xs
xsm
sm
md
lg

บันทึก “ภาพแรกสึนามิ” (ตอนที่ 2 จบ) / ณขจร จันทวงศ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
โดย...ณขจร  จันทวงศ์
----------------------------------------------------
(ASTVผู้จัดการภาคใต้” นำเสนองานเขียนชิ้นนี้เพื่อร่วมรำลึกวาระ 10 สึนามิ สำหรับ ณขจร จันทวงศ์ ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ผู้สื่อข่าวประจำศูนย์ข่าว ASTVผู้จัดการหาดใหญ่ หลังจบด้านนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลับราชภัฏภูเก็ตก็เลือกที่จะเดินเข้าสู่วิชาชีพสื่อมวลชน กว่า 10 ปีมานี้ตระเวนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในองค์กรสื่อมาหลายแห่ง มีประสบการณ์ตรงกับเหตุการณ์สึนามิถล่มภาคใต้ของไทยเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 นั่นที่มาของบันทึกชิ้นนี้เพื่อเป็นการรวบรัดจึงขอแบ่งการนำเสนอออกเป็น 2 ตอนจบ)
 
แฟ้มภาพ
 
*** ทางที่ต้องเลือก 
 
หลังเหตุการณ์สึนามิ ผมเหลือเวลาทำงานกับช่อง 11 ภูเก็ต เพียงไม่กี่วัน ตั้งใจว่าจะย้ายไปร่วมงานกับเครือผู้จัดการ ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ ในต้นปี 2548 ช่วงหลังๆ ตั้งแต่แจ้งลาออกไม่ค่อยมีอะไรให้ทำ ช่วงใกล้ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ทุกคนต่างเร่งเคลียร์งานที่รับผิดชอบเพื่อมีความสุขกับวันหยุดลาพักร้อนโดยไม่ต้องกังวลใจ
 
แล้ว 26 ธันวาคม 2547 ก็เกิดเหตุการณ์คลื่นมหาประลัยขึ้น ในขณะนั้นผมเข้ามาทำงานเป็นนักข่าวได้ไม่ถึง 1 ปี ยังเป็นหน้าใหม่ในวงการ เหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทยจึงเป็นเหมือนเชื้อเพลิงชั้นดีที่ช่วยให้ไฟแห่งวัยหนุ่มลุกโชติช่วงขึ้น
 
ก่อนหน้านั้นยังสับสนกับตัวเองว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิต อุตส่าห์ตั้งใจเรียนจนจบนิเทศศาสตร์ ที่เลือกแล้วว่าเหมาะกับตัวเองมากที่สุด เพราะไม่ต้องปวดหัวกับวิชาคำนวณเหมือนตอนเรียนทางสายวิศวกรรม
 
แต่ที่น่ากลัวสำหรับวงการนิเทศศาสตร์ คือขณะที่ผมเรียนจบนั้นวงการการสื่อสารในบ้านเรายังไม่กว้างเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ใครอยากทำงานองค์กรใหญ่ๆ ต้องเสี่ยงเข้าไปหางานทำที่กรุงเทพฯ ซึ่งแน่นอนคงไม่ใช่คนสองคนที่คิดแบบนั้น เมื่อหลายคนคิด การแข่งขันก็ดุเดือด นิเทศศาสตร์ราชภัฎหรือจะไปเบียดแข่งกับนิเทศฯ จุฬาฯ หรือมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงมากกว่าได้
 
แต่ผมโชคดีที่ไม่มีความคิดนั้นในหัว คิดอยู่เสมอว่าเราเติบโตขึ้นมาในต่างจังหวัด ดอกผลที่เราจะผลิตหรือสร้างสรรค์ได้ ควรมอบให้กับถิ่นเกิดของเรา ไม่เห็นจำเป็นต้องดิ้นรนเข้าไปไขว่คว้าในเมืองใหญ่
 
“พรรณไม้จะชูกิ่งก้านสาขาขึ้นสู่ท้องฟ้าได้อย่างไร ถ้าปฏิเสธผืนดินที่รากเหง้าของมันหยั่งลึกอยู่”
 
ยังดี วจีจันทร์ กวีผู้เป็นเจ้าของประโยคสุดคลาสสิกนี้เสียชีวิตไปแล้วหลายปี แต่ข้อเขียนของเขายังมีอิทธิพลมหาศาลต่อความคิดของผม และที่สำคัญมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ที่ผมเรียนจบมามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าเป็น “สถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น”
 
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดผมจึงไม่อยากไปไหนไกลจากปักษ์ใต้บ้านเกิด แต่ก็มีความฝันที่อยากจะเข้าทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ในองค์กรสื่อระดับประเทศที่มีศูนย์ข่าวอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ
 
ในประเทศไทยมีหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับที่มีศูนย์ข่าวอยู่ทุกภาคของประเทศ คือ เครือผู้จัดการ และเครือเนชั่น
 
ประมาณ 1 เดือนก่อนเกิดสึนามิ  ผมได้รับการติดต่อให้เข้ามาร่วมงานกับเครือผู้จัดการ สังกัดกองบรรณาธิการภูมิภาค รับผิดชอบพื้นที่ 8 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง มีสำนักงานอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นั่นหมายถึงว่าถ้าตกลง ผมก็จะต้องขนข้าวของกลับหาดใหญ่อีกครั้งหลังจากที่ย้ายมาอยู่ภูเก็ตได้ไม่ถึง 4 เดือน
 
ช่วงเกิดสึนามิ เหตุการณ์ใหญ่ในระดับที่ต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของชาติ ศักยภาพในตัวเราฉายแววออกมาโดยไม่รู้ตัว เมื่อผู้ใหญ่เห็นจึงมอบโอกาสให้
 
วันหนึ่ง ผอ.ช่อง 11 ภูเก็ต เรียกผมเข้าไปพบ เขารู้ดีว่าผมแจ้งลาออกไว้แล้ว จึงขอให้อยู่ช่วยทำงานต่อ โดยเสนอให้รับตำแหน่งบรรณาธิการข่าว ค่าตอบแทนที่จะได้ก็เพิ่มจากเดิมมากโขอยู่
 
ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเลือกว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตดี
 
เหตุที่ผมหนักใจกับการตัดสินใจย้ายที่ทำงานอีกครั้งเพราะอย่างที่บอกว่าเพิ่งไปทำงานที่ภูเก็ตได้เพียงไม่กี่เดือน ก็ต้องมาพบกับทางเลือกอีกครั้ง ถ้าเลือกจะทำงานข่าวทีวีกับช่อง 11 ภูเก็ตต่อไป ก็ไม่แน่ใจว่าบริษัทเอกชนที่เป็นนายจ้างของผม ซึ่งได้รับสัมปทานร่วมผลิตข่าวและรายการให้กับช่อง 11 จะบอกยกเลิกสัญญาทำงานเมื่อไหร่ เพราะได้ข่าวแว่วๆ ในขณะนั้นว่าสัญญาที่เขาทำกับช่อง 11 จะหมดลงภายในเวลาไม่กี่เดือน
 
ถ้าผมทำงานต่อโดยได้รับเลื่อนขั้นจากนักข่าวไปเป็นบรรณาธิการข่าว แม้จะดูดีขึ้น ได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าจะทำงานไปได้กี่เดือน เมื่อหนทางนั้นมืดมนและดูไม่มั่นคง พิจารณาตรงนี้แล้ว การตัดสินใจจึงไม่ยากอย่างที่คิด จึงบอกลาช่อง 11 ภูเก็ต เพื่อเตรียมตัวร่วมงานกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน กลับไปทำงานหนังสือพิมพ์ที่ตัวเองรู้สึกว่าเหมาะสมที่สุดแล้ว
 
ผมนำข่าวนี้ไปบอกเพื่อนๆ ทันทีที่รู้ข่าววงสังสรรค์ก็เงียบลง พวกเราคบหากันมานานทำกิจกรรมร่วมกันมาตั้งแต่สมัยเรียน ผมเรียนจบแล้วไปทำงานที่หาดใหญ่ เพื่อนๆ หลายคนรวมทั้งตัวผมเองแอบหวังอยู่ลึกๆ ว่าเมื่อไหร่จะได้กลับมารวมตัวกันอีก แต่แล้วพอย้ายมาทำงานที่ช่อง 11 ภูเก็ตได้เพียงไม่นานก็มีอันต้องย้ายกลับหาดใหญ่อีก จึงเป็นที่น่าใจหายอยู่ไม่น้อย
 
“ผู้ชายไม่ใช่ภูผา” เพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้น
 
“ผู้ชายต้องเดินทาง ต้องไม่อยู่กับที่”
 
ผมเหมือนกับคนหลายๆ คนที่รู้สึกยินดีปรีดากับการได้พบปะและร่วมกิจกรรมกับมิตรสหายรู้ใจ แต่อาจจะแตกต่างจากคนอื่นตรงที่ผมไม่เข้มแข็งพอเมื่อถึงเวลาที่ต้องจากลากับเพื่อนๆ หลังเสร็จจากการสังสรรค์ ผมนอนคิดเรื่องนี้ คิดถึงการพบกัน อยู่ร่วมกัน สุดท้ายก็จากลากัน น้ำตาไหลออกมาอย่างเงียบๆ
 
เหตุที่อ่อนไหวกับแค่การต้องจากเพื่อนๆ ไปทำงานที่อื่นนั้น เป็นเพราะผมมีทุกวันนี้ได้ก็เพราะการช่วยเหลือของเพื่อนๆ หลายๆ คน บางคนให้ที่อยู่อาศัย บางคนให้เงินกินข้าว จ่ายค่าเล่าเรียน ทุกคนช่วยกันสนับสนุนให้ผมได้เป็นนายกองค์การบริหารนักศึกษา เป็นผู้นำของพวกเขา แล้วก็ช่วยกันทำกิจกรรมอย่างขยันขันแข็ง ความสัมพันธ์ก่อตัวจากเพื่อน พัฒนาไปเป็นพี่เป็นน้องเป็นเหมือนเครือญาติ การพบกันในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วต้องแยกย้ายจากกันไปอีกจึงเป็นเหมือนเรื่องตลกที่เราหัวเราะไม่ออก
 
ยังไงก็ตามผมยังมีเวลาสนุกกับเพื่อนๆ อย่างน้อยก็เกือบ 1 เดือน เพราะประเด็นข่าวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์สึนามิยังมีเรื่องต้องตามกันอีกมาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันก็ยกทีมงานมาตั้งกอง บก.เฉพาะกิจ กินนอนกันอยู่ที่ศูนย์ข่าวภูเก็ต เมื่อผมออกจากช่อง 11 ภูเก็ต ก็ต้องเข้าทำงานทันที พื้นที่ที่จะต้องตามไปทำข่าวคือ จ.พังงา ต้องไปกลับระหว่างพังงากับภูเก็ตทุกวัน ฟังแล้วน่าตื่นเต้นไม่น้อย
 
คิดเรื่องงานเพลินก็มีโทรศัพท์ติดต่อเข้ามา คนที่โทรมาคือพี่หมี ช่างภาพผู้บันทึกภาพสึนามิเผยแพร่เป็นภาพแรกของประวัติศาสตร์ แกบอกว่ามีพระรูปหนึ่งเป็นนักจัดรายการวิทยุ ชื่อท่านจันทร์ ให้ทีมงานโทรมาติดต่อผมกับพี่หมีไปออกรายการวิทยุ ท่านจันทร์อยากสัมภาษณ์ในฐานะสื่อมวลชนที่บันทึกภาพสึนามิออกอากาศได้เป็นทีมแรก ผมอยากจะปฏิเสธ แต่พี่หมีชิงพูดออกมาก่อนว่ายังไงก็ต้องไปช่วยกัน เพราะแกพูดไม่เก่ง
 
บางทีเราก็ไม่สามารถเลือกอะไรได้ด้วยตัวเองไปเสียทั้งหมด
 
*** ท่านจันทร์ 
 
ท่านจันทร์ พระนักเทศน์ชื่อดังมอบหมายให้ทีมงานโทรมานัดแนะกับเราว่าจะมีการสัมภาษณ์ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต หรือ สวท.ภูเก็ต คลื่นความถี่ 96.75 เมกะเฮิร์ซ ในที่ตั้งของสถานีวิทยุแห่งนี้มีบ้านพักของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ สังกัดกรมประชาสัมพันธ์ตั้งอยู่ด้วย เราถือโอกาสระหว่างรอเข้ารายการไปนั่งพูดคุยกับพี่ชาญ ช่างภาพรุ่นพี่ที่ร่วมวีรกรรมบันทึกภาพข่าวสึนามิเผยแพร่เป็นภาพแรกร่วมกับพวกเรา เพื่อทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้นอีกครั้ง
 
พี่ชาญ ยกกับข้าวพร้อมเบียร์มานั่งดื่ม ความจริงแล้วหลังจากเสร็จงานแกก็มักนั่งดื่มอยู่แบบนี้เป็นประจำ วันไหนที่พวกเราว่างก็มารวมตัวกัน แต่ครั้งนี้ผมและพี่หมีไม่สามารถดื่มได้เนื่องจากงานยังไม่เสร็จ ที่สำคัญคือคนที่จะสัมภาษณ์เราเป็นพระเสียด้วย
 
ผมกับพี่หมีนั่งดื่มน้ำเปล่า ขณะที่พี่ชาญดื่มเบียร์ ต่างคนต่างหยิบยกเอาเรื่องราวในเหตุการณ์สึนามิเท่าที่ตัวเองพอจะจำได้มาแลกเปลี่ยนกันอย่างออกรส เวลาผ่านไปเรื่อยๆ ผมยกนาฬิกาข้อมือขึ้นมาดูพบว่าเลยเวลานัดไปแล้วเกือบ 15 นาที และเพียงอึดใจเดียว ทางทีมงานของท่านจันทร์ก็โทรศัพท์เข้ามา บอกว่าต้องขออภัยด้วยเนื่องจากวันนี้ติดปัญหาบางประการทำให้ท่านจันทร์ไม่สามารถมาจัดรายการได้
 
เขาขอโทษขอโพยเราเป็นยกใหญ่ ผมก็ได้แต่บอกว่าไม่เป็นไร เพื่อยืนยันให้เขาได้สบายใจว่า เราไม่ได้คิดอะไรมากจริงๆ เพราะความจริงเราเองก็ไม่ถนัดนักกับการมาออกรายการในครั้งนี้
ผมแจ้งข่าวให้พี่หมี กับพี่ชาญ ได้รับทราบ ทั้ง 2 คนไม่ได้สอบถามอะไรมากมาย “กูว่าดีแล้ว เพราะกูพูดไม่เก่ง” พี่หมี พูดขึ้นมา
 
“งั้นได้เวลากินเบียร์แล้วสิ” พี่ชาญบอกพร้อมเดินเข้าไปเอาแก้วจากในบ้านมาเพิ่มอีก 2 ใบ
 
เรานั่งดื่มกันอย่างสนุกสนาน เบียร์หมดไปหลายขวด พี่ชาญซึ่งออกสตาร์ทไปก่อนหลายเท่าตัวเริ่มมีสีหน้าแดงก่ำ พี่หมีเริ่มพูดมากขึ้น ผมเองก็ชักมึนๆ เพราะยังไม่ได้กินข้าวเย็นรองท้อง เวลาผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง โทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีกครั้ง
 
