชั่วโมง
 
5.แขวนหมูให้แห้งอีก 1 ชั่วโมง
 
6.ใส่โครงไม่ให้หมูห่อตัว
 
7.เผาหนังก่อนย่างจริง ห่อด้วยกระดาษฟอยล์ พลิกไปมาเผาให้สม่ำเสมอทั้งตัว เพื่อทำให้หนังกรอบ เอาขึ้นลงหมุนไปมาใช้เวลา 1 ชั่วโมง
 
8.ย่างจริงในเตาใช้เวลา 2 ชั่วโมง และจะย่างกลางคืน เพื่อจะสามารถส่องไฟให้สะท้อนกระทบเพื่อดูสี และความกรอบของหนังได้อย่างที่แสงกลางวันทำหน้าที่ดังกล่าวไม่ได้
 
เล่าเรื่องให้ฟังพอสังเขป แต่จากนี้นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม และดีที่สุดที่ “คนตรัง” ทุกคนจะได้เริ่มต้นไปพร้อมๆ กัน จาก “รำลึกย้อนรอยเรื่องเก่า” สู่ “ตัวเราในปัจจุบัน” และ “ฝันถึงอนาคต” นับจากนี้เมืองต้องสะอาดสะอ้านมากขึ้น ผู้คนมีอัธยาศัยไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมากขึ้น ไปจนถึงการเป็น “เจ้าบ้าน” ที่ดีต้อนรับนักท่องเที่ยว เยาวชนและลูกหลานของเราต้องได้รับการปลูกฝังให้รักบ้านเกิดเมืองนอน และโตขึ้นเป็นคนดีของสังคม ไม่นิ่งดูดายและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
 
เหล่านี้ต้องทำให้เกิดขึ้นได้จริงท่ามกลางโลกทุนนิยม ที่วัตถุกลืนกินทุกอย่างเข้าไปอย่างชนิดไม่เคยอิ่มในทุกขณะ ให้วลี “เมืองตรัง เมืองแห่งความสุข” จับต้องได้ จนผู้คนจากที่อื่นอยากเดินทางมาสัมผัสด้วยตัวเอง... 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น