xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นไทยแพงไปหรือยัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดหุ้นไทยยังไม่แพงถ้ามองข้ามไปปี 2558

ถึงแม้ราคาหุ้นไทยที่ฟื้นตัวเร็วหลังการรัฐประหารจะทำให้ตลาดโดยรวมมีมูลค่าที่ไม่ได้ถูกมากนัก แต่นักลงทุนจะเริ่มมองข้ามไปยังปี 2558 ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดี และการเติบโตของกำไรผลประกอบการจะเร่งตัวมากขึ้น โดย P/E ของตลาดหุ้นไทยปี 58 ขณะนี้อยู่ที่ 12-13 เท่า ยังไม่รวมถึงโอกาสที่ตลาดจะปรับเพิ่มคาดการณ์ผลประกอบการในปีหน้าขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้หุ้นยังมี upside ได้ และหุ้นน่าจะทยอยปรับขึ้นเมื่อมีความคืบหน้าที่เพิ่มขึ้นทีละด้าน

ที่สำคัญ **การดู P/E รวมของตลาดก็ไม่ได้สะท้อนว่าหุ้นไทยถูกหรือแพงไปทั้งหมด ขึ้นอยู่กับแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมด้วย บางธุรกิจที่ราคาขึ้นมาเร็วเพราะความคาดหวังมากเกินไปอาจจะไม่เหมาะสมที่จะลงทุน ในขณะที่บางธุรกิจแม้ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นมาแต่ยังมีมูลค่าที่ไม่แพง** เช่น กลุ่มอสังหาฯ หรือกลุ่มเช่าซื้อ ส่วนบางธุรกิจตลาดก็ยังไม่ได้ปรับประมาณการฟื้นตัวของผลประกอบการอย่างเต็มที่ เช่น กลุ่มท่องเที่ยว ขนส่ง หรือค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งจะเป็นโอกาสในการลงทุนได้

**Investment outlook**
สำหรับช่วงครึ่งปีหลัง 2557 เราเชื่อว่าหุ้นไทยจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น แต่อาจจะไม่ได้ขึ้นมากเหมือนกับช่วงครึ่งปีแรก ด้วยราคาหุ้นที่ขึ้นมาจนใกล้มูลค่าพื้นฐานของปี 2557 จึงต้องใช้เวลาสักระยะที่ตลาดจะรอรับข่าวสารและทยอยปรับการคาดการณ์ไปยังปี 2558 แต่ด้วยปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่ลดลงไปมากในช่วงที่รอการปฏิรูปเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ และความเสี่ยงจากต่างประเทศยังไม่ได้มีมาก น่าจะทำให้โอกาสที่ตลาดจะปรับตัวลดลงแรงมีไม่มาก ตลาดจึงน่าจะเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways up โดยความคืบหน้าทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจไทยจะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเรื่อยๆ กองทุนบัวหลวงจึงมองว่า ถ้าหากมีประเด็นความกังวลใหม่ๆ ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทำให้ตลาดปรับฐานขึ้นจะเป็นโอกาสที่ดีในการซื้อหุ้นเพิ่ม เพราะในที่สุดตลาดหุ้นก็มองไปยังพื้นฐานในอนาคตระยะยาว โดยลืมเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความกังวลไป เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาเสมอ

จากการขายต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติลดลงเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ที่ประมาณ 32.3% (ช่วงเดือน พ.ค. 57) และนักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นไทยออกมามากกว่า 33,000 ล้านบาทในช่วงปลายเดือน พ.ค. ตั้งแต่มีการประกาศกฎอัยการศึกและการทำรัฐประหาร แต่ในเดือน มิ.ย. แรงขายได้ลดลงไปมากเหลือเพียง 645 ล้านบาทเท่านั้น และยังเข้าซื้อหุ้นในช่วงปลายเดือนด้วย จึงเชื่อว่า **ความเสี่ยงจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติคงมีไม่มาก นักลงทุนกลุ่มที่ไม่เชื่อมั่นกับการรัฐประหารน่าจะขายหุ้นออกไปแล้ว และมีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติที่มองการลงทุนระยะยาวจะกลับมาซื้อหุ้นไทยได้อีก**

การลงทุนระยะยาวของกองทุนบัวหลวง ยังคงให้ความสำคัญต่อการคัดเลือกหุ้นจากพื้นฐานรายบริษัท มากกว่าการคาดการณ์ทิศทางตลาดหุ้น** คำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของธุรกิจ โดยจะเน้นบริษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม เพราะการเป็นผู้นำในธุรกิจนั้นเป็นตัวสะท้อนถึงความสามารถของผู้บริหารได้ และต้องเป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่องในอนาคตด้วย** จะเห็นว่าในช่วงที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้วจนถึงครึ่งปีแรกของปี แต่ผลประกอบการของบางบริษัทยังสามารถขยายตัวได้ เช่น บริษัทกลุ่มประกันชีวิต หรือค้าปลีก ส่วนบางบริษัทแม้จะมีผลประกอบการชะลอตัวใน Q1/57 จากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจแต่ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงการที่ผู้บริหารยังมั่นใจแนวโน้มระยะยาวของกิจการ ซึ่งเป็นลักษณะของบริษัทที่กองทุนบัวหลวงเชื่อว่าเป็นปัจจัยสะท้อนถึงศักยภาพของธุรกิจในอนาคตที่ดี

Theme การลงทุนระยะยาวของกองทุนบัวหลวงนั้นยังคงไม่ได้เปลี่ยนแปลง ตามที่ได้เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้
แนวโน้มของธุรกิจที่จะลงทุนจะเน้นให้สอดคล้องไปกับแนวโน้มหลักที่กำลังเกิดขึ้น (Mega-trend) เช่น

1. สัดส่วนประชากรชนชั้นกลางในอาเซียนกำลังเพิ่มขึ้น (Growing Middle Class) - เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของโครงสร้างประชากรวัยทำงาน และแรงงานยังมีราคาถูก และการศึกษาที่ดีขึ้น จะดึงดูดการลงทุนจ้างงานของบริษัทต่างชาติ และทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามมา

2. การพัฒนาสู่สังคมเมือง (Urbanization) - รายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้เกิดความต้องการสินค้าหลายประเภทตามมา โดยเฉพาะภาคบริการ เช่น ร้านค้าปลีกรูปแบบต่างๆ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและขนส่ง บริการด้านเทคโนโลยี บริการด้านสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์การเงิน เป็นต้น

3. ตำแหน่งของประเทศไทย (Strategic Location) - ที่ติดต่อกับประเทศพม่า กัมพูชา ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวระดับสูงทำให้ได้อานิสงส์ไปด้วย ทั้งด้านการขายสินค้าและบริการ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกัน

4. ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เพราะคนยุค Baby Boomer กำลังอายุย่างเข้า 60 ปี และจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม Healthcare

5. การที่ภาครัฐส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

ที่มา บัวหลวง Money Tips พิชา เลียงเจริญสิทธิ์


กำลังโหลดความคิดเห็น