“สวัสดีครับ ผมเป็นทีมงานของท่านจันทร์นะครับ ตอนนี้ท่านจันทร์มาแล้วครับ และท่านอยากให้คุณทั้ง 2 คนมาออกอากาศมากๆ เลยครับ ท่านฝากขอโทษด้วยที่มาช้า”
 
เขาละล่ำละลักพูด เดาได้ทันทีว่าเขาเกรงใจและละอายใจอย่างที่สุด ที่อะไรๆ ก็ไม่เป็นไปตามกำหนดการ
 
“ช่วยมาหน่อยเถอะครับ ตอนนี้ท่านจันทร์จัดรายการไปแล้วเกือบ 30 นาที ช่วงที่เหลือจะเป็นช่วงของคุณทั้ง 2 คน” เขาสำทับ
 
“ผมก็อยากช่วยนะครับ แต่ตอนนี้คงไปไม่ได้แล้ว เพราะพอรู้ว่าเขายกเลิกรายการ ผมก็มานั่งดื่มเบียร์กันอยู่เนี่ย ตอนนี้ก็ชักจะมึนๆ แล้วด้วย คงไม่เหมาะถ้าจะให้ไปพูดคุยกับพระกับเจ้าในอาการแบบนี้” ผมชี้แจง
 
“งั้นรอแป๊บนึงนะครับผมขอปรึกษาท่านจันทร์ก่อน” เขาบอกแล้ววางหูไป
 
อึดใจเดียวชายคนนั้นก็โทรกลับมาอีก
 
“ท่านจันทร์บอกให้คุณสองคนรีบมาเลยครับ ท่านไม่รังเกียจ และฝากขอโทษด้วยที่ให้รอนาน” เขาบอก
 
ผมกับพี่หมีหารือกันอีกเล็กน้อยก่อนตัดสินใจว่าจะไปร่วมรายการอย่างแน่นอน
 
“ไปก็ไปวะ เขาอุตส่าร้องขอ ไปทำให้เสร็จๆ เดี๋ยวได้กลับมาคุยกันต่อ” พี่หมีลุกขึ้นเอามือตบไหล่ผมเบาๆ ร่างของแกเซไปทางซ้ายเล็กน้อย ขณะก้าวเดินไปข้างหน้า
 
*** นักพูดชื่อดัง 
 
ผมกับพี่หมีใช้เวลาเดินไม่ถึง 5 นาที ก็ถึงห้องออกอากาศของสถานีวิทยุ สวท.ภูเก็ต ความจริงสถานีวิทยุแห่งนี้ ผมก็มีความคุ้นเคยอยู่บ้างเพราะผมกับเพื่อนเคยถูกอาจารย์ท่านหนึ่งล็อคคอมาออกรายการกับแกถึงสองครั้งแล้ว จริงๆ แล้วเราไม่ได้กลัวเรื่องการที่ต้องมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ผ่านทางรายการวิทยุ
 
แต่ที่ไม่มั่นใจก็คือเมื่อต้องพูดด้วยภาษาราชการ หรือภาษากรุงเทพฯ มันทำให้เด็กปักษ์ใต้อย่างเราเกิดความไม่มั่นใจเอาดื้อๆ ตอนพูดน่ะไม่เป็นไรหรอก แต่หลังจากออกอากาศไปแล้วบรรดาท่านอาจารย์บางคนหรือเพื่อนตัวแสบที่บังเอิญมาได้ยินเข้า พวกเค้าจะใจจดใจจ่อคอยจับสำเนียงของเราโดยเฉพาะพวกอักขระ จ.จาน ก.ไก่ ส.เสือ ร.เรือ รวมทั้งคำควบกล้ำเช่นคำว่า ตรัง หรือนักดนตรี คำพวกนี้จะถูกตั้งใจฟังอย่างเป็นพิเศษ พวกเขาจะไม่สนใจเลยว่าเราร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นอะไร
 
แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราออกเสียงอักขระที่กล่าวมาไม่ชัด เพี้ยนออกมาทางสำเนียงใต้ เขาจะจดจำไว้ แล้วรอเล่นงานเราเมื่อออกจากห้องกระจายเสียง ผมเจอมาแล้ว... วิธีแก้เผ็ดที่ดีที่สุดคืออย่าตอบโต้ ถ้าตอบโต้เขาจะยิ่งสนุกและหากินกับมุกนี้ไปอีกนาน แต่ถ้าไม่ตอบโต้เรื่องจะค่อยๆ เงียบไปเอง แล้วเราก็จะได้กลับมาอยู่ในโลกสีขาวอีกครั้ง
 
เรายืนรอทีมงานหน้าห้องกระจายเสียง ด้านบนของขอบประตูมีโคมไฟเขียนข้อความ ‘On Air’ สว่างโร่อยู่ คอยเพียงอึดใจเดียวทีมงานของท่านจันทร์ก็มาเชิญเราเข้าไป ผมเพิ่งเจอเขาตัวจริงเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ก็ได้ยินแต่ทางโทรศัพท์ ท่าทางน่าจะเป็นชาวภาคกลาง อายุอานามก็คงมากกว่าผมนิดหน่อย แต่ท่าทางเขาสุภาพและดูเป็นคนธรรมะธรรมโมมาก เมื่อเดินผ่านเขาผมพยายามกลั้นหายใจ เพราะไม่อยากให้บุรุษผู้นั้นได้กลิ่นบาป
 
ทันทีที่ผมกับพี่หมีเข้าไปในห้องกระจายเสียงก็พบว่ายังมีสุภาพสตรีอาวุโสอีกท่านหนึ่งเป็นแขกรับเชิญของท่านจันทร์ด้วย ผมจำได้ว่าสุภาพสตรีท่านนี้คืออาจารย์ผาณิต กัณตามะระ นักพูดชื่อดังของเมืองไทย ที่จำได้เพราะอาจารย์ผาณิต เคยมาทอล์คโชว์ในงานปฐมนิเทศ ขณะนั้นผมเพิ่งเข้าเรียน ปวส.ในโรงเรียนช่างกลแห่งหนึ่งที่ จ.สุราษฎร์ธานี
 
อาจารย์ผาณิต เป็นนักพูดที่พูดได้สนุกฟังแล้วไม่เบื่อ แต่ละประโยคล้วนมีทั้งสาระและอารมณ์ขันสลับกัน การนั่งฟังอาจารย์ผาณิตพูดในวันนั้นถือเป็นครั้งแรกที่ได้ฟังรายการประเภทนี้แบบสดๆ รู้สึกชื่นชมกับผู้ที่ทำหน้าที่นี้มาก ปกติผมไม่ค่อยชอบขอลายเซ็นดารา แต่ครั้งนั้นผมเดินเข้าไปขอลายเซ็นอาจารย์ผาณิตมาเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย
 
ผมกับพี่หมีเข้าไปแนะนำตัวกับอาจารย์ผาณิต พร้อมเท้าความเดิมให้แกฟังว่าเคยพบแกครั้งแรกที่ไหน แกรับไหว้เราด้วยความเอ็นดู อาจารย์นั่งบนเก้าอี้ เรานั่งยองๆ ไม่กล้าเข้าไปใกล้มากกลัวว่าแกจะได้กลิ่นบาป แล้วพาลไม่ชอบใจ
 
“เคยมีใครบอกหรือปล่าวว่าลูกน่ะหน้าตาเหมือนเขตต์ ฐานทัพ” อาจารย์ผาณิต เอ่ยขึ้น
 
ผมหันหลังกลับไปมองพี่หมี ยิ้มให้แกทีหนึ่ง แล้วหันกลับมาที่อาจารย์แกเอามือสองข้างแตะไหล่ผมแล้วพูดอีก
 
“แต่ลูกน่ะเป็นคนปักษ์ใต้เลยดูเข้มกว่าเขา” อาจารย์พูดแล้วยิ้มด้วยความเอ็นดู
ผมหันไปที่พี่หมี พบแกนั่งยิ้มแป้นอยู่ข้างหลัง ไม่ผิดหวังจริงๆ อาจารย์ยังคงเป็นนักพูดที่พูดได้ดี เหมือนเช่นที่เคยได้ยิน!
 
แฟ้มภาพ
 
*** เข้ารายการ 
 
เราคุยกับอาจารย์ผาณิต อยู่เพียงครู่เดียวท่านจันทร์ก็ส่งสัญญาณให้ลูกศิษย์ว่าพร้อมแล้ว การสัมภาษณ์ทีมงานข่าวส่วนหนึ่ง ซึ่งบันทึกภาพเหตุการณ์สึนามิเผยแพร่เป็นทีมแรกผ่านสถานีโทรทัศน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กำลังจะเริ่มต้น โดยมีพระนักเทศน์ชื่อดังจากสำนักสันติอโศก เป็นผู้ดำเนินรายการ มีช่างภาพหนึ่งกับนักข่าวอีกหนึ่งที่เพิ่งเดินออกมาจากวงแอลกอฮอล์เป็นแขกรับเชิญ
 
รายการกำลังจะดำเนินไปผมนึกตำหนิทีมงานที่ผิดนัดและประสานงานไม่ชัดเจนจนทำให้เกิดความไม่เหมาะสมขึ้น อย่างที่บอก หากเขาไม่แจ้งยกเลิกในทีแรก เราสองคนก็คงไม่ดื่มเบียร์ เพราะคิดว่าเมื่อยกเลิกก็หมดธุระแล้ว ได้เวลาพักผ่อน (ด้วยการดื่มเบียร์) แล้วใครล่ะจะรู้ล่วงหน้าว่ากำหนดการณ์ที่ถูกยกเลิกไปแล้วจะกลับเกิดขึ้นมาอีกครั้ง
 
ชายหนุ่มสองคนที่เพิ่งละเมิดศีลข้อ 5 มาหมาดๆ เลยต้องมามานั่งเผชิญหน้าอยู่กับพระนักเทศนาธรรมชื่อดังอย่างเสียไม่ได้ ผมนึกถึงประโยคหนึ่งของรงค์ วงศ์สวรรค์
 
 “บาปคือการพักผ่อนอันวิเศษสุดที่มนุษย์ค้นพบ และพระเจ้าพยายามทำลายล้างทุกวิถีทาง”
 
แค่นึกขึ้นมาเท่านั้น ไม่ได้ถามท่านจันทร์ว่าจริงหรือไม่จริง เพราะอาจจะเสียเรื่องเอาดื้อๆ  
“ญาติโยมทั้งหลายนอกจากฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นความทุกข์จากเหตุการณ์สึนามิที่เพิ่งเกิดขึ้นแล้ว วันนี้อาตมามีแขกสองคนมาร่วมรายการคนหนึ่งเป็นผู้สื่อข่าว คนหนึ่งเป็นช่างภาพช่อง 11 จังหวัดภูเก็ต เขาจะเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่าได้ใช้วิชาชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนี้อย่างไรบ้าง” ท่านจันทร์ แนะนำพวกเราพร้อมกับตั้งคำถามแรกไปในตัว
 
ผมกับพี่หมีแนะนำตัวเสร็จพี่หมีสะกิดให้ผมรับหน้าที่ตอบคำถามแรก โชคดีเหลือเกินที่มีกระจกใสกั้นระหว่างท่านจันทร์กับอีกด้านที่เรานั่ง มันกันกลิ่นที่เกิดจากการผิดศีลข้อที่ 5 ของเราได้ดีและหายใจได้ทั่วท้องมากขึ้น
 
“ก่อนอื่นต้องขอแสดงความอาลัยกับผู้ที่จากไปและเสียใจกับครอบครัวญาติมิตรผู้ประสบภัยในเหตุการณ์นี้ ในส่วนของงานข่าวที่พวกเราต้องทำทุกวันถือว่าเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกกับทุกๆ ฝ่าย ที่ติดตามข่าวสารเหตุการณ์ในครั้งนี้ ข่าวที่ออกไปช่วยให้ทุกคนรับรู้ว่าความช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปถึงไหนแล้ว หากมีอะไรที่ขาดตกบกพร่องก็จะสามารถช่วยเหลือกันได้” พูดมาถึงตรงนี้ผมชักคอแห้งเพราะห้องนี้แอร์ค่อนข้างเย็น
 
แต่ก็นึกชมเบียร์ที่เพิ่งดื่มเข้าไป มันทำให้มีความมั่นใจพูดได้ไหลลื่น ครั้นพอเงยหน้าไปมองอีกด้านพบว่าท่านจันทร์กำลังรอฟังอยู่ด้วยความสนใจ ผมกลืนน้ำลายแล้วร่ายต่อ
 
“ส่วนเรื่องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างเป็นรายบุคคลนั้นที่เราไปพบก็มีเช่นกรณีของลุงคนหนึ่งคือบังหมัดที่บ้านลายัน ต.เชิงทะเล เราไปพบแกยืนดูซากบ้านของตัวเองต้องพังลงเพราะถูกคลื่น เลยนำเรื่องราวมาเผยแพร่ผ่านสื่อและแนะนำให้มาติดต่อขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานราชการ ตอนนี้ทราบว่าได้รับความช่วยเหลือไปแล้วครับ” ผมกลืนน้ำลายอีกทีคราวนี้ลำคอและริมฝีปากยิ่งแห้งกว่ารอบที่แล้ว
 
แต่ลูกศิษย์ท่านจันทร์ยกน้ำเปล่ามาเสิร์ฟทันเวลาพอดี ผมยกขึ้นดื่มทีเดียวหมดแก้วขณะที่ท่านจันทร์กำลังถามคำถามต่อไป   
 
*** ช่างภาพเดนตาย 
 
นอกจากท่านจันทร์จะใช้ภาษาไทยได้อย่างชัดถ้อยชัดคำชวนฟังแล้ว ท่านยังมีหางเสียงที่น่าจะเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวเพราะไม่เคยได้ยินพระรูปไหนหรือใครอื่นพูดจาในท่วงทำนองแบบนี้มาก่อน ผมกับพี่หมีตั้งใจฟังขณะที่ท่านจันทร์กำลังถามคำถามต่อไป
 
“ญาติโยมทั้งหลายที่ฟังรายการนี้อยู่รู้หรือไม่ว่าในการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวช่อง 11 ภูเก็ตเนี่ยอ่านา อาตมาทราบจากข่าวว่าพวกเค้าเป็นทีมข่าวช่องแรกที่นำเสนอภาพเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่เกิดในประเทศไทยสู่การรับรู้ของคนไทยทั้งประเทศและทั่วโลก มีสำนักข่าวทั้งไทยและเทศหลายแห่งนำภาพชุดนี้ไปเผยแพร่ด้วย อาตมาอยากจะให้โยมทั้งสองคนช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ตรงนี้ให้ผู้ฟังทางบ้านได้รับฟังหน่อยว่ามีวิธีการทำงานกันอย่างไร”
 
ท่านจันทร์พูดจบผมหันไปมองหน้าพี่หมีผู้บันทึกภาพเหตุการณ์สึนามิที่หาดป่าตอง พร้อมส่งสัญญาณให้แกเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์
 
