xs
xsm
sm
md
lg

EU ใบเหลืองไทยปล่อยประมงเถื่อนล้างผลาญทะเล เตือนไม่ปรับปรุงกระทบส่งออก 4 แสนล้านแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย จี้รัฐบาลแสดงความจริงจังต่อการออกกฎหมายจัดการต่อเรือประมงผิดกฎหมาย หลังกรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย เพราะตรวจพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยเฉยชาต่อเรื่องนี้ เผยในร่าง พ.ร.บ.ที่รัฐบาลลุกลี้ลุกลนผลักดันหลังถูกตักเตือนไม่ได้ระบุถึงเรื่องนี้ชัดเจน ปลุกเรือประมงถูกกฎหมายร่วมผลักดัน เตือนมีสิทธิตายยกเข่ง สูญรายได้กว่า 4 แสนล้าน หากถูกใบแดง

นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยต่อ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2557 มีหนังสือบันทึกข้อความลับด่วนพิเศษจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ส่งไปยังปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล (DG-MARE) แสดงเจตจำนงในการให้ใบเหลืองประเทศไทยในการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ตามกฎเรื่องการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (Illegal Unreported and Unregulated fishing (IUU Fishing)

 
ทั้งนี้ ในเอกสารดังกล่าวซึ่งประทับตรา “ด่วนที่สุด” ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2557 กรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล (DG-MARE) ได้เรียกตัวแทนฝ่ายไทยเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย สรุปว่า

จากการส่งตัวแทนเข้าตรวจสอบการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมาย IUU ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2557 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ประเทศไทยไม่สามารถปรับปรุงควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิบัติได้ คือ นับตั้งแต่ปี 2554 กรมประมง ไม่มีความคืบหน้าในระดับนโยบายด้านการออกกฎหมายควบคุมเรือ

โดยระบุว่า EU ได้จับตามองประเทศไทยมาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว แต่ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถพัฒนาการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม

 
ในหนังสือดังกล่าวยังระบุด้วยว่า กรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล (DG-MARE) พบว่า เรือประมงที่ทำผิดกฎหมายในประเทศไทยเป็นเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลควรเข้มงวดให้มีการติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) ตามหลักสากล

นอกจากนี้ หนังสือดังกล่าวยังระบุถึงความบกพร่องอีกหลายด้านในการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมายซึ่งขาดประสิทธิภาพของรัฐบาลไทย โดยกรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล (DG-MARE) เคยแจ้งให้ทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังไม่มีการปรับปรุงใดๆ จึงได้ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย

ต่อมา วันที่ 28 ต.ค.2557 สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ได้ส่งหนังสือบรรทึกข้อความลับ ด่วนพิเศษ แจ้งไปยังปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีก 1 ฉบับ โดยระบุว่า การได้รับใบเหลืองดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสินค้าส่งออกด้านการประมงของประเทศไทย แต่ภายในระยะเวลา 6 เดือน หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นรูปธรรมต่อการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมาย กรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล (DG-MARE) จะให้ใบแดง และทำการระงับการสั่งซื้อสินค้าประมงจากประเทศไทยทันที เช่นเดียวกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับประเทศกัมพูชา กินี และศรีลังกา

นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า การทำการประมงของไทยมีปัญหาที่ถูกจับตาในระดับโลก 2 เรื่อง คือ ใช้แรงงานทาส และการทำการประมงแบบทำลายล้าง ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย เช่น เรือเถื่อน สวมทะเบียน ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ

“เขาเคยเตือนไทยมาในกรณีไม่ทำตามกฎ IUU FISHING อย่างจริงจังเลยให้ใบเหลือง หากให้ใบแดงเมื่อไหร่สินค้าประมงไทยทุกชนิดจะถูกห้ามนำเข้าอียู มูลค่า 4 แสนกว่าล้านเรื่องใหญ่

เมื่อรัฐบาลไทยถูกยื่นคำขาด และให้ใบเหลืองตามหนังสือลับ 3 ฉบับ ก็รีบตาเหลือกผลักดัน พ.ร.บ.ประมง แต่พบว่าเนื้อหาใน พ.ร.บ.ประมงที่รัฐบาลพยายามผลักดันไม่ได้ระบุถึงการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทะเลไทย และไม่ได้มีมาตรการจัดการต่อเครื่องมือทำลายล้างอย่างอวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟอยู่ใน พ.ร.บ.เลย”

 
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวและว่า สมาคมรักษ์ทะเลไทยติดตามเรื่องนี้มาหลายปี และได้เตือนรัฐบาล และเหล่านักธุรกิจประมงพาณิชย์ให้ทราบตลอดเวลา ทั้งทางสื่อสารมวลชน หนังสือพิมพ์ ทีวี หรือเฟชบุ๊ก และเคยทำงานร่วมกับองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำข้อเสนอขึ้นไปแต่ก็ไม่เคยได้รับความสนใจ

“เราก็เป็นห่วงพี่น้องประมงพาณิชย์ เช่น การทำธุรกิจประมงนอกน่านน้ำ ห้องเย็น ที่ทำการประมงอย่างถูกต้อง และเคารพกฎหมายซึ่งมีอยู่จำนวนมาก และเป็นผู้ทำรายได้เข้าประเทศปีละมากๆ จุดผิดพลาดคือ ประมงพาณิชย์เหล่านั้นไม่สนใจการทำร้ายทะเลไทยของพวกเดียวกันที่ทำการประมงแบบทำลายล้าง และใช้แรงงานทาส ถ้าอียูให้ใบแดงเมื่อไหร่พวกเขาก็จะตายไปด้วย

นายบรรจง เสนอว่า รัฐบาลจะต้องรีบทำทุกอย่างให้โปร่งใสตรงไปตรงมา การออก พ.ร.บ.ประมงต้องนำเอาปัญหาของทะเลไทยเป็นตัวตั้ง ว่าจะต้องมีมาตรการอย่างไรบ้างที่จะฟื้นฟูให้ทะเลไทยกลับมาเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของสังคมไทย หยุดการนำเอาทะเลไปสังเวยกลุ่มทุน หรือให้บริษัทปลาป่นใช้ทะเลเป็นแหล่งวัตถุดิบ

“ประมงพาณิชย์ที่ทำการประมงถูกกฎหมายก็ต้องประกาศแยกตัวออกมาตั้งเป็นองค์กรของตัวเองให้ชัดเจน ที่สากลสามารถตรวจสอบได้ทุกเวลา รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจเอาผลประโยชน์ของสังคมเป็นตัวตั้ง หากยังยอมให้ธุรกิจเอกชนชี้นำ วันนี้โลกมันแคบการสื่อสารเร็ว จะพากันตายกันทั้งเข่งแน่” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น