“เช้าวันนั้นเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นแรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ถึง จ.ภูเก็ต” พี่หมีเว้นวรรคกลืนน้ำลาย ผมเดาเอาว่าแกก็คงคอแห้งเหมือนกัน
 
“ระหว่างที่ตามข่าวแผ่นดินไหวจากนั้นไม่นานเราได้รับแจ้งว่ามีคลื่นยักษ์เกิดขึ้นหลายแห่ง เราแบ่งทีมช่างภาพออกเป็นสองทีม ทีมหนึ่งไปที่หาดลายัน ต.เชิงทะเล ส่วนผมไปหาดป่าตอง ทั้งสองทีมจะคอยประสานงานกับนักข่าวบนสถานีเพื่อรายงานสถานการณ์ให้ทราบและแจ้งความคืบหน้าต่างๆ ตอนที่รถข่าวขึ้นเขาป่าตองพบว่าคนจำนวนมากกำลังหนีตายขึ้นมาบนเขาทำให้รถติด ผมต้องลงจากรถยนต์แล้วขออาศัยรถมอเตอร์ไซด์เพื่อลงไปบันทึกภาพที่หน้าหาด คนอื่นหนีตายแต่เราต้องวิ่งสวนทางเข้าไป ต้องโบกรถถึงสามเที่ยวกว่าจะไปถึง”
 
พี่หมีเล่าเหตุการณ์นี้ให้ผมฟังแล้วหลายรอบ แต่ฟังทุกครั้งก็ยังรู้สึกว่าตื่นเต้นไม่หาย และคาดว่าเรื่องนี้จะถูกเล่าสู่กันฟังอีกหลายๆ รอบอย่างแน่นอน
 
“ไปถึงหน้าหาดพบว่าคลื่นลูกที่สามกำลังซัดขึ้นมาพอดีชาวบ้านและนักท่องเที่ยววิ่งหนีตายกันอย่างโกลาหล ผมรีบบันทึกภาพแต่ไม่กล้าเข้าไปใกล้มากเพราะคลื่นหนุนขึ้นมาเรื่อยๆ กลัวกล้องจะได้รับความเสียหาย เก็บภาพเสร็จก็รีบกลับมาที่สถานีแล้วก็ส่งภาพเข้ากรุงเทพฯ ทันที ระหว่างส่งภาพมีสำนักข่าวหลายแห่งติดต่อขอนำภาพไปออกอากาศ เปิดดูทีวีช่องอื่นๆ พบว่าเกือบทุกช่องนำภาพเราไปใช้” พี่หมี พยักหน้าเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าเล่าจบแล้ว แกยกน้ำขึ้นจิบแก้คอแห้ง อาจเป็นเพราะเบียร์ที่ดื่มเข้าไปทำให้แกพูดได้ไหลลื่นไม่ติดอ่างเหมือนเวลาปกติ
 
“ภาพที่เราได้แม้องค์ประกอบของภาพจะไม่ดีมากนักตามหลักการถ่ายภาพ แต่ในสถานการณ์คับขันเช่นนั้นถือว่าเราได้ทำหน้าที่นี้ดีที่สุดแล้ว และทำให้คนทั่วประเทศทั่วโลกได้ติดตามสถานการณ์ทันต่อเวลา” ผมพูดเสริม
 
เวลามีไม่มากนัก ท่านจันทร์กล่าวสรุปเหตุการณ์ที่เราเล่าอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกล่าวขอบคุณที่เรามาร่วมรายการ อันถือเป็นการสิ้นสุดการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ แม้จะทุลักทุเลบ้างในระหว่างการประสานงาน แต่โดยรวมก็ถือว่าเป็นไปด้วยดี เรากราบลาท่านจันทร์ ไหว้อาจารย์ผาณิต และทีมงาน ก่อนเดินออกจากห้องส่งด้วยความภูมิใจลึกๆ
 
ผมถอนหายใจอย่างโล่งอก เดินกลับไปที่วงสังสรรค์พบว่าพี่ชาญช่างภาพมือเก๋าอีกคนกำลังละเมิดศีลข้อที่ 5 อยู่อย่างสบายอารมณ์
 
*** งานเลี้ยงเลิกรา จำลาร้าง 
 
คืนนั้นเรานั่งดื่มกันจนดึก วงเบียร์ต้องแยกย้ายเมื่อพบว่าเสียงสนทนาของเราดังพอที่จะรบกวนเพื่อบ้านซึ่งกำลังพักผ่อน ผมลองคิดเล่นๆ แบบเข้าข้างตัวเองว่า ความจริงแล้วพวกเรายังใช้เสียงในระดับที่ปกติ แต่คงเป็นเพราะเสียงรอบข้างซึ่งค่อยๆ เงียบลงๆ ตามเวลาที่เดินไปไม่หยุด 
 
เมื่อดวงจันทร์ค่อยๆ ลอยขึ้นไปค้างอยู่บนเวิ้งฟ้า ยวดยานบนถนนลดจำนวนลง คนในบ้านต่างดับไฟเข้านอน มีเพียงหรีดหริ่งเรไร กับเสียงสัญจรของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ดังมาเป็นช่วงๆ แม้เราจะคุยกันด้วยความดังปกติ แต่เมื่อเสียงอื่นๆ ที่แวดล้อมลดระดับลง เสียงของพวกเราจึงเด่นขึ้นมา และอาจจะกลายเป็นการรบกวนเพื่อนบ้านที่ต้องการพักผ่อน วงเบียร์จึงต้องเลิก ด้วยเรายังมีสำนึก…
 
เช้าวันถัดไปผมตื่นสายกว่าปกติ ปกติที่ว่าคือการทำงานที่ช่อง 11 ภูเก็ต ต้องไปลงเวลาเข้าทำงานทุกวัน ตามกติกาทุกคนจะต้องไปทำงานก่อนเวลา 8 นาฬิกา แต่ดูนาฬิกาแล้วพบว่าเวลาล่วงเลยไป 10 นาฬิกาเศษ รีบลุกขึ้น คว้าผ้าเช็ดตัวจะไปอาบน้ำทั้งๆ ที่ยังมึนตึ้บๆ อยู่ในหัว
 
แต่แล้วก็ใจหายเมื่อนึกขึ้นได้ว่า วันที่ผ่านมาคือวันสุดท้ายของการเป็นผู้สื่อข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 จ.ภูเก็ต สถานการณ์ข่าวสึนามิที่มีแต่ความตื่นเต้น ตึงเครียด ทำให้ผมลืมไปเสียสนิทว่าได้ลาออกจากที่นั่นแล้ว และกำลังจะเริ่มงานใหม่กับเครือผู้จัดการ ศูนย์ข่าวภาคใต้
 
เมื่อตั้งสติได้แล้ว ผมรู้สึกเหมือนกลับไปเป็นคนเดิมอีกครั้ง ความตื่นตัวที่นักข่าวทีวีซึ่งต้องทำงานแข่งกับเวลา เหมือนจะหลุดลอยออกไปจากร่าง ผมคิดเอาเองว่างานหนังสือพิมพ์ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบแข่งกับเวลาเหมือนข่าวทีวี ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ว่าจะทำข่าวเผยแพร่ทางสื่อไหน นักข่าวไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นคนเฉื่อยชา
 
ตรงกันข้ามกลับต้องตื่นตัวอยู่ตลอดและพร้อมรับทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ที่ไหน คิดมาถึงตรงนี้ผมตัดสินเอาเองอีกครั้งว่า ตัวเองได้ผ่านบททดสอบนั้นมาแล้ว แม้เช้าวันที่เกิดเหตุการณ์สึนามิผมจะยังนอนหลับอยู่ และนอนอยู่ไกลจากที่ทำงานเกือบ 30 กิโลเมตร แต่ทันทีที่ได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุ ผมก็ตื่นนอนแล้วรีบเดินทางไปสถานีทันที และข่าวของเราก็เผยแพร่เป็นช่องแรกๆ ภาพของเราถูกสำนักข่าวทั้งไทยและเทศยืมไปใช้กันถ้วนหน้า
 
ผมคงยังไม่ได้เล่าว่าวันนั้นทั้งวันผมไม่ได้อาบน้ำ ไม่ได้แปรงฟัน ไม่ได้ไปกินข้าวกับแฟนตามนัด และถ่ายปัสสาวะครั้งแรกของวันเมื่อเวลาล่วงเข้าไป 4 โมงเย็นแล้ว ถ้าจะให้คะแนนตัวเอง ผมคิดว่าในฐานะคนข่าวผมสอบผ่านแล้วในเรื่องของความตื่นตัวและตั้งสติพร้อมสำหรับสถานการณ์ด่วน คิดมาถึงตรงนี้ต้องขอบคุณสึนามิที่เป็นบททดสอบ และขอบคุณพี่ชาญ ช่างภาพช่อง 11 ที่โทรปลุก!
 
ไม่รู้ว่าจะต้องพบเจออะไรบ้างกับการทำงานในเครือผู้จัดการที่มีสื่อทั้งนิตยสารรายเดือน หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ รายวัน เว็บไซต์ข่าวที่อัพเดท 24 ชั่วโมง รวมทั้งสถานีข่าวโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV แต่ที่รู้คือมีเพื่อนร่วมรุ่นนิเทศศาสตร์ ราชภูเก็ต ทำงานอยู่ที่นั่นแล้ว 2 คน ส่วน บก.ข่าวก็เป็น บก.อาวุโสสนิทสนมกันดี
 
หนทางข้างหน้ามีแต่ความท้าทาย สมัยเรียนนิเทศศาสตร์ ฝันว่าอยากทำงานในองค์กรสื่อระดับชาติที่มีศูนย์ข่าวอยู่ในภูมิภาค บัดนี้ความฝันของผมเป็นความจริงแล้ว
 
แฟ้มภาพ
 
*** ศูนย์ข่าวผู้จัดการภูเก็ต 
 
อาบน้ำเสร็จ ผมแต่งตัวสบายๆ งานข่าวหนังสือพิมพ์ไม่ต้องพิถีพิถันเหมือนข่าวทีวี ออกจากบ้านพักมุ่งหน้าไปที่ตั้งของสำนักงานศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการASTV จ.ภูเก็ต ตั้งอยู่ย่านบางเหนียว ตรงข้ามห้องสมุดประชาชน (ปัจจุบันอยู่หมู่บ้านนิมิตซอย 1 ย่านวงเวียนนิมิต)
 
ศูนย์ข่าวภูเก็ตรับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ตอนบน มีป๋าเสริฐ หรือประเสริฐ เฟื่องฟู เป็นบรรณาธิการศูนย์ข่าว ป๋าเสริฐเป็นบุคลากรข่าวที่นักข่าวภาคใต้ให้ความเคารพนับถือ แกร่วมงานกับ ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ ตั้งแต่ครั้งทำหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย เคยผ่านสนามข่าวสงครามเวียดนามมาแล้ว และป๋าเสริฐนี่เองที่เป็นคนการันตีให้ผมได้เข้าทำงานในเครือผู้จัดการ
 
ตั้งแต่ 26 ธันวาคม 2547 ที่เกิดเหตุสึนามิ ทีมข่าวเครือผู้จัดการทั้งทีมข่าวรายเดือน หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ รายวัน เว็บไซต์แมเนเจอร์ออนไลน์ ทีมข่าว ASTV NEWS 1 และทีมข่าว Thailand outlook channel ยกทีมลงมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ เนื่องจากสำนักงานเป็นอาคาร 3 ชั้น ไม่ใหญ่โตมากนัก ผู้บริหารจึงต้องแยกไปพักที่โรงแรม ในขณะที่ช่างภาพหนังสือพิมพ์ ทีวี และทีมข่าวบางส่วนที่เป็นคนหนุ่มนอนรวมกันที่ชั้นล่างของสำนักงาน เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นไปอีกแบบ
 
ไปถึงสำนักงานผมไม่ต้องแนะนำตัวอะไรมากนักกับทีมข่าวที่ประจำอยู่ที่ภูเก็ต ยกเว้นทีมที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ภารกิจที่ทุกคนต้องทำก็คือตามข่าวที่เกี่ยวเนื่องกับสึนามิทุกแง่ทุกมุม ผมเพิ่งรู้ในวันนั้นเองว่าวันที่เกิดสึนามิ เว็บไซต์แมเนเจอร์ออนไลน์ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวอันดับ 1 ของเมืองไทย มีผู้อ่านเข้าไปอ่านพร้อมกันเป็นจำนวนมากจนถึงกับทำให้เว็บล่ม
 
เหตุที่มีผู้ติดตามข่าวจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์มากกว่าเว็บอื่นเพราะเป็นเว็บข่าวที่อัพเดทตลอด 24 ชั่วโมง และเว็บไซต์แห่งนี้เป็นกระทะข่าวและถือเป็นแนวหน้าในการเผยแพร่ข่าวให้กับสาธารณชนได้รับรู้ ก่อนที่สื่ออื่นๆ ในเครือจะดึงข้อมูลไปใช้ต่อ ไม่นับนักข่าวสำนักอื่นที่สามารถก๊อปปี้ข่าวได้โดยไม่มีใครว่า
 
ที่ผมชอบคือ เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์เปิดโอกาสให้ผู้อ่านสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวหรือบทความที่อ่านได้อย่างเสรี เป็นการต่อยอดทางความคิดที่มีประโยชน์ เพราะบางครั้งผู้ที่เข้ามาโพสต์แสดงความเห็น ได้นำเอาเบาะแสข่าวมาแจ้งให้เราทราบ เป็นประโยชน์สำหรับการทำข่าว ผมตื่นเต้นมากที่รู้ว่าจะต้องเขียนข่าวลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ด้วย
 
ผมได้รู้จักกับพี่คนหนึ่งแกชื่อพี่ต้อม แต่ด้วยเหตุผลอันใดไม่ทราบได้เพื่อนๆ ที่มาจากกรุงเทพฯ เรียกแกว่า ‘ไอ้บื้อ’ คำว่า ‘บื้อ’ เคยมีคนบอกว่าชื่อจริงๆ ของคนเรานั้นเมื่อเทียบกับฉายาที่เพื่อนๆ ตั้งให้จะพบว่าฉายาบ่งบอกบุคลิกภาพของเจ้าของชื่อได้ตรงกว่าชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้ อันนี้จริงเท็จเป็นอย่างไรต้องลองไปสังเกตดูเอาเอง
 
พี่บื้อเป็นช่างภาพมือดีของนิตยสารผู้จัดการ ด้วยความเร่งรีบกับเหตุการณ์ แกไม่มีเวลาจัดกระเป๋าเลยไม่ได้เอาเสื้อผ้าและเครื่องใช้ส่วนตัวติดมาด้วย คืนวันที่เกิดเหตุสึนามิ มีคนเห็นพี่บื้อไปด้อมๆ มองๆ และตัดสินใจลงชื่อในบัญชีผู้ประสบภัย เข้าแถวรอรับเสื้อผ้าและเครื่องใช้ส่วนตัวที่ทางราชการนำมาแจกให้ ช่างภาพรุ่นพี่คนหนึ่งเล่าว่าตอนรอรับของ สีหน้าที่เหมือนงงๆ อยู่ตลอดเวลาของแก ช่างเข้ากับฉายาที่เขาตั้งให้จริงๆ
 
*** ประชุมโต๊ะข่าว 
 
ก่อนแยกย้ายกันไปทำข่าวเกี่ยวกับสึนามิในแต่ละวัน ที่ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ จ.ภูเก็ต ซึ่งปกติจะดูแลพื้นที่ข่าวภาคใต้ตอนบน แต่ในสถานการณ์นั้นทีมข่าวถูกตั้งขึ้นเป็นทีมเฉพาะกิจ หลายส่วนงานทั้งนิตยสาร หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ รายวัน เว็บไซต์ และสถานีข่าวผ่านดาวเทียม ASTV ต้องมาประชุมร่วมกันก่อนออกปฏิบัติงาน 
 
ช่วงเช้าของทุกวันทีมข่าวจะต้องมารวมตัวกันเพื่อ “ประชุมโต๊ะข่าว” การประชุมโต๊ะข่าวในเหตุการณ์สึนามิ มี “พี่ป๋อง” ปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าวผู้จัดการหาดใหญ่ จ.สงขลา ในฐานะบรรณาธิการทีมข่าวเฉพาะกิจ ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม
 
ที่ประชุมโต๊ะข่าวในวันนั้น ซึ่งเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2547 ประเด็นข่าวที่นำมาหารือกันคือผลกระทบในภาคส่วนต่างๆ อันเกิดจากภัยพิบัติสึนามิ ทั้งภาคธุรกิจ และชุมชน พื้นที่ข่าวไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะ จ.ภูเก็ต เพียงเท่านั้น แต่ครอบคลุมชายฝั่งทะเลอันดามันทั้ง 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ชายหาดเขาหลัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
 
ก่อนจะเกิดเหตุร้ายพื้นที่นี้จัดเป็นทำเลทองของนักลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ช่วงก่อนเกิดเหตุ โรงแรม รีสอร์ท และบ้านพักตากอากาศ ผุดขึ้นราวดอกเห็ด เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก ที่พักบางแห่งราคาสูงจนคนไทยอย่างเราๆ คงไม่มีโอกาสได้เข้าไปใช้บริการ รายได้ที่เข้ามาในพื้นที่กระจายออกไปอย่างทั่วถึงทุกภาคส่วน ลูกหลานของคนย่านนั้นเรียนจบออกมาก็มีงานโรงแรม รีสอร์ท ใกล้บ้านไว้รองรับ ไม่ต้องดิ้นรนไปหางานทำห่างไกลบ้านเกิด ความอยู่ดีกินดีมีให้เห็นตลอดแนวชายฝั่งด้านนั้น
 
แต่แล้วเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ก็กวาดเอาทุกสิ่งทุกอย่างลงทะเล รวมทั้งความอยู่ดีกินดีและความมั่งคั่งของผู้ประกอบธุรกิจ ทิ้งไว้เพียงซากปรักหักพังและซากศพของผู้เสียชีวิต หลายคนเอาชีวิตรอดแต่ก็อยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว หมดหวังซังกะตาย ในขณะที่หลายคนตั้งสติได้และยังมีความหวัง
 
ประเด็นข่าวในวันนั้นต้องการเจาะลึกถึงมูลค่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชายหาดแห่งนี้ รายงานข่าวจะต้องฉายภาพให้เห็นสภาพของพื้นที่ชายหาดเขาหลัก ก่อนที่เศรษฐกิจย่านนั้นจะบูม ถัดมาเป็นช่วงยุคทองต่อเนื่องยุควิกฤต จนนำไปสู่คำถามว่าหลังจากนี้ไปเขาหลักจะมีสภาพเป็นอย่างไรในอนาคต ทั้งเรื่องของผู้ประกอบการธุรกิจและวิถีชีวิตชุมชน ผมรู้สึกว่าคำถามนี้ท้าทายทุกภาคส่วนของสังคม เป็นคำถามที่ทุกคนต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ และที่สำคัญมันทำให้ทั้งคนที่ตอบและคนที่ถามรู้สึกว่า ยังมีความหวัง...
 
การประชุมโต๊ะข่าวของเราเหมือนนั่งฟังบรรยายสรุป ผมรู้สึกสนุกและตื่นเต้นกับความรู้ใหม่ๆ ที่ได้รับจากบรรณาธิการผู้มากด้วยประสบการณ์ ขณะที่นั่งฟังเพลินๆ สิ่งที่กังวลว่าจะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นจนได้
 
“จอน มีประเด็นอะไรจะนำเสนอหรืออยากทำบ้าง วันนี้ต้องเขียนรายงานซักเรื่องนึงนะ” พี่ป๋อง โยนคำถามพร้อมคำสั่งโครมมาที่ผม พร้อมๆ กับที่คนอื่นๆ หันมองมาทางผมเป็นตาเดียวกัน
ในที่ประชุมนั้น ผมถือว่าเป็นน้องใหม่สุด ผู้โยนคำถามมาที่ผมเป็นทั้งอาจารย์ผู้ให้ความรู้ด้านงานข่าว และอีกด้านหนึ่งผมนับถือแกเหมือนพี่ชาย คิดไม่ถึงว่าจะถูกมอบหมายให้ทำงานในทันทีที่มาถึง
 
แต่ผมเตรียมตัวมาแล้วว่าอยากจะนำเสนอและเขียนเรื่องอะไร
 
*** เรื่องที่สำคัญกว่า 
 
“ผมอยากทำเรื่องคนที่อพยพไปอยู่บ้านน้ำเค็ม โดยเฉพาะจากพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปากพนัง พวกนี้ส่วนใหญ่หนีวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกไปอยู่ที่นั่น บ้านน้ำเค็มมีชาวลุ่มน้ำปากพนังอาศัยอยู่ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ทุกครอบครัวต้องพบความสูญเสียอีกครั้งจากเหตุสึนามิ”
 
ผมแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงเรื่องที่จะเขียน ทุกคนให้ความสนใจและเห็นด้วยกับที่ผมเสนอ
 
“อืม เรื่องนี้น่าสนใจ แต่ก็อย่าลืมนะว่าหนังสือพิมพ์ของเราเป็นหนังสือพิมพ์แนวเศรษฐกิจธุรกิจ ถ้าจะเขียนให้ดีก็ต้องโยงเข้าเรื่องเศรษฐกิจให้ได้ เพราะปัญหาหนึ่งที่คนต้องอพยพเพราะเศรษฐกิจในชุมชนล่มสลายทำมาหากินไม่ได้อีกต่อไป” บรรณาธิการแนะนำพร้อมเพิ่มเติมข้อมูลให้
 
“ความล่มสลายซ้ำซากของชุมชนชายขอบ ต้องไม่ลืมว่าเหตุที่ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องอพยพไปหากินที่อื่นสืบเนื่องมาจากความล่มสลายของสังคมเกษตรกรรรมแบบดั้งเดิม ถูกเบียดขับออกไปโดยเกษตรกรรมสมัยใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีมากขึ้น”
 
ที่ผมพอจะรู้คือการอพยพครั้งใหญ่ของชาวลุ่มแม่น้ำปากพนังเกิดขึ้นเมื่อได้รับผลกระทบจากมหาวาตภัยแหลมตะลุมพุก ในปี 2505 หลายครอบครัวต้องไปตั้งต้นชีวิตใหม่ที่นิคมสร้างตนเอง อ.บันนังสตา จ.ยะลา หลายคนประสบความสำเร็จ บ้างก็ล้มเหลวและเดินทางต่อ จุดหมายปลายทางอยู่ที่ ‘บ้านน้ำเค็ม’
 
ผลกระทบอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งบีบให้คนต้องหนีไปตายเอาดาบหน้าเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2530 รัฐบาลในสมัยนั้นได้สนับสนุนให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนวิธีปลูกข้าวเสียใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้คู่กับปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช วิถีชาวนาที่เคยอยู่อย่างพอเพียงจึงเปลี่ยนโฉมหน้าไปในที่สุด
 
อีกด้านหนึ่งมีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งกุลาดำ จนเกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจืด น้ำเค็ม สร้างความแตกแยกในชุมชนชาวนาข้าวและนากุ้ง
 
ช่วงระยะเวลาดังกล่าว ชาวลุ่มแม่น้ำปากพนังทยอยอพยพไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในที่อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น บ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ที่ญาติพี่น้องหลายคนไปตั้งรกรากอยู่ก่อนแล้วคือเป้าหมายของหลายครอบครัว
 
ครอบครัวผมเลือก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นที่ “ตั้งหนึ่งกันใหม่” จากความมุมานะ เราค่อยๆ ขยับจาก 1 จนขึ้นไปถึงระดับ 6 - 8 และสุดท้ายก็ตกลงมาอยู่ที่ 1 อีกครั้งหลังวิกฤตการเงินในปี 2540
 
ส่วนพี่น้องหลายครอบครัวที่ไปอยู่บ้านน้ำเค็ม เริ่มจากเป็นคนงานในเหมืองแร่ บางคนเก็บหอมรอมริบจนมีฐานะดีขึ้น เมื่อเหมืองแร่เลิกก็หันไปทำประมง เก็บเงินสร้างบ้านสร้างครอบครัวได้อย่างมั่นคงสืบมา จนกระทั่ง 26 ธันวาคม 2547 ‘สึนามิ’ ก็มาพรากทุกสิ่งทุกอย่างไปจากเขาอีกครั้งหนึ่ง
 
ผมเล่าข้อมูลให้ที่ประชุมข่าวฟังอย่างคร่าวๆ ทุกคนพอใจในเรื่องที่นำเสนอ บก.กำชับให้รีบเขียนให้เร็วที่สุด หลังจากเดินทางลงพื้นที่ แต่ไม่ใช่วันนี้
 
“อ่าว คิดว่าเราจะไปพังงากันวันนี้เสียอีก” ผมท้วง
 
“ตามกำหนดเราก็จะไปวันนี้นั่นแหละ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงกะทันหันเพราะมีเรื่องสำคัญกว่า” บก.ชี้แจง ทุกคนหันไปมองแกเป็นตาเดียวกัน ผมนึกสงสัย เรื่องอะไรที่ว่าสำคัญกว่า
 
“วันนี้ทักษิณยืนยันแล้วว่าจะเดินทางมาตรวจความเสียหายจากสึนามิ เราคงต้องตามข่าวนี้กันก่อน และมึง” แกชี้มาที่ผม
 
“ต้องไปทำข่าวนี้ด้วย เตรียมประเด็นไปให้ดี เดี๋ยวจะไปกันเลย เห็นว่าจุดแรกที่จะไปคือหาดป่าตอง”
 
แฟ้มภาพ
 
*** หัดบินบนยอดคลื่น 
 
ประชุมข่าวเสร็จเราออกเดินทางทันที ป๋าเสริฐรับหน้าที่ขับรถ พี่ป๋อง เป็นพี่เลี้ยง น้าเจี๊ยว หัวหน้าช่างภาพผู้จัดการรายวันรับหน้าที่ถ่ายภาพ ผมค่อนข้างเกร็งเมื่อถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว นอกจากผมแล้วคนอื่นๆ ล้วนถือว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในวงการข่าว ผ่านสนามข่าวมาอย่างโชกโชน ป๋าเสริฐ เคยตะลุยไปถึงเวียดนาม พี่ป๋อง เคยแฝงตัวเข้าไปทำข่าวสืบสวนสอบสวนจนสามารถล้มบริษัทแชร์ลูกโซ่แห่งหนึ่งที่หลอกอมเงินชาวบ้านจนสำเร็จ ส่วนน้าเจี๊ยว เคยสะพายกล้องวิ่งฝ่ากระสุนปืนทหารในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
 
รุ่นป๋ารุ่นน้าล้วนเป็นพญาอินทรีในสนามข่าว ส่วนผมเป็นแค่พิราบน้อยหัดบิน เพราะขณะนั้นยังเป็นนักข่าวได้ไม่ถึงปี แต่ถึงแม้ผมและเพื่อนร่วมรุ่นอีกสองคนจะเป็นมือใหม่ เหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นก็ได้ทำให้รุ่นพี่บางคนมองเราด้วยความทึ่งเหมือนกัน
 
“พวกเอ็งโชคดีที่ได้ทำข่าวสึนามิ พวกพี่แม้จะเคยทำข่าวใหญ่ๆ อย่าง 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ แต่สึนามิถือเป็นประวัติศาสตร์เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเมืองไทย เหตุการณ์นี้จะทำให้พวกเอ็งอยากเป็นนักข่าวไปตลอดชีวิต” พี่ฑพ หรือปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ บรรณาธิการนิตยสารผู้จัดการ ให้ข้อคิดกับพวกเรา
 
จริงอย่างที่แกว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดสึนามิ ผมรู้สึกว่ายังอยู่ไกลความฝันเหลือเกิน ไม่รู้ว่าเส้นทางอาชีพนักข่าวจะพาเราไปสู่หนไหน จุดหมายปลายทางนั้นจะใกล้หรือไกลยังไม่มีใครรู้ แต่สึนามิก็เกิดขึ้นเหมือนกับจะเป็นบททดสอบว่าเราพร้อมแค่ไหนในเส้นทางสายนี้
 
หลังเหตุการณ์ผ่านไปเพียงสามวันผมสัญญากับตัวเองว่าจะเป็นนักข่าวไปตลอดชีวิต ตอกย้ำจิตวิญญาณตัวเองอีกครั้งว่าเราชอบและเกิดมาเพื่อจะทำสิ่งนี้ และเราเป็นเหมือนนกพิราบน้อยที่กำลังฝึกบินบนยอดคลื่น (สึนามิ)
 
ป๋าเสริฐ บังคับรถยนต์ตามขบวนนายกรัฐมนตรีไปอย่างชำนาญ แม้อายุจะเลยเกษียณไปแล้วแต่แกยังขับรถรอบคอบกว่าคนหนุ่มหลายคน ไม่ว่าสภาพถนนเป็นอย่างไร ป๋าไม่เคยทำให้ผู้โดยสารกังวลกับอุบัติเหตุเลย ขบวนรถผู้ติดตามนายกรัฐมนตรียาวเหยียด รถเราอยู่ในช่วงท้ายขบวน
 
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า ‘ทักษิณ’ ได้รับประโยชน์เต็มๆ จากเหตุการณ์สึนามิ เขากำลังอยู่ในช่วงคะแนนนิยมตกต่ำเนื่องจากการบริหารประเทศที่ถูกมองว่าไม่มีความโปร่งใส เอื้อประโยชน์ของรัฐไปให้พวกพ้อง และปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เขาถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่อาจจะนำพาประเทศไปสู่หายนะเหมือนอาร์เจนติน่า และที่สำคัญต้นปี 2548 จะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งหลังจากบริหารประเทศได้จนครบ 4 ปี
 
หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งถึงกับเขียนการ์ตูนล้อเป็นรูป ‘ทักษิณ’ ขี่คลื่นสึนามิ ไปคว้าชัยทางการเมือง เพราะคะแนนนิยมของเขากลับมาดีขึ้นอีกครั้งจากการแสดงวิสัยทัศน์และเดินสายช่วยเหลือผู้ประสบภัยในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งเหมือนหาเสียงไปในตัว
 
ขบวนรถจอดลงตรงถนนริมหาดป่าตอง พี่ป๋อง น้าเจี๊ยว และผม ลงจากรถเกือบจะพร้อมกัน ป๋าเสริฐขอสแตนบายด์อยู่ที่รถ นี่คือนาทีเร่งรีบที่จะมัวโอ้เอ้อยู่ไม่ได้ ผมออกเดินจนเกือบจะวิ่งไปทางกลุ่มนักข่าวที่ตามนายกรัฐมนตรีไป แต่ก็ต้องหยุดลงเมื่อพบกับบุรุษคนหนึ่งยืนมองมาทางเรา
 
เขาคือ ‘จักรภพ เพ็ญแข’
 
*** บินสูงอีกนิด 
 
ผมยกมือไหว้ทักทายโฆษกรัฐบาลหนุ่ม นึกประหลาดใจที่เขายังจำผมได้ ก่อนมารับตำแหน่งโฆษกรัฐบาล ‘จักรภพ เพ็ญแข’ คือนักวิเคราะห์ข่าวที่พวกเรานักศึกษาวารสารชื่นชอบ
 
สมัยเรียน ผมและเพื่อนอีกคนได้เป็นตัวแทนของโปรแกรมฯ ไปอบรม ‘นักข่าวสายฟ้าน้อย รุ่นที่ 1’ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ฯ เป็นผู้จัดขึ้น และ ‘จักรภพ เพ็ญแข’ เป็น 1 ในวิทยากรที่มาให้ความรู้ หลังการอบรมผมและเพื่อนๆ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเขา นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาจำผมได้ เมื่อมาเจอกันอีกครั้งโดยบังเอิญ
 
“เดี๋ยวนี้ดูมีน้ำมีนวลขึ้นนะ” เขาเอ่ยประโยคนี้ขึ้นมา ขณะใช้แขนข้างขวาโอบเอวผมเข้าไปประชิดตัว
 
“ตอนนี้ทำงานอยู่ที่ไหน” เขาถามอีก
 
“เพิ่งมาอยู่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการครับ ก่อนหน้านี้อยู่ช่อง 11 ภูเก็ตครับ วันนี้มาตามข่าวนายกฯ” ผมตอบ รู้สึกอึดอัดกับแรงโอบของแก
 
“พี่สบายดีนะครับ ไม่ได้เจอตั้งนาน” ผมถามกลับบ้าง
 
“สบายดี รีบไปทำงานเถอะ ท่านนายกฯ เดินไปโน่นแล้ว” ผมหายใจทั่วท้องขึ้นเมื่อหลุดจากการโอบรัด ยกมือไหว้อีกทีแล้วรีบวิ่งตามขบวนนายกฯ ไป
 
เป็นครั้งแรกที่ผมได้มาตามทำข่าวผู้นำสูงสุดของคณะรัฐบาล คิดว่าวันนี้ต้องถามนายกฯ ทักษิณ อย่างน้อย 1 คำถาม และเขาจะต้องตอบ การตั้งคำถามครั้งนี้ผมจะต้องได้ถามเพียงคนเดียว อยากจะพิสูจน์ความกล้าของตัวเองในการเข้าประจันหน้ากับแหล่งข่าวระดับผู้นำประเทศ ถ้าเขาตอบมันจะทำให้ผมมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะเท่ากับว่าเขาสนใจในประเด็นที่เราถาม
 
นายกฯ เดินตรวจความเสียหายริมหาดแล้วแวะทักทายนักท่องเที่ยวต่างชาติคนหนึ่ง แสงแฟลชจากกล้องถ่ายภาพนิ่งส่งประกายวาบวับมาจากทุกทิศทาง ผมยืนอยู่ห่างนายกฯ ไม่ถึง 2 เมตร ในขณะที่การ์ดประจำตัวนายกฯ คอยกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าใกล้จนเกินไป ผมยังไม่มีโอกาสจะยิงคำถาม เพราะเป็นการเสียมารยาทหากถามออกไปขณะที่เขากำลังสนทนากับคนอื่น
 
คุยกับนักท่องเที่ยวคนนั้นเสร็จเขาออกเดินมุ่งหน้าไปที่รถยนต์ทันที เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปที่หาดกมลา ผมเดินตามไปทางด้านขวา เมื่อสบโอกาสจึงยิงคำถามที่เตรียมไว้ทันที
 
“นายกฯ ครับ หน้าหาดป่าตองอาคารสูง 2 แห่ง มีชั้นใต้ดินอยู่ลึกลงไปมาก ตอนเกิดสึนามิมีคนไปติดอยู่และเสียชีวิตไปหลายคน ในอนาคตสึนามิอาจเกิดขึ้นได้อีก ถ้ามีชั้นใต้ดินแบบนี้จะสูญเสียมาก จะป้องกันปัญหานั้นอย่างไรครับ”
 
ผมยิงคำถามรวดเดียวจบหลังถามไปแล้วรู้สึกหัวใจเต้นถี่และแรงด้วยความตื่นเต้น ผมจรดปลายปากกาลงบนกระดาษเมื่อเห็นนายกฯ หันมาแล้วตอบคำถามนั้น
 
“ผมรับทราบความเสียหายแล้ว และคงจะต้องหารือกับฝ่ายโยธาเพื่อหามาตรการป้องกัน คิดว่าน่าจะได้คำตอบเร็วๆ นี้” ผมเดินพลางจดพลาง ไม่รู้จะถามอะไรอีก เพราะนายกฯ เดินถึงรถยนต์พอดี
สำหรับครั้งแรกได้แค่นี้ก็ถือว่าโอเคแล้ว ผมบินสูงขึ้นอีกนิดหนึ่ง ต่อไปจะต้องมีแบบนี้อีก และเราจะต้องพร้อมเสมอ
 
ขณะนั้นผมเห็นคุณจักรภพเดินไปขึ้นรถอีกคันหนึ่ง ยังรู้สึกฉงนปนจั๊กกะจี้กับคำทักทายแปลกๆ ของแก
 
“เดี๋ยวนี้ดูมีน้ำมีนวลขึ้นนะ” ประโยคนี้ยังก้องอยู่ในรูหู
 
ข้อข้องใจนั้นคลี่คลายลงเมื่อไม่นานนี้เอง เมื่ออดีตนักวิเคราะห์ข่าวชื่อดังถูกหนังสือพิมพ์ขนานนามเสียใหม่ว่า
 
“เจ๊เพ็ญ!”
 
*** ข่าวรูทีน : เขียนด้วยทีน (ฮา) 
 
การตามทำข่าวนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะติดตามเดินทางมาตรวจเหตุการณ์สึนามิ ไม่มีอะไรตื่นเต้นอย่างที่คิดไว้ นอกจากได้เห็นหน้าบุคคลสำคัญหลายๆ คนในวงการการเมืองและข้าราชการของประเทศแล้ว ก็ไม่มีอะไรให้น่าสนใจอีก เพราะนักข่าวทำได้แต่เพียงรายงานเหตุการณ์ตามรูปแบบ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร และทำไม ซึ่งขณะนั้นนักข่าวหลายคนได้รายงานกันไปแล้ว ว่า
 
“เมื่อเวลา... นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะได้เดินทางไปที่ จ.ภูเก็ต เพื่อ... การเดินทางลงมาในพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก...”
 
อันเป็นรูปแบบของการรายงานข่าวเหตุการณ์ ข่าวกระแส หรือข่าวรูทีน แล้วแต่ใครจะเรียก ผมแอบได้ยินนักข่าวอาวุโสคนหนึ่งบ่นออกมาดังๆ ว่า
 
“ข่าวแบบนี้กูใช้ทีนข้างซ้ายเขียนเอาก็ได้” (ฮา)
 
คนที่พูดประโยคนี้เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับถึงความสามารถในการทำข่าวเจาะ ข่าวเชิงลึกหรือข่าวสืบสวนสอบสวน ที่ไม่ได้เริ่มต้นคำถามจาก ‘ใคร’ แต่เริ่มจาก ‘ทำไม’ ซึ่งข่าวประเภทนี้แหละที่สร้างผลสะเทือนให้กับสังคมได้ไม่น้อย พวกนักการเมือง ข้าราชการ นายทุน ที่ชอบเอารัดเอาเปรียบชาวบ้านหรือโกงกินเป็นสรณะเกลียดนักเกลียดหนากับนักข่าวประเภทนี้
 
ระหว่างนั่งรถกลับสำนักงานผมนึกถึงข้อเขียนประโยคหนึ่งของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ว่า ระหว่าง “คนนำสาร คลานตามข่าว เจ้าประเด็น เด่นข่าวเจาะ” เราจะเลือกเป็นนักข่าวประเภทไหน
 
แน่นอนโดยส่วนตัวผมอยากเป็นนักข่าวสืบสวนสอบสวนที่รายงานข้อมูลมากกว่าข่าวประเภท ‘รูทีน’ แต่ในขณะนั้นผมยังเป็นนักข่าวหน้าใหม่ ไม่ได้เด่นข่าวเจาะและสามารถเท่านักข่าวอาวุโสผู้นั้น อีกทั้งผมเป็นคนถนัดขวา คงไม่สามารถใช้ทีนข้างซ้ายเขียนหนังสือได้เหมือนแกหรอก
 
อย่างไรก็ตามถ้าจะเป็นนักข่าวสืบสวนสอบสวนให้เก่งได้เหมือนรุ่นพี่คนนั้น ผมคงต้องสั่งสมประสบการณ์อีกมาก คิดเข้าข้างตัวเองเอาว่ายังไงเสียเราก็เริ่มต้นได้สวยได้อยู่ท่ามกลางพี่ๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีชั่วโมงบินสูง เหยี่ยวข่าวหนุ่มอย่างผมคงปีกกล้าขาแข็ง กระโจนจากยอดคลื่นขึ้นว่ายแหวกฟ้าได้ในไม่ช้านี้
 
ในการเดินทางของชีวิตผม เมื่อมองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น และพิจารณาจุดที่กำลังยืนอยู่แล้ว ผมไม่กลัวเลยว่าข้างหน้าจะเป็นเช่นไร
 
“ตกลงมึงจะไปทำสกู๊ปที่น้ำเค็มวันไหน” ผมตื่นจากภวังค์เมื่อได้ยินเสียงหัวหน้าถามถึงงานที่ยังค้างคา
 
“ถ้าแถวนี้ไม่มีอะไรสำคัญ ผมว่าจะไปพรุ่งนี้เลยครับ”
 
“งั้นออกแต่เช้าเลยละกัน เดี๋ยวฉันจะขับรถให้” เสียงนั้นดังมาจากป๋าเสริฐ หัวหน้าศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ จ.ภูเก็ต แกชำเลืองมองผมทางกระจกมองหลังนิดหนึ่ง แล้วบังคับรถให้แล่นไปตามทางคดเคี้ยวของถนนต่อไป
 
“ตกลงครับป๋า ออกกันแต่เช้าเลย” ผมตอบด้วยความตื่นเต้น ป๋าเสริฐเป็นผู้ใหญ่ใจดีแต่เด็ดขาดและจริงจังกับงาน แกพร้อมสนับสนุนให้นักข่าวได้ทำงานอย่างเต็มที่ ไม่เว้นแม้แต่จะต้องขับรถให้ ถึงอายุจะเลยวัยเกษียณไปแล้ว แต่ป๋าเสริฐยังคล่องแคล่วไม่แพ้คนหนุ่ม
 
ไม่นานเราก็เดินทางไปถึงสำนักงาน ผมลงจากรถเป็นคนสุดท้าย รู้สึกเบาสบายขึ้นมาทันทีเมื่อได้บิดตัวไล่ความขี้เกียจออกจากร่าง เมื่อสูดลมหายใจเข้าเต็มปอด ก็รู้สึกว่ามีกลิ่นเหม็นตุตุโชยมาจากแถวนั้น พอยกเท้าข้างซ้ายขึ้นมาดูพบว่าเหยียบเอากองขี้หมาเข้าเต็มทีนเลย!!! 
 
แฟ้มภาพ
 
*** เรือรบ 
 
เช้าวันต่อมา ผม พี่ป๋อง ป๋าเสริฐ และพี่สันต์ ช่างภาพ ออกเดินทางตั้งแต่เช้าจากภูเก็ต มุ่งหน้าไป จ.พังงา เป้าหมายหลักอยู่ที่วัดย่านยาว และบ้านน้ำเค็ม ต.บางมวง อ.ตะกั่วป่า โดยมีแผนที่จะแวะเก็บข้อมูลและภาพตามรายทางที่ผ่านไปด้วย
 
จุดแรกที่ไปถึงคือฐานทัพเรือ กองเรือภาคที่ 3 บ้านทับละมุ ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา พื้นที่ตามสองข้างทางที่รถแล่นผ่านไปมีสภาพไม่แตกต่างจากที่อื่นๆ ต้นไม้ที่เคยเขียวขจีบัดนี้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลไหม้ไร้ชีวิตชีวา เข้ากันได้ดีกับซากรถและบ้านเรือนที่พังพินาศเพราะฤทธิ์ของสึนามิ บรรยากาศชวนให้หดหู่และวังเวงใจ
 
กำแพงของฐานทัพเรือถูกคลื่นซัดเสียหายเกือบจะทั้งหมด พื้นที่สนามหญ้าที่คาดว่าน่าจะเป็นสนามกอล์ฟของฐานทัพเกลื่อนไปด้วยซากขยะที่ถูกคลื่นพัดพามา ลือกันว่าตอนเกิดสึนามิมีนายทหารหลายนายกำลังออกรอบตีกอล์ฟ และถูกคลื่นซัดได้รับบาดเจ็บในขณะที่บางนายหายสาบสูญ แต่ไม่มีรายงานข่าวในส่วนนี้ เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องออกมายืนยันข้อมูลที่แน่ชัด ซ้ำการให้ข่าวยังเป็นไปในลักษณะของการแบ่งรับแบ่งสู้มากกว่าจะยอมรับว่าจริงหรือไม่จริง ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ข่าวลือจึงยังคงเป็นข่าวลือ และลอยหายไปกับสายลมในที่สุด
 
เรานำรถไปจอดไว้ใกล้กับท่าเทียบเรือ แม้คลื่นสึนามิจะทำความเสียหายให้กับหมู่บ้านชาวประมงอย่างย่อยยับ แต่ท่าเทียบเรือประมงแห่งนี้ไม่ได้ถูกทำลายลงไปด้วย เรือที่รอดพ้นจากการถูกคลื่นซัดจอดลอยลำอยู่ที่นี่ ขณะที่เรือประมงอีกหลายลำอับปาง บางลำถูกคลื่นหอบขึ้นไปอยู่บนบก ขณะที่เรือรบขนาดใหญ่ลำหนึ่งของฐานทัพเรือถูกคลื่นซัดไปเกยตื้นอยู่บนป่าชายเลน มันเป็นเรือลำใหญ่ที่ผมไม่ค่อยจะได้เห็นบ่อยนัก จึงยกกล้องถ่ายภาพแบบดิจิตอลขึ้นมาเพื่อบันทึกภาพไว้ คิดว่านักข่าวหลายคนหากไปเห็นก็คงอยากบันทึกภาพเหมือนผมเช่นกัน
 
“คุณครับ ห้ามถ่ายนะครับ ถ่ายไม่ได้ ถ่ายรูปอื่นเถอะครับ เรือนี่เขาห้ามถ่าย” เจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือออกคำสั่งแกมขอความร่วมมือ
 
“อ๋อ โอเคครับ ไม่เป็นไร” ผมยิ้มให้เขาและยอมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เขายิ้มตอบอย่างมีไมตรี ไม่รู้เขาจะโกรธผมหรือเปล่าถ้ามารู้ทีหลังว่าผมบันทึกภาพไปแล้ว 3 ภาพ โดยถ่ายด้วยโหมดกลางวันไม่ใช้แฟลช และไม่ได้ตั้งเสียงบี๊บๆ ไว้ เมื่อลั่นชัตเตอร์จึงไม่มีใครได้ยินเสียงการบันทึกภาพ ผมถ่ายไปก่อนที่จะได้ยินเขาสั่งห้าม และไม่มีคำสั่งเพิ่มเติมว่าให้ลบภาพที่ถ่ายไปแล้วออกด้วย อีกทั้งคิดว่าการถ่ายรูปเรือรบเกยตื้นไม่น่าจะทำให้ประเทศชาติเสียหายหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงแต่อย่างใด
 
เราออกจากทับละมุ เพื่อเดินทางต่อ สองข้างทางด้านขวามือเป็นเนินเขา ด้ายซ้ายมือเป็นชายหาด รีสอร์ทและโรงแรมหรูหลายแห่งถูกคลื่นซัดเสียหายย่อยยับ บางแห่งยังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง ผมนึกภาพไม่ออกว่าผู้ลงทุนจะมีสีหน้าอย่างไรเมื่อทราบข่าวว่าโรงแรมที่เขาลงทุนสร้างต้องพังเสียหายทั้งๆ ที่ยังสร้างไม่เสร็จ
 
เลยไปอีกหน่อยเป็นขุมเหมืองขนาดใหญ่ ข่าวก่อนหน้านี้รายงานว่ามีรถบัสคันหนึ่งถูกคลื่นซัดจมลงไปในเหมือง ผู้โดยสารประมาณ 25 คน ไม่มีใครรอดชีวิต!!!
 
*** วัดย่านยาว (1)
 
ในที่สุดเราก็เดินทางไปถึงตัวอำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา ทีมงานตัดสินใจจะไปเก็บภาพบรรยากาศการทำงานของอาสาสมัครในวัดย่านยาว ซึ่งเป็นสถานที่เก็บและชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิก่อน แล้วถึงจะแวะเข้าไปในบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง ในตอนขากลับ แต่เรายังไม่รู้ว่าวัดย่านยาวอยู่ตรงจุดไหนของ อ.ตะกั่วป่า ประกอบกับเวลาเที่ยงตรงพอดี เลยตัดสินใจแวะกินข้าวกลางวันรองท้องกันก่อนที่จะถามทางไปวัด
 
ป๋าเสริฐเลี้ยวรถเข้าไปในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งเพื่อเติมน้ำมันรถ และให้ทุกคนได้แวะเข้าห้องน้ำ ในปั๊มน้ำมันมีร้านขายข้าวแกงอยู่ด้วย เลยตัดสินใจว่าจะกินอาหารกลางวันกันเสียให้เรียบร้อยที่นั่นเลย
 
ภายในร้านมีลูกค้านั่งรับประทานอาหารอยู่บางตาทั้งๆ ที่กับข้าวที่เห็นดูท่าทางว่าน่าจะมีรสชาติดีไม่น้อย ประกอบกับได้สอบถามพนักงานเติมน้ำมันมาเรียบร้อยแล้ว และได้คำตอบว่าอาหารร้านนี้ขายดีปกติจะมีลูกค้าแวะมากินกันจนแน่นร้าน ทำให้นึกสงสัยว่าแล้วทำไมเที่ยงวันนี้ร้านอาหารที่ขึ้นชื่อถึงมีลูกค้ามาอุดหนุนไม่มากอย่างที่คิด ระหว่างที่กำลังเดินดูเมนูกับข้าวอยู่นั่นเอง ใครคนหนึ่งในทีมงานก็เอ่ยขึ้น
 
“กลิ่นอะไรแปลกๆ วะ” ผมหันไปมอง เสียงนั้นมาจากพี่สันต์ ช่างภาพ แกทำจมูกฟุดฟิดๆ เพื่อพิสูจน์กลิ่น
 
“เออจริงๆ ด้วย” คราวนี้ทีมงานทุกคนรำพึงออกมาเกือบจะพร้อมๆ กัน รวมทั้งผม
 
กลิ่นที่ว่าเหมือนจะโชยมากับลมที่พัดเปลี่ยนทิศทางมาทางนี้พอดี ผมรู้สึกว่าคุ้นเคยกับกลิ่นนี้เป็นอย่างดี มันเป็นกลิ่นของน้ำยาฟอร์มาลีนที่ใช้ฉีดกันศพเน่า แม้กลิ่นของมันจะแรงแต่ก็ยังไม่พอเพียงพอที่จะกลบความเหม็นเน่าได้ แล้วผมก็พบที่มาของกลิ่น
 
“นั่นไงวัดย่านยาว” ผมชี้ไปทางฝั่งตรงข้ามของถนน ทุกคนหันมองตาม หน้าวัดย่านยาวมีรถยนต์จำนวนมากจอดบังกำแพงวัด จนทำให้พวกเราไม่ทันสังเกตว่าสถานที่ที่เรากำลังจะเดินทางไปอยู่ใกล้เพียงเดินไม่กี่ก้าวก็ถึง
 
วัดย่านยาว ถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับเก็บรักษา และตรวจพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิในพื้นที่ จ.พังงา โดยศพส่วนใหญ่มาจากชายหาดเขาหลักและชายหาดใกล้เคียง ร่างผู้เคราะห์ร้ายจำนวนนับพันศพถูกนำมาเก็บไว้ที่นี่เป็นการชั่วคราว เพื่อรอญาติมารับกลับไปประกอบพิธีทางศาสนา ศพส่วนใหญ่อยู่ในสภาพอืดและเริ่มจะเน่า เจ้าหน้าที่อาสาสมัครต้องใช้ฟอร์มาลีนจำนวนหลายพันลิตรเพื่อชะลอการเน่าของศพ ในขณะที่ศพบางส่วนถูกนำมาผ่าและเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอไว้เพื่อใช้เปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของญาติว่าตรงกันหรือไม่ เพราะศพเกือบทั้งหมดอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถจะระบุได้ว่าผู้ตายเป็นใคร มาจากไหน
 
พลันที่รู้คำตอบเรื่องที่มาของกลิ่น เราเดินออกจากร้านอาหารร้านนั้นไปอย่างเงียบๆ เพื่อเป็นการรักษามารยาท และต่างพร้อมใจกันเข้าไปนั่งประจำตำแหน่งในรถยนต์
 
ป๋าเสริฐ รีบสตาร์ทรถเครื่องแล้วเปิดเครื่องปรับอากาศทันที ดูเหมือนทุกคนจะหายใจได้ทั่วท้องมากขึ้น
 
 “ฉันว่าเราไปกินร้านอื่นดีกว่าว่ะ กูว่าแล้วทำไมร้านอร่อยถึงไม่ค่อยมีคนมากิน” ป๋าเสริฐ พูดพร้อมกับหัวเราะร่วนออกมา ที่สำคัญคือไม่มีใครปฏิเสธกับข้อเสนอของแกแม้แต่คนเดียว
 
*** วัดย่านยาว (2) 
 
หลังอาหารกลางวัน เราจึงเข้าไปที่วัดย่านยาว ทันทีที่ก้าวเท้าเข้าไปในวัดกลิ่นสาบสางและเหม็นเน่าของศพผสมกับกลิ่นฟอร์มาลีนโชยมาปะทะเข้ากับจมูกอย่างจัง โชคดีที่ผมไม่อ่อนไหวกับสิ่งแปลกปลอมลักษณะนี้เท่าไหร่นัก ไม่เช่นนั้นอาหารกลางวันอาจไหลย้อนกลับออกมากองอยู่บนพื้นเป็นแน่แท้
 
สมัยเด็กผมมักถูกมอบหมายให้จัดการกับซากหนูตาย หมาตาย บ่อยๆ หลายครั้งจำได้ว่าครั้งหนึ่งต้องคลานเข้าไปลากซากหมาตายจากใต้อาคารเรียนแล้วนำไปฝัง หมาที่ตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 วันกำลังพองอืดและมีหนอนไต่ยัวะเยียะ ส่งกลิ่นเหม็นเน่ารุนแรง ผมกับเพื่อนอีกคนเข้าไปนำเชือกคล้องร่างหมาแล้วช่วยกันดึงออกมา
 
เพื่อนคนอื่นๆ รวมทั้งครูยืนเอาใจช่วยอยู่ข้างนอก ทันทีที่ซากหมาตายถูกดึงออกมาจากใต้ถุนอาคาร กลิ่นของมันโชยตลบจนไทยมุงแตกฮือหลายคนถึงกับอาเจียน แต่ผมกับเพื่อนที่เข้าไปด้วยกันยังปกติดี เราภูมิใจที่ได้ทำในสิ่งที่ไม่มีใครอยากทำ มันคือการเสียสละอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับผู้ที่มาช่วยจัดการศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สึนามิ พวกเขาคงคิดไม่แตกต่างกัน
 
ผมแวะไปดูภาพถ่ายศพผู้เสียชีวิตที่ถูกนำมาเก็บไว้ที่วัด ช่างภาพตั้งใจถ่ายใบหน้าและรอยตำหนิบนตัวศพ เช่น รอยสัก รวมทั้งของมีค่าที่ติดอยู่กับตัวผู้ตายเพื่อให้ง่ายต่อการระบุว่าศพนั้นๆ เป็นใครเพราะบางศพมีชื่อติดอยู่ ในขณะที่หลายศพไม่มีชื่อ ไม่มีหลักฐานว่าเป็นใครมาจากไหน
 
หน้าตาของศพแต่ละศพบวมฉุ บางศพมีสีหน้าที่บ่งบอกว่าก่อนตายเขาอยู่ในอาการที่ตกใจสุดขีด อาจช็อคตายไปก่อนที่จะจมน้ำด้วยซ้ำ ผมมองดูรูปเหล่านั้นจนครบทุกรูปแล้วก็นึกปลงว่าสุดท้ายแล้วคนเราก็เท่านี้ ไม่มีใครหนีพ้นความตายไปได้ เพียงแต่พวกเขาโชคร้ายที่ต้องมาพบกับความตายที่น่าอนาถเช่นนี้
 
เราได้รับแจกแมส หรือหน้ากากป้องกันการติดเชื้อ ที่สามารถป้องกันกลิ่นเหม็นเน่าของศพได้ในระดับหนึ่งเพราะหน้ากากผ้าแบบบางคงไม่สามารถป้องกันกลิ่นได้ทั้งหมด กลิ่นเหม็นเน่าของศพคนตายคือสิ่งที่ผมไม่เคยพบมาก่อนในชีวิต ยิ่งเป็นศพที่เสียชีวิตจากการจมน้ำด้วยแล้วมันเหม็นเกินจะบรรยายออกมาเป็นคำพูดหรือตัวหนังสือได้
 
รถยนต์ของมูลนิธิกู้ภัยหลายคันทยอยนำศพที่ค้นพบในที่ต่างๆ มาส่งให้กับเจ้าหน้าที่ ผมเดินเข้าไปดูศพล่าสุดที่นำเข้ามา เจ้าหน้าที่บอกว่าพบที่ชายหาดบางเนียง ห่อผ้าขาวห่อนี้ดูแปลกตากว่าห่ออื่นๆ เพราะมีขนาดเล็กกว่ามาก
 
“เด็กครับ อายุคงสัก 5 ขวบได้” เด็กหนุ่มที่มาเป็นอาสาสมัครกู้ภัยบอก “เรายังหาศพพ่อแม่แกไม่พบ”
 
“มีเด็กๆ เสียชีวิตหลายคนมั้ยครับ” ผมถาม
 
“ก็มีเยอะเหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มาเที่ยวกับพ่อแม่” เขาตอบ
 
ใกล้ๆ กับที่จอดรถของเจ้าหน้าที่กู้ภัย มีตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ใช้เป็นห้องเย็นแช่ศพชั่วคราว เจ้าหน้าที่สองสามคนกำลังเข็นรถเข็นบรรทุกศพไปเก็บพอดี ผมเลยเดินตามไปดูด้วย ทันทีที่ประตูตู้ถูกเปิดออก อากาศที่อัดอยู่ภายในและกลิ่นไม่พึงประสงค์พุ่งออกมาปะทะเข้าอย่างจัง ผมถึงเข้าใจในขณะนั้นเองว่าทำไมถึงมีผมเพียงคนเดียวที่ไปสอดรู้สอดเห็นอยู่หน้าตู้คอนเทนเนอร์นั้น คนอื่นคงจะเข็ดกันหมดแล้ว
 
แฟ้มภาพ
 
*** ระหว่างคราบน้ำตา - มีรอยยิ้ม 
 
ผมเดินเลี่ยงออกมาจากหน้าตู้คอนเทนเนอร์แช่ศพ แวะไปขอน้ำเย็นล้างหน้าคลายร้อน ภายในวัดย่านยาวมีสิ่งของบริจาคมากมายทั้งของกินและของใช้ โดยผู้มีจิตศรัทธานำมาบริจาคให้กับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่มาปักหลักพักค้างอยู่ในวัดเป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน
 
ใกล้กับจุดที่ผมไปรับน้ำดื่มเป็นศาลาขนาดกลาง มีเด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่งนั่งทำงานกันอยู่ ดูจากเครื่องหมายสถาบันบนออกเสื้อก็คาดเดาได้ว่าพวกเขาน่าจะเป็นนักศึกษาแพทย์ คอยทำหน้าที่จดบันทึกข้อมูลที่ได้จากศพแต่ละศพ ภายในศาลามีศพวางเรียงรายอยู่ไม่ต่ำกว่า 30 ศพ
 
หน้าโต๊ะทำงานของพวกเขามีลังน้ำแข็งสำหรับแช่เครื่องดื่ม และผ้าเย็น ใครกระหายน้ำหรืออ่อนเพลียจากการปฏิบัติหน้าที่ก็สามารถเดินเข้าไปหยิบเครื่องดื่มได้โดยไม่ต้องจ่ายตังค์ นอกจากนี้ยังมีหม้อใบเขื่องวางอยู่บนเตาแก๊ส ผมเดินเข้าไปดูพบว่าข้างในเป็นขาหมูพะโล้ เข้าใจว่าน่าจะมีผู้ใจบุญนำมามอบให้เป็นอาหารสำหรับเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร
 
เด็กหนุ่มคนหนึ่งถอดถุงมือยางทิ้ง หลังจากล้างมือเสร็จแล้วเขาหยิบจานที่ทำจากกระดาษแข็งตักข้าวใส่แล้วเดินมาตักขาหมูพะโล้ไปนั่งกินอยู่เงียบๆ ความอ่อนเพลียและหิวทำให้เขากินอย่างอะเหร็ดอร่อยโดยไม่สนใจบรรยากาศรอบข้างว่ากำลังนั่งอยู่ข้างๆ ซากศพที่ส่งกลิ่นเน่าเหม็นตลบอบอวลไปทั้งวัด
 
ผมเดินไปดูศพที่วางเรียงรายอยู่ภายในศาลา ศพหนึ่งมีมือโผล่ออกมาจากห่อผ้า สภาพของมันสีดำคล้ำและบวมอืด แผลที่ถูกของมีคมบาดเผยให้เห็นกล้ามเนื้อและกระดูก
 
พลัน! ผมนึกถึงขาหมูในหม้อลักษณะและสีของมันช่างคล้ายคลึงกันเสียจริงๆ ผมหันไปมองเด็กหนุ่มคนนั้นเขายังคงก้มหน้าก้มตากินข้าว ผมชมเขาในใจ นอกจากจะเสียสละแล้ว เขายังเข้มแข็ง เพราะในความเป็นจริงคงมีคนจำนวนไม่มากนักที่สามารถนั่งกินขาหมูท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ได้
 
ผมสังเกตบรรยากาศรอบๆ ตัว ทุกคนตั้งใจทำหน้าที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปและไม่ค่อยได้เห็นจากใบหน้าของใครเลย นั่นคือรอยยิ้ม
 
เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นทำให้มีคนตายนับพันนับหมื่นคน หลายคนต้องจมอยู่ในความเศร้า โดยเฉพาะผู้ที่สูญเสียทรัพย์สินและญาติมิตร มันเป็นการยากที่ใครจะยิ้มแย้มแจ่มใส หรือหัวเราะได้ในบรรยากาศแบบนี้
 
ประกอบกับทุกคนที่อยู่ภายในบริเวณวัด ต่างสวมหน้ากากปิดปากและจมูกเพื่อป้องกันกลิ่นและการติดเชื้อ ทำให้มองเห็นเพียงดวงตาและคิ้วที่ขมวดเข้าหากันเกือบจะตลอดเวลา
 
ผมหาที่นั่งพักแล้วถอดหน้ากากนั้นออก หยิบปากกามาลากเส้นโค้งตรงหน้ากาก กะระยะให้ตรงกับปากพอดี มันเป็นรูปของรอยยิ้ม ผมเชื่อเหมือนที่เคยอ่านในหนังสือเล่มหนึ่งของคุณศิลา โคมฉายที่ว่า
 
“ระหว่างคราบน้ำตา มีรอยยิ้ม”
 
เสร็จแล้วผมสวมหน้ากากกลับตามเดิม แล้วตระเวนเดินไปเก็บข้อมูลตามจุดต่างๆ ของวัด ทุกคนยังทำงานตามหน้าที่ของตัวเอง แต่คราวนี้พวกเขาหลายคนส่งยิ้มให้ผม และยิ้มให้แก่กัน บางคนหยิบปากกามาวาดรูปรอยยิ้มเหมือนที่ผมทำ บรรยากาศที่แสนจะร้อนอบอ้าวดูเหมือนจะเย็นสดชื่นขึ้นมาบ้าง
 
*** วันสิ้นปี 
 
เราตะลอนทำข่าวในวัดย่านยาวตั้งแต่เที่ยงจนเย็น พบบุคคลสำคัญระดับประเทศมากหน้าหลายตาสับเปลี่ยนกันเดินทางมาตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ภายในวัด ทุกครั้งที่บุคคลสำคัญพร้อมคณะเดินทางเข้าไป การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เกือบทุกฝ่ายจะต้องหยุดชะงักไปไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง เวลา 1 ชั่วโมงที่เสียไป หมดไปกับการต้อนรับและรายงานข้อมูลต่างๆ ให้บุคคลสำคัญทราบ
 
สำหรับผู้ปฏิบัติงานแล้วเวลา 1 ชั่วโมงอาจนำไปใช้ประโยชน์ทำให้งานเดินหน้าไปได้มากกว่าการบรรยายสรุปข้อมูลในกระดาษ แต่กระนั้นก็ไม่มีใครกล้าปฏิเสธหรือทำอะไรที่ผิดแผกไปจากนี้
 
กว่าที่เราจะเดินทางออกจากวัดย่านยาวเพื่อกลับภูเก็ต ดวงตะวันก็คล้อยต่ำลงทุกที สปอร์ตไลท์หลายดวงภายในวัดถูกเปิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ ช่วงเวลานี้ในภาษาปักษ์ใต้เรียกว่ามุ้งมิ้ง ตรงกับช่วงโพล้เพล้หรือย่ำค่ำในภาษากรุงเทพฯ ผมเคยได้ยินมาว่าเวลานี้ถือเป็นช่วงสำคัญของวัน เพราะเป็นช่วงรอยต่อระหว่างกลางวันและกลางคืน เป็นนาทีสุดท้ายของตะวัน และเริ่มนาทีแรกของจันทรา เวลานี้ประตูของทั้ง 3 โลกคือโลกมนุษย์ โลกเทวดา และโลกแห่งภูตผี จะถูกเปิดออก ใครที่ดวงจิตไม่แข็งแรงพออาจเห็นสิ่งที่คนอื่นๆ ไม่มีโอกาสได้เห็น คืออาจเห็นผี หรือเห็นเทวดา แล้วแต่เวรแต่กรรม 
 
แสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ที่เรียกกันว่าผีตากผ้าอ้อม โบราณว่าห้ามนอนหลับในช่วงนี้ เพราะอาจถูกผีชวนไปอยู่ยมโลก ผมจำได้ว่าตั้งแต่เกิดมาเคยนอนหลับในเวลาแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง แม้ไม่ถูกผีพาไปอยู่ยมโลกด้วย แต่พอตื่นขึ้นมามักจะรู้สึกเพลีย อารมณ์บูดบึ้ง กระหายน้ำ และหิวข้าว ทั้งๆ ที่บางครั้งก่อนหลับเพิ่งจะกินข้าวเข้าไปจนอิ่มท้อง เป็นแบบนี้แทบจะทุกครั้งที่เผลอหลับไปในช่วงโพล้เพล้ หากไม่ได้เล่นกีฬาก็จะต้องหาอย่างอื่นทำเพื่อไม่ให้นอนหลับในช่วงนี้ 
 
ก่อนที่รถจะเคลื่อนออกจากหน้าวัด ผมกวาดสายตาเข้าไปในวัดอีกครั้ง เห็นซากศพบางส่วนที่เจ้าหน้าที่นำออกมาเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอนอนเรียงกันอยู่เป็นเงาตะคุ่มๆ ผมรำพึงในใจขอให้ดวงวิญาณของเขามีแต่ความสุข อย่าได้มาเบียดเบียนกันและกันเลย
 
รถค่อยๆ เคลื่อนออกจากวัดย่านยาวไปอย่างช้าๆ ไม่เร่งรีบ เป็นอันว่าจนแล้วจนรอดผมก็ยังไม่ได้เข้าไปยังบ้านน้ำเค็มเพื่อทำสกู๊ปตามที่ตั้งใจไว้ แต่สิ่งที่ได้พบเห็นในวันนี้ก็มีประโยชน์ไม่น้อยสำหรับนักข่าวหน้าใหม่อย่างผมที่ต้องการประสบการณ์อีกมากในการเป็นนักข่าวที่ดีในอนาคต
 
รถของเราผ่านวัดลำแก่น ที่วัดนี้ยังมีโลงศพและยางรถยนต์ใช้แล้ววางกองอยู่เป็นจำนวนมาก วันที่ 2 หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ ศพหลายศพที่อยู่ในสภาพขึ้นอืดเพราะไม่มีห้องเย็นไว้แช่ ต้องถูกเผาแบบตามีตามเกิดด้วยยางรถยนต์เป็นภาพที่น่าอนาถใจสำหรับผู้พบเห็นยิ่งนัก
 
กลับไปถึงสำนักงานเกือบ 2 ทุ่ม บก.ให้เขียนรายงานข่าวที่วัดย่านยาว พอเริ่มเขียนวันที่จึงได้รู้ว่า นี่มันเป็นวันที่ 31 ธันวาคม วันสิ้นปีแล้ว วันสิ้นปีที่ควรจะคึกคักกับการเฉลิมฉลอง แต่วันสิ้นปีของปี 2547 หลังเกิดเหตุมหันตภัยสึนามิเพียง 4 วัน มันช่างหดหู่เสียนี่กระไร
 
*** หายนะที่น้ำเค็ม 
 
เข็มนาฬิกากระชากเวลา เปลี่ยนปีเก่าเป็นปีใหม่อย่างเงียบๆ ผมตื่นเช้าขึ้นมารับแสงแรกของเดือนมกราคม ปี 2548 บรรยากาศฉลองส่งท้ายปีเก่ายังอบอวลอยู่ทั่วไป หน้าบ้านเพื่อนบ้านมีขวดเครื่องดื่มกองอยู่กลาดเกลื่อน สุนัขหลายตัวอิ่มแปล้กับเศษกับแกล้มที่เหลือทิ้ง 
 
ปีใหม่ 2548 ต่างกับปีก่อนๆ เพราะความโศกเศร้าจากเหตุการณ์สึนามิ ยังไม่คลายจางไป ผู้คนแต่งกายด้วยชุดดำเพื่อไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต เดินไปไหนมาไหนเหมือนอยู่ในงานศพ
 
พื้นที่ข่าวของเรายังคงอยู่ที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ผมตั้งใจจะไปเก็บข้อมูลที่บ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง เพื่อเขียนสกู๊ปให้เสร็จ เมื่อไปถึงสำนักงานข่าวปรากฏว่าทีมงานรออยู่พร้อมแล้ว คราวนี้เราจะไปกันสามคน มีผมเป็นผู้สื่อข่าว พี่สันต์เป็นช่างภาพ ส่วนป่าเสริฐ ทำหน้าที่ขับรถเช่นเคย
 
 เราใช้เส้นทางเดิมในการเดินทางไปบ้านน้ำเค็ม แม้จะชอบความเป็นธรรมชาติของเส้นทางสายนี้ แต่ภาพของต้นหญ้าสีน้ำตาลไหม้ไร้ชีวิตชีวา ก็ไม่ได้ทำให้การเดินทางรื่นรมย์เหมือนที่ผ่านมา
 
ป๋าเสริฐ บังคับรถเลี้ยวซ้ายตรงป้อมตำรวจ สภ.ต.บางม่วง เข้าไปได้สักระยะมีเจ้าหน้าที่ อป.พร.ตั้งป้อมตรวจตราการเดินทางเข้า - ออก เราแจ้งความจำนงและแสดงบัตรผู้สื่อข่าวจึงสามารถเข้าไปในหมู่บ้านได้โดยสะดวก 
 
รถยนต์แล่นขึ้นเนินเตี้ยๆ อย่างช้าๆ ภาพหมู่บ้านน้ำเค็มซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบต่ำ ติดกับทะเลค่อยๆ เผยโฉมหน้าให้เห็นอย่างช้าๆ เมื่อรถขึ้นไปอยู่บนจุดสูงสุดของเนิน ผมถึงกับตะลึงกับภาพที่ปรากฏ
 
หมู่บ้านน้ำเค็มมีลักษณะคล้ายกับชุมชนแออัดเพราะมีบ้านเรือนนับพันหลังกระจุกตัวอยู่เต็มพื้นที่ จะต่างกันก็เพียงบ้านหลายหลังก่อสร้างด้วยวัสดุอย่างดี ภาพเบื้องแรกที่เห็น มองจากซ้ายไปขวา แทบทุกตารางเมตรมีแต่ความเสียหายยับเยิน เรือประมงหลายลำถูกคลื่นหอบขึ้นมาเกยตื้นอยู่บนบก เรือใหญ่ลำหนึ่งจอดแน่นิ่งอยู่หลังบ้านหลังเล็กๆ หัวเรือจ่อติดกับหลังคาบ้านพอดี หากคลื่นไม่หยุดความแรงลงเสียก่อนเห็นทีบ้านหลังนั้นคงพังพินาศไม่เหลือซาก
 
ภาพที่เห็นทำให้ผมนึกไปถึงฉากของภาพยนตร์สงครามหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง Enemy at the gates หรือชื่อไทยว่า “กระสุนสังหารพลิกโลก” จากผู้กำกับและผู้สร้าง Jean - Jacques Annaud ในฉากที่วาซิลี่ ตัวเอกของเรื่องยืนมองเมืองสตาลินกราด ซึ่งพินาศย่อยยับจากการสู้รบ แม้บ้านน้ำเค็มจะไม่ใหญ่โตอย่างสตาลินกราด แต่ภัยจากสึนามิที่พัดถล่มที่นี่ก็มีพิษร้ายและทำความเสียหายได้ไม่แพ้สงคราม
 
รถของเราเคลื่อนมุ่งหน้าเข้าไปในหมู่บ้าน ความโกลาหลวุ่นวายยังไม่จางหายไป เจ้าหน้าที่หลายร้อยนายทั้งมูลนิธิกู้ภัยและอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนช่วยกันค้นหาศพผู้เสียชีวิตอย่างขะมักเขม้น ขณะที่รถแบ็คโฮลด์หลายคันเร่งรื้อซากปรักหักพังของบ้านเรือน คันที่มีมือตักยาวคอยจ้วงลงไปในขุมเหมืองลึก ทุกครั้งที่มือยักษ์ยกขึ้นมาหลายคนชะเง้อมองว่าจะมีซากศพติดขึ้นมาด้วยหรือไม่ ใกล้กันมีเจ้าหน้าที่เก็บศพเตรียมพร้อมอยู่แล้ว 
 
บนพื้นดินมีกรอบรูปของหญิงสาวคนหนึ่งในชุดครุยสีดำ นัยน์ตาเธอเศร้า ใครบางคนคงช่วยหยิบมันให้วางอยู่ในสภาพที่เรียบร้อยกว่าตอนที่มาพบ คราบดินที่เปื้อนกระจกถูกเช็ดออกจนสะอาด ชาวบ้านกระซิบเบาๆ ว่าเธอถูกคลื่นซัดจมหายไปในขุมเหมืองเพิ่งพบศพเมื่อวันก่อน ผมเพ่งมองดวงตาเธอ แล้วภาวนาขอให้วิญาณของเธอจงไปสู่โลกอื่นที่สงบกว่าโลกใบนี้
 
แฟ้มภาพ
 
*** ชะตาชีวิตบนความล่มสลายซ้ำซาก 
 
ที่บ้านน้ำเค็มผมพบว่ามีชาวบ้านจากพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปากพนัง โดยเฉพาะจากอำเภอปากพนัง เชียรใหญ่ หัวไทร และชะอวด จำนวนหลายครัวเรือนอพยพมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ พวกเขาบอกว่าคนในหมู่บ้านเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ล้วนอพยพมาจากถิ่นอื่นทั้ง จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ แต่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของคนในหมู่บ้านมาจาก จ.นครศรีธรรมราช
 
ผมได้พบกับพี่จำเนียร และภรรยาของแก ทั้งสองคนนั่งอยู่หน้าเต็นท์ซึ่งเจ้าหน้าที่จัดไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวหลังจากที่บ้านถูกคลื่นสึนามิซัดจนพังราบเหลือเพียงผืนดินว่างเปล่า ข้าวของเครื่องใช้และทรัพย์สินที่หามาได้สูญหายไปกับน้ำทั้งหมด
 
พี่จำเนียรอายุเกือบ 60 ปีแล้วแต่ร่างกายยังกำยำ นัยน์ตาเด็ดเดี่ยวเหมือนผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน แกเล่าว่าเป็นชาว อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2505 เกิดเหตุการณ์มหาวาตภัยขึ้นที่แหลมตะลุมพุก บ้านแกถูกพายุพัดจนเสียหายทั้งหลัง เรือกสวนไร่นาก็จมน้ำหมด หลังเหตุการณ์นั้นแกตัดสินใจอพยพพาครอบครัวไปตายเอาดาบหน้า เป้าหมายอยู่ที่นิคมสร้างตนเอง อ.บันนังสตา จ.ยะลา
 
“ไปรับจ้างกรีดยางอยู่พักหนึ่ง มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวไปได้วันๆ ไม่ถือว่าดีกว่าเดิมมากนัก จนญาติคนหนึ่งชวนมาอยู่ที่บ้านน้ำเค็มนี้แหละ”
 
ช่วงประมาณปี 2524 ญาติของพี่จำเนียร เคยมาเป็นลูกจ้างหาบแร่เช่นเดียวกับผู้คนจากทั่วทุกสารทิศในพื้นที่ภาคใต้ที่เดินทางไปแสวงโชคจากเหมืองแร่บ้านน้ำเค็ม จนกระทั่งแร่เริ่มหมดไปจากเหมือง แรงงานได้ทิ้งบ้านน้ำเค็มไปหากินต่อยังถิ่นอื่น ขณะที่คนอีกจำนวนมาก ตัดสินใจตั้งรกรากลงที่นี่ โดยยึดอาชีพทำประมงซึ่งยังคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
 
“ญาติบอกว่ายังพอมีที่ว่างให้จับจองได้ เขารับปากว่าจะหาเรือกับเครื่องมือหาปลาและสอนจับปลาทะเลให้ เราก็เลยตัดสินใจอพยพกันอีกรอบ” พี่จำเนียร เล่า
 
อาชีพหาปลาของพี่จำเนียร ดำเนินไปอย่างราบรื่น แกจับจองที่ดินแล้วสร้างบ้านหลังเล็กๆ ริมทะเล หลังจากย้ายมาอยู่บ้านน้ำเค็มได้ไม่นาน ภรรยาของแกก็ให้กำเนิดลูกสาวสองคนที่มีอายุห่างกันเพียงสองปี ชีวิตดำเนินต่อมาจนกระทั่งถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่เงื้อมมือของธรรมชาติได้ยื่นเข้ามาพลิกชีวิตแกอีกครั้ง
 
“วันนั้นผมกับเมียไปออกหาปลากันตั้งแต่หัวรุ่ง ลูกสาวสองคนอยู่บ้านเพราะเขามีงานต้องทำ คนโตทำที่โรงแรม ส่วนคนเล็กทำที่รีสอร์ทที่หาดเขาหลัก วันนั้นคนโตออกไปทำงานแล้ว แต่คนเล็กยังนอนอยู่ในบ้าน” พี่จำเนียร บ้วนน้ำหมากในปากทิ้ง แล้วเล่าต่อ
 
“อยู่ในทะเลไม่รู้หรอกว่าคลื่นสึนามิมันเป็นยังไง เพราะมันอยู่ใต้เรือ ตอนมาลูกแรกมันผ่านเรือไป ขึ้นไปบนฝั่ง ผมคิดว่าไม่มีอะไร แต่คลื่นมันไม่หยุดมันขึ้นไปท่วมถึงหมู่บ้าน ตอนนั้นเห็นบ้านหลายหลังถูกน้ำพัดพังลง ผมมองเห็นหลังคาบ้าน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ คลื่นมันพัดพังทั้งหลังเหมือนกัน เป็นห่วงลูกสาวคนเล็กมาก แต่ก็ต้องหันหัวเอาเรือออกทะเลลึกเพราะไม่อย่างนั้นเรือมันก็จะจม ตอนนี้ลูกสาวผมทั้งสองคน ยังหาศพไม่พบเลย” 
 
ผู้เป็นเมียนั่งก้มหน้าสะอื้น พี่จำเนียรสูดหายใจลึกแล้วบ้วนน้ำหมากในปากทิ้งอีกครั้ง ผมชำเลืองมอง สีของมันแดงเหมือนเลือด!!!
 
เลือดที่ไหลออกมาจากบาดแผลที่แส้แห่งชะตากรรมโบยตีจนชีวิตต้องได้รับความเจ็บปวด ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า!!!
 
*** ใครงาบงบซูเปอร์คอมพ์ ???
 
รุ่งเช้าของอีกวันหนึ่ง เรามีแผนจะเดินทางไปถ่ายภาพสุสานไม้ขาว อ.ถลาง ซึ่งเป็นสุสานของชาวเล หรือชาวไทยใหม่ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของในภูเก็ต ชาวไทยใหม่ส่วนใหญ่ทำอาชีพประมง อาศัยอยู่ริมชายฝั่ง หรือตามเกาะแก่งต่างๆ ในฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่ จ.ระนอง ลงไปจนถึง จ.สตูล
 
ชาวเลบางกลุ่มนับถือพุทธ แต่ยังคงฝังศพคนตายตามประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคน บางกลุ่มนับถือผีหรือวิญญาณของบรรพบุรุษ แต่หลังเหตุการณ์สึนามิ มีมิชชันนารีชาวตะวันตกมาให้ความช่วยเหลือและชักชวนชาวเลจำนวนมากให้เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ 
 
ด้วยสัญชาติญาณการเอาตัวรอดจากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ชาวเลได้สร้างความอัศจรรย์ใจให้ได้เห็นเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์สึนามิ ตอนที่น้ำทะเลแห้งลงภายในพริบตาเดียว พวกเขารีบอพยพลูกหลานขึ้นไปอยู่บนเนินเขาสูงทันที อันเป็นคำสั่งสอนจากบรรพบุรุษที่สืบต่อกันมาว่า
 
“เมื่อใดก็ตามที่น้ำทะเลเหือดแห้งลง เจ้าจงหนีขึ้นเขา เพราะน้ำทะเลจะมาเอาชีวิตคน”
 
ด้วยความเชื่อนี้ทำให้ชาวเลจำนวนมากรอดชีวิตจากคลื่นยักษ์ทั้งๆ ที่อาศัยอยู่ริมทะเล และยังช่วยคนเมืองอีกหลายคนให้รอดชีวิตด้วย
 
เราไม่เคยรู้จักว่าสุสานไม้ขาวอยู่ตรงจุดไหนของตำบลไม้ขาว ใช้วิธีถามชาวบ้านไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็หลงทางไปออกชายทะเล แต่ที่นั่นเราได้พบกับคณะของบุคคลสำคัญคนหนึ่งโดยบังเอิญ พวกเขาเดินทางมาด้วยรถตู้เพื่อตรวจดูความเสียหายของหาดไม้ขาว ซึ่งไม่มีนักข่าวในพื้นที่ติดตามมาทำข่าวเลย
 
“เข้าทางตีนเราอีกแล้วโว้ย” ป๋าเสริฐ พูดแล้วหัวเราะ
 
นั่นหมายถึงข่าวที่เราจะได้จากแหล่งงข่าวคนนี้เป็นข่าวเดี่ยว เพราะนักข่าวคนอื่นไม่มีใครรู้หมายข่าวนี้ จึงไม่ได้ตามมาทำข่าว ผมเพิ่งรู้ว่าการได้สัมภาษณ์เดี่ยวๆ เป็นความภาคภูมิใจและสะใจอย่างหนึ่งของคนทำข่าว ก็ขนาดป๋าเสริฐที่ทำข่าวมาทั้งชีวิตยังตื่นเต้น นักข่าวหน้าใหม่อย่างผมจะไม่ตื่นเต้นไปด้วยได้อย่างไร
 
รถตู้จอดอยู่ริมหาด เรานำรถเข้าไปจอดใกล้ๆ คนขับรถรีบเดินมาเปิดประตูให้บุคคลสำคัญคนนั้น เมื่อประตูเปิดออกนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เดินยิ้มลงมาจากรถ เป็นครั้งแรกที่ผมได้พบอดีตนายกฯ ชวน ตัวจริงเสียงจริง จึงเข้าไปแนะนำตัวและเอ่ยปากขอสัมภาษณ์ เนื่องจากหลังเหตุการณ์สึนามินายชวนได้ถูกพาดพิงเรื่องงบประมาณในการจัดซื้อซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่ใช้ในการเตือนภัยพิบัติ ในสมัยที่ยังเป็นหัวหน้ารัฐบาล คำถามเรื่องซุปเปอร์คอมพ์ จึงเข้ากระแสมากที่สุด
 
“ท่านถูกพาดพิงว่าไม่อนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อซูเปอร์คอมพ์ เรื่องนี้จริงหรือไม่ครับ” ผมถามเป็นภาษาใต้ ซึ่งนายชวนก็ตอบเป็นภาษาใต้เช่นกัน
 
“สมัยนั้นผมอนุมัติไป 4 พันล้าน แต่มันเอาไปกินกันหมดแล้ว” นายชวน ตอบ
 
“คนที่ท่านพูดถึงนี่เป็นใครเหรอครับ” ผมซักต่อ
 
“ก็พวกข้าราชการนั่นแหละ” นายชวนตอบและขยายความให้เข้าใจ
 
เป็นอันว่าการหลงทางในวันนั้นทำให้เราได้ประเด็นข่าวดีๆ มาอีก 1 เรื่อง
 
“ชวน กรีดข้าราชการงาบงบซูเปอร์คอมพ์” คือพาดหัวข่าวที่เราส่งไปสำนักพิมพ์
 
ทุกวันนี้ผมยังเก็บเทปสัมภาษณ์ม้วนนี้เอาไว้ แต่ที่ยังสงสัยและไม่มีโอกาสได้ติดตามต่อก็คือ ข้าราชการคนไหน ที่งาบงบซูเปอร์คอมพ์???
 
*** สู่ทะเลตะวันออก 
 
ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผมติดตามทำข่าวเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ ตั้งแต่เกิดเหตุวันแรกจนถึงแผนการเร่งฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวและชุมชนต่างๆ ใน 6 จังหวัดอันดามันที่ได้รับผลกระทบให้กลับคืนสู่ความปกติให้มากที่สุด ซึ่งในส่วนนี้ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนหลายๆ แห่งทั้งในและต่างประเทศต่างลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านหลายโครงการ อาทิ การให้ทุนซ่อมแซมบ้านเรือน และเครื่องมือการทำมาหากินของชาวประมง  
 
หลังเหตุการณ์สึนามิผ่านไป เราพบว่าได้เกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินขึ้นในหลายชุมชนโดยเฉพาะพื้นที่ริมชายหาดหลายพื้นที่ได้ถูกนายทุนเข้าไปปักป้ายห้ามชาวบ้าน และบุคคลภายนอกเหยียบย่างเข้าไป ทั้งๆ ที่บางพื้นที่ชาวบ้านตั้งรกรากอยู่อาศัยมานานนับชั่วอายุคน ซึ่งประเด็นนี้หลายพื้นที่ยังคงต่อสู้กันมาจนถึงปัจจุบัน
 
ในขณะที่การป้องกันภัยสึนามิที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ได้มีการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไว้คอยประมวลเหตุการณ์ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในมหาสมุทร ระบบจะทำการประเมินผลความรุนแรง เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจออกประกาศเตือนภัยสึนามิ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีการซักซ้อมกันอยู่เป็นระยะ โดยจะมีการจำลองเหตุการณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งทางบกและทางอากาศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการยืนยันว่าระบบเตือนภัยอยู่ในระดับที่พร้อม สร้างความอุ่นใจให้ชาวบ้านได้ในระดับหนึ่ง
 
ในขณะที่ประชาชนเองก็มีความตื่นตัวในการสังเกตความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติมากขึ้น เชื่อได้ว่าจากนี้เป็นต้นไป เมื่อเกิดแผ่นดินไหวและน้ำทะเลเหือดแห้งลงภายในพริบตาเหมือนที่เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 อีก ทุกคนคงรู้เท่าทันและพร้อมอพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที แม้นอาจไม่สามารถรักษาทรัพย์สินไว้ได้ทั้งหมด แต่ก็อาจรักษาชีวิตไว้ได้ ประสบการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยจะถูกบอกเล่าต่อๆ กันไปไม่มีที่สิ้นสุด และจะฝังลึกกลายเป็นสัญชาติญาณการเอาตัวรอดที่คนในสังคมเมืองจะรับรู้อย่างเท่าเทียมกัน เหมือนกับที่ชาวเล หรือชาวไทยใหม่ได้สืบทอดคำเตือนและสัญชาติญาณนี้จากบรรพบุรุษมาอย่างยาวนาน
 
ผมสำรวจภายในห้องเช่า เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ลืมอะไรไว้อีก นอกจากความทรงจำดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 3 เดือนเศษที่มาทำงานเป็นผู้สื่อข่าวอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ภารกิจเสร็จสิ้นลงแล้ว ต่อจากนี้ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการที่ภูเก็ต จะทำหน้าที่ติดตามข่าวการฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิต่อไป
 
...รถยนต์แล่นข้ามสะพานท้าวเทพกระษัตรีเข้าสู่ฝั่งท่านุ่น จ.พังงา ทิ้งเกาะภูเก็ตไว้เบื้องหลัง ผมหันกลับไปเพื่อมองฝั่งภูเก็ตให้เต็มตาอีกครั้ง รู้สึกใจหายวาบ นอกจากงานแล้วยังมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้รู้สึกผูกพัน ไม่นานคงได้กลับไปอีก รถยนต์ของเรามุ่งหน้าไปทางฝั่งทะเลตะวันออก สู่ภาคใต้ตอนล่าง “สนามข่าวสีแดง” รอเราอยู่เบื้องหน้า
 
“เช้าวันนี้ที่ จ.ยะลา เกิดเหตุกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบลอบวางระเบิดทหารชุดคุ้มครองครู ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายนาย”
 
แว่วเสียงหัวข้อข่าวจากวิทยุลอยมาเข้าหู ผมหลับตาแล้วเข้าสู่ภวังค์!
 
-----------------------------------------------

 
อ่านตอนที่ 1 : บันทึก “ภาพแรกสึนามิ” (ตอนที่ 1) / ณขจร จันทวงศ์
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น